ซับน้ำตา...เนปาลี

ซับน้ำตา...เนปาลี

เมื่อเนปาลที่เป็นดั่งสรวงสวรรค์ของคนทั่วโลกประสบธรณีพิบัติภัย ท่ามกลางความสูญเสียมากมาย อีกด้านยังมีความช่วยเหลือหลั่งไหลไม่ขาดสาย

            ภายหลังแผ่นดินไหว 7.9 แมกนิจูดเขย่าแผ่นดินเนปาล ตามมาด้วยเสียงกรีดร้องและร่ำไห้ดังระงม ฉากหลังคือผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และซากปรักหักพังที่ไม่อาจประเมินค่าความเสียหายได้ เหตุการณ์ธรณีพิบัติครั้งนี้นับเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นำมาซึ่งความเสียหายมหาศาลและจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ยังพุ่งขึ้นไม่หยุด

            โลกใบนี้เคยเจอเหตุการณ์ภัยธรรมชาติรุนแรงหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ปี 2547, เหตุการณ์พายุไห่เหยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ปี 2556 หรือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นปี 2554 แต่หลังจากเกิดความสูญเสียขึ้นทุกครั้ง มักจะตามมาด้วยความช่วยเหลือจากทั่วทุกมุมโลก

            สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเทศไทยก็ตื่นตัวมากทีเดียว หลายองค์กรทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างอาสาเข้ามาเป็นสื่อกลางการช่วยเหลือ

 

พลังแฮชแท็ก

          โลกออนไลน์มักถูกปรามาสว่าเป็นสังคมไร้สาระ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ โลกออนไลน์กลับกลายเป็นศูนย์รวมพลังที่ยิ่งใหญ่อย่างเหลือเชื่อ โดยที่ชาวเน็ตมี Like, Share และ Hashtag (#) เป็นอาวุธ

            ในเหตุการณ์ครั้งนี้ บนฟีดข่าวทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และสังคมออนไลน์อื่นๆ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวความห่วงใยและความช่วยเหลือที่ส่งถึงประเทศเนปาลแทบทั้งสิ้น ในทุกๆ ข้อความและรูปภาพที่พลเมืองออนไลน์กด Like กด Share มักจะถูกต่อท้ายด้วยเครื่องหมายชาร์ป (#) ที่ถูกเรียกใหม่ว่าแฮชแท็ก (Hashtag) ตามด้วยข้อความ ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเกิดแฮชแท็กเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาลมากมายและหลากหลายจริงๆ

            อย่างที่เห็นได้บ่อยมากคือ #PrayforNepal, #NepalEarthQuake, #EarthQuakeNepal ซึ่งจุดประสงค์ของการติดแฮชแท็กเพื่อลิงค์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวไว้ด้วยกัน อย่าง #PrayforNepal นอกจากจะหมายถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ยังแสดงถึงความห่วงใยที่ผู้ติดแท็กคล้ายสวดภาวนาให้ชาวเนปาลรอดปลอดภัย

            นอกจากนี้ยังมีแฮชแท็กที่กำลังนิยมอีกอันหนึ่งคือ #SingforNepal เกิดขึ้นในทวิตเตอร์เพื่อระดมเงินบริจาคช่วยเหลือและให้กำลังใจชาวเนปาล มีเจ้าของบัญชี @toyubomm และกลุ่มเพื่อน ทั้ง @kirapats, @soyoso และ @nattaboat เป็นผู้ริเริ่ม โดยได้แนวคิดมาจากโครงการ #singfororphan กิจกรรมอาสาของชาวทวิตเตอร์ที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นกลุ่มศิลปิน-นักแสดงที่ทราบข่าว ได้ร่วมกิจกรรมและร่วมทำบุญหลายคน

            กิจกรรม #SingforNepal จะจัดขึ้นที่ร้านอาหารบ้านเพื่อน บริเวณเวิ้งโบราณ ซอยเอกมัย 10 กรุงเทพฯ ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมจิตอาสา ที่สังคมออนไลน์เลือกใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างสร้างสรรค์ ลบคำครหาที่ว่าเป็นสังคมไร้สาระได้หมดจดงดงาม

 

ส่งพลังไปหลังคาโลก

            เนปาลได้สมยาว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลังคาโลก ในวันที่หลังคาโลกพังทลายแบบนี้ ทุกคนจึงต้องช่วยกันซ่อมแซม นอกจากการช่วยเหลือและแบ่งปันข้อมูลกันทางสังคมออนไลน์แล้ว ในโลกความจริงก็มีการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจากหลายองค์กร...

