‘รับจ้างผลิต’ วิถีเติบโต ‘ทีวี ธันเดอร์’

‘รับจ้างผลิต’ วิถีเติบโต ‘ทีวี ธันเดอร์’

ไม่มีช่องเป็นของตัวเอง ใช่ว่าพื้นฐานจะไม่สวย ‘สมพงษ์-ภัทรภร วรรณภิญโญ’ เจ้าของ ‘ทีวี ธันเดอร์’ ยืนยันหนักแน่น ย้ำจากนี้จะเน้นรับจ้างผลิตรายก

ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อโฆษณา หากเป็นเช่นนั้น 'ฐานะการเงิน' ของหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บมจ.ทีวี ธันเดอร์ หรือ TVTของ 'สมพงษ์ วรรณภิญโญ' และ 'ภัทรภร วรรณภิญโญ'ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ อาจได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่? 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2555-2557) บริษัทมี 'กำไรสุทธิลดลง' จาก 61.49 ล้านบาท เป็น 56.30 ล้านบาท และ 34.13 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีรายได้จากการขายและบริการ 414 ล้านบาท 468 ล้านบาท และ 432 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่และความไม่สงบทางการเมือง

ทว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น หลัง 'กลุ่มวรรณภิญโญ' ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 66.39%(ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) เดินสายการันตีกับนักลงทุนรายย่อย 7 จังหวัด ที่เข้ามาร่วมฟังการนำเสนอข้อมูลของบริษัทว่า 'ที่ผ่านมาเราได้ปรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมารับจ้างผลิตรายการมากขึ้น เพราะงานลักษณะนี้จะมีกำไรดีกว่าเป็นเจ้าของรายการเอง'

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ 'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของนามแฝง 'โจ ลูกอีสาน' ที่บอกกับ 'บิสวีค' ว่า มีโอกาสได้เข้าไปฟังการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งความสวยของ 'ทีวี ธันเดอร์' น่าจะอยู่ตรงที่ตัวเจ้าของมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจมานานกว่า 40 ปี เรียกว่า 'เป็นเจ้าพ่อธุรกิจบันเทิงก็ว่าได้'

ที่สำคัญการที่บริษัทปรับโมเดลการทำธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมารับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์มากขึ้น รวมถึงซื้อลิขสิทธิ์รายการที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศมาออกอากาศในเมืองไทย จะทำให้บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะแตะระดับ 70 ล้านบาท ตามที่เหล่ากูรูคาดการณ์ไว้ ซึ่งการซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศ ถือเป็นไอเดียของลูกชายคนเล็กจากจำนวนพี่น้อง 2 คน 'ณฐกฤต วรรณภิญโญ'

'การที่บริษัทไม่มีช่องเป็นของตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการเป็นเจ้าของสถานีจะมีต้นทุนสูง แต่การหันมาผลิตรายการป้อนช่องทีวีดิจิทัล ถือเป็นเรื่องเด่นของบริษัท หากไม่ขายหุ้นไอพีโอแพงเกินไปหุ้นตัวนี้ถือว่าน่าสนใจ แต่ต้องเผื่อใจไว้กับเรื่องไม่คาดฝันด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นต้น '

บมจ.ทีวี ธันเดอร์ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ โดยมีรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาผลิตในระดับแนวหน้าของเมืองไทย ได้ขายหุ้นไอพีโอ 200 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2 บาท เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะนำเงินที่ได้จากการะดมทุนไปขยายการผลิตรายการโทรทัศน์ประมาณ 100 ล้านบาท และลงทุนในระบบการถ่ายทำประมาณ 30 ล้านบาท ที่เหลือ 250 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ    

'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' สอบถาม 'เสน่ห์' ของ 'หุ้น ทีวี ธันเดอร์' จาก 'สมพงษ์ วรรณภิญโญ' ประธานที่ปรึกษา และ 'ภัทรภร วรรณภิญโญ' (ภรรยา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะผู้ถือหุ้น 18.75% และ 23.69% ตามลำดับ ได้ความว่า

นักลงทุนหลายคนคงคิดว่า การไม่มีช่องทีวีเป็นของตัวเองจะทำให้ 'จุดเด่น' ของเราลดลง เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย วันนี้แม้เราไม่ได้เป็นเจ้าของสถานี แต่การที่เมืองไทยมีช่องทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น 24 ช่อง นั่นหมายความว่า เรามีทางทำเงินจากการผลิตรายการโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น แบบนี้เรียกว่า 'เด่น' หรือไม่ .. 