            อย่างกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือทั้งคนไทยที่เนปาลและช่วยเหลือชาวเนปาลให้ผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ ในแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าทางรัฐบาลไทยได้อนุมัติเงินช่วยเหลือและส่งสารแสดงความเสียใจไปยังพี่น้องชาวเนปาล ทั้งยังพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลและประชาชนเนปาล

            สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในเนปาล กระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งศูนย์ประสานการให้ความช่วยเหลือแก่เนปาล และส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ

            นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศทราบถึงความต้องการในชั้นต้น คือ ผ้าห่ม อาหาร เต็นท์พักอาศัย ยารักษาโรค อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และน้ำดื่ม

            (สำหรับญาติคนไทยในเนปาลสามารถติดต่อกองคุ้มครองฯ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ที่หมายเลข 08 5911 4076, 09 4003 7190 - 2 ระหว่างเวลา 08.00 - 22.00 น.)

            ด้านสภากาชาดไทย ถือเป็นองค์กรหลักที่เมื่อมีภัยพิบัติเมื่อใดก็มีหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือเมื่อนั้น ในครั้งนี้สภากาชาดไทย โดยมี แผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ได้ประชุมออนไลน์กับกรรมการเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานต่างๆ ในสภากาชาดไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือการเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในเนปาล เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาสภากาชาดโอนเงินเพื่อช่วยเหลือเนปาลงวดแรกผ่านสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือ IFRC จำนวน 500,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

            กมลวรรณ ศรีช่วย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่าตอนนี้สภากาชาดไทยกำลังเร่งระดมความช่วยเหลือทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคและเงิน

            "สำนักงานบรรเทาทุกข์ ประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กำลังเตรียมอาหารแห้ง เครื่องดื่ม ยา เวชภัณฑ์ ที่จะส่งไปช่วยเหลือ ณ ตอนนี้ สภากาชาด เราเปิดเป็นบัญชี ที่เปิดเป็นเร่งด่วน สามารถโอนเงินได้เลย เบื้องต้นต้องการเป็นเงินมากกว่า ส่วนอาสาสมัครต้องรออีกสักนิด เพราะต้องตั้งรับก่อน แต่ส่วนอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยา เตรียมแล้ว ความช่วยเหลือที่เป็นเงินเราส่งไปแล้ว 6 ล้านบาท

            อีกสักพักถึงจะมีการตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของน้ำดื่ม ตอนนี้คนบริจาคเงินมีเยอะมาก เป็นหลายพันราย เราก็นั่งตอบอีเมลอยู่ มีทั้งบัญชีของธนาคาร มีทั้งโทรเข้ามาเป็นหน่วยงาน น้องแอดมิน เราก็ทยอยตอบๆ ใบเสร็จเราก็เอาไปจ่ายภาษีได้ด้วย"

            ซึ่งช่องทางบริจาคคือ บัญชี ธ.กสิกรไทย สำนักสีลม เลขที่บัญชี 001-1-34567-0 ชื่อบัญชี 'สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ' สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2256 4440-3, 0 2255 9911 และ 0 2251 1218

            สำหรับองค์กรนานาชาติอย่างยูนิเซฟ (ประเทศไทย) ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่มีช่องทางบริจาคเพื่อช่วยผู้ประสบภัยครั้งนี้ มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์...

            บริจาคออนไลน์ที่ /www.unicef.or.th/sup…/…/campaign/Earthquake_Nepal_th, บริจาคผ่านธนาคารชื่อบัญชี องค์การยูนิเซฟ ธ.กรุงเทพ (กระแสรายวัน) สาขาสำนักงานก.พ.เลขที่บัญชี 201-3-01324-4, ธ.กรุงไทย (กระแสรายวัน) สาขาบางลำพู เลขที่บัญชี 167-6-00662-1, ธ.กรุงศรีอยุธยา (กระแสรายวัน) สาขาบางลำพู เลขที่บัญชี 011-0-06153-6, ธ.กสิกรไทย (กระแสรายวัน) สาขาบางลำพู เลขที่บัญชี 008-1-09766-6, ธ.ไทยพาณิชย์ (กระแสรายวัน) สาขาบางลำพู เลขที่บัญชี 003-3-10443-3

            สำหรับผู้ชม Now26 และผู้อ่าน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และเครือเนชั่น ก็ร่วมบริจาคได้ผ่านบัญชี 'ร่วมใจช่วยเนปาล' 'Together with Nepal' เลขที่บัญชี 130-3-18635-5 กระแสรายวัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางนา ติดต่อบริจาค หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 2338 3886, 0 2338 3758, 0 2338 3759