ฉะนั้นความเสี่ยงที่ว่า เราต้องพึ่งพิงการออกอากาศในสถานีโทรทัศน์บางสถานีย่อมไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราอีกต่อไป แม้วันนี้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลบางรายจะอยู่ระหว่างลองผิดลองถูก เพราะถือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เชื่อว่า ในระยะยาวทุกอย่างจะเริ่มนิ่ง และผู้ประกอบการจะเดินทางถึงจุดคุ้มทุน และมีกำไรในที่สุด

เมื่อก่อนยอมรับว่า บริษัทพึ่งพิงการออกอากาศรายการโทรทัศน์กับช่องฟรีทีวีบางช่องมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้เราก็มีความกังวลเหมือนกัน เพราะหากวันไหนเจ้าของสถานีไม่ให้บริษัทนำรายการไปออกอากาศคงแย่  แต่ปัจจุบันเกิดช่องทีวีดิจิทัลมากมาย เราก็หมดห่วงเรื่องนี้  เปรียบเหมือนวันนี้มีถนนเพิ่มมากขึ้น จาก 4 เลน เป็น 24 เลน แบบนี้รถคงวิ่งกันสบายขึ้น

'ธุรกิจทีวีดิจิทัล วันนี้เปรียบเหมือน 'ทางของคนกล้า' และ ทางของคนรวย' เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ณ วันนี้ อาจไม่เหมาะกับทางของเรา'

    'สองสามีภรรยา” เล่าต่อว่า เราเป็นบริษัทที่มีการทำงานเป็น “ทีมเวิร์ค” โดยจะไม่มีใครโดดเด่นกว่าใคร ที่สำคัญทีมงานของบริษัททุกคนล้วนแล้วมีทั้งประสบการณ์ และชื่อเสียงที่ดีในวงการโทรทัศน์ หากมองให้ลึกลงไปในเนื้อธุรกิจ เราได้กระจายความเสี่ยงออกไปในงานหลายประเภท ประกอบด้วย  

2.ธุรกิจบริการ ซึ่งรายได้จากทั้งสองธุรกิจ เกิดจากการผลิตรายการโทรทัศน์ และรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ ผ่านบริษัทย่อยชื่อ บริษัท ครีเอทิส มีเดีย จำกัด หรือ CMED รวมถึงรับจ้างจัดงานอีเว้นท์ และรายได้จากค่าโฆษณา โดยรายได้จากค่าโฆษณาในปี 2557 มาจาก 2 กลุ่มลูกค้า คือ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และบริการ (DirectCustomer) สัดส่วน 31.74% และบริษัทตัวแทนโฆษณา (Agency) สัดส่วน 68.26%

3.ธุรกิจบริหารศิลปิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทในเครือ 'อีเอ็ม เอ็นเตอร์เทนเม้นต์' หรือ EM โดยในปี 2557 บริษัทมีรายได้จากการบริหารศิลปิน 3.14 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 4.59 ล้านบาท 4.ธุรกิจจำหน่ายหนังสือ พ็อค เก็ตบุ๊ค อาทิ หนังสือกินรอบกรุง หนังสือก๋วยเตี๋ยวรอบกรุง และหนังสือซีฟู้ดรอบกรุง เป็นต้น

       'ทุกธุรกิจของเรายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ยิ่งเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ธุรกิจทีวีดิทัลยิ่งขยายตัว เมื่อเราเห็นเช่นนั้นจึงไม่รอช้าที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์'

'สองหุ้นใหญ่' ไม่ลืมที่จะเล่าถึงเป้าหมายการทำธุรกิจในอนาคตว่า วันนี้เราวางตัวเองเป็น “คอนเทนต์โพรไวเดอร์”(Content provider)เพราะเชื่อว่ โอกาสเติบโต หลังทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นเต็มตัวยังมีอีกมาก เขาย้ำ ฉะนั้นเราในฐานะผู้ผลิตรายการที่มีอายุกว่า 22 ปี และผมที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากกว่า 40 ปี ย่อมได้รับผลดีตามไปด้วย เห็นได้จากความสำเร็จในการผลิตรายการของเรา

            วิธีการ คือ เราจะเน้นรับจ้างผลิตรายการมากขึ้น เนื่องจากมีอัตรากำไรสุทธิที่ดีกว่าเป็นเจ้าของรายการเอง ซึ่งเราได้เริ่มเดินกลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยวางแผนไว้ว่า ภายในปี 2559 ต้องมีรายได้จากการรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น จาก 25% เป็น 40% ส่วนรายได้จากการผลิตและขายโฆษณาจะเปลี่ยนจาก 75% เหลือ 60%

เมื่อแผนงานเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องหาเงิน เพื่อมาสร้างสตูดิโอแห่งใหม่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 1 แห่ง จำนวน 2 สตูดิโอ โดยเราเตรียมจะสร้างเพิ่มเติมอีก 3 สตูดิโอ มูลค่าลงทุน 300 ล้านบาท คาดว่าสตูดิโอบนเนื้อที่ 8 ไร่ จะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.2559 และอาจถึงจุดคุ้มทุนในอีก 7 ปีข้างหน้า

             การมีสตูดิโอเป็นของตัวเองจะทำให้ต้นทุนของบริษัทลดลงมากกว่า 30% แถมยังสามารถปล่อยเช่าสตูดิโอให้ผู้ผลิตรายอื่นได้ด้วย และยังทำให้การทำงานมีความคล่องตัวสะดวกสบายมากขึ้น ที่สำคัญยังทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น แม้จะไม่ได้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดก็ตาม

            'เป้าหมายการขยายตัวของผลประกอบการบนสมุมติฐานที่ว่า มีรายการเพิ่มขึ้น คือ เติบโตประมาณ 15-20% ต่อปี ซึ่งรายการใหม่อาจต้องใช้เงินลงทุนใน'

             ปัจจุบันเราผู้ผลิตรายการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากปีก่อนที่มีเพียง 6 รายการ เป็น 14 รายการ แบ่งเป็นรับจ้างผลิตรายการ เช่น 1.ละแมร์  2.แต๋ง เจี๊ยบ ดี้ วาไรตี้ 3 ฝ่าย 3. สิงห์สนามหลวง 4. สะครซิทคอมแสนดีเดอะซีรี่ย์ และ 5. สารคดี Dawn of Gaia ก้าวใหม่โลกธุรกิจ

            ส่วนที่เหลือเป็นรายการที่บริษัทเป็นเจ้าของ เช่น 1.รายการมาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด คอนเทสโชว์ 2.ละครหลวงตามหาชน 3.ละครบ้านวุ่นอุ่นไอรัก 4.รายการแอทไนท์ วาไรตี้ 5. รายการ เทค มี เอาท์ (ไทยแลนด์) เป็นต้น

 'สมพงษ์' วิเคราะห์อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ให้ฟังว่า แม้เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ดี แต่สื่อทีวียังไม่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ เนื่องจากสื่อทีวีถือว่า มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้นเจ้าของสินค้าย่อมไม่อาจหยุดที่จะใช้เงินเพื่อโฆษณาได้ เพราะหากเขาอยู่นิ่งเฉยๆ ไม่มีการโฆษณายอดขายคงจะตก

ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นรายการดี มีคุณภาพ จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโฆษณา เพราะเจ้าของสินค้าก็อยากที่จะโฆษณาในรายการที่ดีและมีเรตติ้งสูง ซึ่งรายการของทีวี ธันเดอร์ ก็ถือเป็นรายการที่มีเรตติ้งอยู่ในระดับต้นๆ อาทิ รายการเทคมีเอาท์ ไทยแลนด์ ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ของเกมโชว์ และยังมีแฟนเพจติดตามมากกว่า 5 ล้านคน รายการมาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด และละครหลวงตามหาชน