            นอกจากองค์กรใหญ่ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรเอกชนที่ยื่นมือมาเป็นสื่อกลางความช่วยเหลือ อย่างเว็บไซต์เทใจดอทคอมที่อาสาเป็นพื้นที่ระดมทุนในโครงการ Saving Nepal โดยตั้งเป้าหมายระดมทุนเบื้องต้น 400,000 บาท (ในวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาได้รับบริจาคแล้ว 277,760 บาท) และจะนำเงินที่ได้ส่งต่อให้แก่องค์กรสาธารณกุศลกลุ่มต่างๆ โดยมีช่องทางบริจาค คือ เว็บไซต์ https://taejai.com/en/projects/savingnepal , ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ (TRRM FOR TAEJAI) เลขที่บัญชี 043-272833-9 สาขาเพชรบุรีตัดใหม่, ธนาคารกรุงไทย มูลนิธิ บูรณะชนบทแห่งประเทศไทยเพื่อเทใจดอทคอม เลขที่บัญชี 091-0-27177-1 สาขาสุทธิสาร-รัชดา

 

เยียวยาเนปาลี

            หากไม่นับสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมโบราณที่พังราบเป็นหน้ากลอง เนปาลีหรือชาวเนปาลคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย นั่นหมายความว่ามี 'คน' จำนวนมากที่กำลังรอความช่วยเหลือทั้งเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเรื่องสำคัญอย่างการรักษาพยาบาล แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้ทีมแพทย์ทั้งในเนปาลและจากนานาชาติส่งมาอาจไม่เพียงพอ

            แพทย์อาสาแพทยสภาจึงได้จัดโครงการลงทะเบียนแพทย์ที่ประสงค์จะเดินทางไปช่วยเหลือประชาชน ณ ประเทศเนปาล โดยลงทะเบียนแยกเป็นความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้ทางหน่วยงานราชการและองค์กรการกุศลที่จะเข้าพื้นที่ประสานงานขอรับการสนับสนุนได้สะดวก โดยแพทยสภาเป็นผู้รับรองสถานภาพและประสานงานให้ โดยมี นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบภารกิจนำแพทย์ไทยชุดแรกไปเนปาล

            เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อประสานกับสถานทูตไทยในเนปาล และสาธารณสุขประเทศเนปาล ว่า ต้องการความช่วยเหลือลักษณะใดบ้าง และในวันนี้ (29 เมษายน) จะได้ข้อมูลเพียงพอว่าควรจะส่งทีมช่วยเหลือไปสมทบเป็นทีมใหญ่หรือทีมเล็ก

            “การส่งทีมเข้าช่วยเหลือทางการแพทย์ในครั้งนี้ เบื้องต้น ถ้าส่งทีมเล็กไปจะวางแผนปฏิบัติการว่าตั้งโรงพยาบาลสนามที่บริเวณใกล้สถานทูตไทยก่อน แต่หากส่งทีมใหญ่ต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุขเนเปาล เพื่อช่วยเหลือในโรงพยาบาลต่างๆหรือออกช่วยเหลือในพื้นที่ แต่เบื้องต้น ทีมที่จะส่งไปจะต้องไม่เป็นภาระของเนปาล และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยจะมีการเตรียมอุปกรณ์ภาคสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบสื่อสาร เครื่องปั่นไฟรวมทั้งอาหาร น้ำดื่มไปเอง”นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

            นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยว่าขณะนี้มีแพทย์ที่แสดงเจตจำนงจะร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวนมาก และมีคณะแพทย์ศาสตร์ทั้งศิริราช จุฬา รามาธิบดี และ มศว. ว่ามีความพร้อมที่จะเดินทางไป แต่อย่างไรก็ตาม การจัดทีมแพทย์จะต้องขึ้นอยู่ข้อมูลภาคสนามว่ามีความต้องการในลักษณะใด  การเดินทางเข้าช่วยเหลือในครั้งนี้อาจต้องใช้เวลา 1 เดือน จึงต้องมีทีมผลัดเปลี่ยนทีมละ 2 สัปดาห์

          การช่วยเหลือทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ทั้งที่เป็นแรงเงินและแรงกาย ทุกสิ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่มีให้แก่กันและกัน ในวันที่เนปาลกำลังร้องไห้ เราในฐานะเพื่อนร่วมโลกคงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่หยิบยื่นความช่วยเหลือ ช่วยซับน้ำตาให้เนปาล