เมื่อถามว่าคู่แข่งของ 'ทีวี ธันเดอร์' คือใคร? 'สมพงษ์' ตอบว่า 'ตัวเอง' เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันคู่แข่งของเราได้กลายเป็นพันธมิตรหมดแล้ว ลองคิดดูจาก 800 กว่ารายการ ในช่องฟรีทีวี 4 ช่อง (3,5,7,9) เมื่อมีช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 24 ช่อง เท่ากับว่า เมืองไทยจะมีรายการมากกว่า 3,000 รายการ ฉะนั้นหากเรามีคอนเทนต์ที่ดีไปซัพพอร์ตเจ้าของช่อง แน่นอนว่า เขาย่อมเลือกเรา

'คอนเทนต์ที่ดีของเรายังสามารถต่อยอดไปทำ 'ธุรกิจออนไลน์บนมือถือ' ได้ด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษา อาจเห็นเป็นรูปร่า งเมื่อโครงข่ายเน็ตเวิร์คกระจายตัวอย่างทั่วถึง'

เขา ทิ้งท้ายว่า ผลประกอบการในปีนี้อาจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังระบบทีวีดิจิทัลเริ่มครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่ากลางปีนี้จะครอบคลุมในระดับ 75% และปลายปีนี้จะเต็ม “ร้อยเปอร์เซ็นต์”ฉะนั้นเม็ดเงินในอุตสาหกรรมจะไหลเข้ามาตรงนี้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้งานรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เส้นทางชีวิต 'เจ้าพ่อธุรกิจบันเทิง'

            'สมพงษ์ วรรณภิญโญ' ในฐานะผู้ก่อตั้ง บมจ.ทีวี ธันเดอร์ เล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังว่า เริ่มต้นทำงานครั้งแรกบนเส้นทาง 'สื่อสารมวลชน' ด้วยการเป็น 'นักจัดรายการวิทยุ' สมัยนั้นเป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุและนักขายโฆษณา เรียกว่า ทำเองทุกอย่าง เพราะอาชีพในวันนั้น ทำให้วันนี้ผมกลายเป็นนักสะสมแผ่นเสียง ปัจจุบันมีมากกว่า 'หมื่นแผ่น'  

            จากนั้นก็ตัดสินใจมาทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน 3 คน ด้วยการลงทุนเปิด 'บริษัท เจ เอส แอล จำกัด' หรือ JSLปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เพื่อผลิตรายการให้สถานีโทรทัศน์สีกองทพบกช่อง 7 ทำได้ไม่นานก็ขอแยกตัวมา ด้วยการขายหุ้นออกทั้งหมด เพราะต้องการออกมาเติบโตในสายงานที่มีความถนัดมากว่านี้ 

ก่อนจะมาเปิดค่ายเพลง คีตา เรคคอร์ดส แต่เมื่อแผ่นผีซีดีเถื่อนระบาดหนักจำเป็นต้องขายกิจการต่อให้ 'แสงชัย อภิชาติวรพงษ์' และเปลี่ยนชื่อเป็น คีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ จากนั้นก็หันมาลงทุนเปิด บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นต์ หรือ WORK ร่วมกับ 'ปัญญา นิรันดร์กุล' และ 'ประภาส ชลศรานนท์' เพราะตั้งใจจะทำรายการโทรทัศน์ระดับคุณภาพ

ต่อจากนั้นก็ถอนตัว เพื่อออกมาเปิด บมจ.ทีวี ธันเดอร์ เริ่มต้นจากการผลิตรายการเพียง 2 รายการ นั่นคือ รายการ โอนลี่วัน ซันเดย์ และ มาสเตอร์คีย์ ถือเป็นรายการแจ้งเกิดของบริษัท หลังออกอากาศช่อง 3 มาได้เพียง 1 ปี

อย่างไรก็ดีก่อนรายการ เทค มี เอาท์ (ไทยแลนด์) จะติดตาผู้ชม เราก็เคยทำหลายรายการติดใจมาแล้ว เช่น รายการแดนซ์ ยัว แฟท ออฟ (Dance Your Fat Off) เต้นเปลี่ยนชีวิต และรายการไทยแลนด์ แดนซ์ นาว (Thailand Dance now) เป็นต้น