สปช.เลื่อนถกรายงานปฏิรูปตำรวจ

สปช.เลื่อนถกรายงานปฏิรูปตำรวจ

สปช.เลื่อนถกรายงานปฏิรูปตำรวจ หลังถก 3 ชม. กมธ.เห็นไม่ตรงกัน แยก”สอบสวนพ้นสตช.”

รัฐสภา มีประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระที่น่าสนใจ คือการพิจารณารายงานการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฎิรูปกฎหมาย ฯ รายงานว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานของตำรวจเป็นเหตุและปัจจัยสำคัญอันก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมในวงกว้างทั้งในด้านการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการอำนวยความยุติธรรม เกิดปัญหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติใช้อำนาจเชิงรวมศูนย์ในทุกด้าน รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการบริหารและการปฏิบัติงานของตำรวจทุกๆด้าน ส่งผลให้สังคมเกิดความแตกแยกขัดแย้งรุนแรง จนกระทั่งประชาชนขาดความเชื่อมั่นและไม่มีความไว้วางใจต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ  

นายเสรี กล่าวต่อว่า เนื่องจากงานตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม มีความสำคัญในการเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนจึงเห็นควรกำหนดให้มีแนวทางการปฏิรูปในเรื่องความเป็นอิสระของหน่วยงานตำรวจ ดังนี้ 1.กำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตราพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างตำรวจ และพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และยกร่างพ.ร.บ.สอบสวนโดยบัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการตำรวจและการสอบสวน ไม่มีตัวแทนนักการเมืองในทุกระดับชั้น เข้ามาใช้อำนาจโยกย้ายแต่งตั้ง เลื่อนขั้น แทรกแซงคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีที่มีนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการตำรวจฯ ให้มีการถอดถอนและดำเนินคดีอาญาแก่การเมืองนั้น และ 2.กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการตำรวจ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  

นายเสรี กล่าวต่อว่า การกระจายอำนาจการบริหารราชการไปสู่ระดับจังหวัดนั้น จากโครงสร้าง สตช.ในปัจจุบันก่อให้เกิดสภาพปัญหาผู้บัญชาการสตช.ใช้อำนาจเชิงรวมศูนย์ในทุกด้าน ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การใช้งบประมาณ การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การก่อสร้างอาคารที่พักและสถานีตำรวจ เป็นต้น โดยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.ทุกครั้ง เพื่อให้การปฏิบัติงานของตำรวจตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมือง ดังนั้น ทางกมธ.ปฏิรูปฯจึงเสนอให้สตช.เป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับหน่วยราชการใด มีผบ.ตร.เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด  

นายเสรี กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปการสอบสวน พบว่างานสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในความรับผิดอบของสตช.อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างร้ายแรง ประชาชนไม่เชื่อถือ เชื่อมั่นว่าพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และสุจริต การสอบสวนมีปัญหาตั้งแต่การไม่รับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจากประชาชนคนยากจน หรือไม่มีอำนาจ ไม่มีการสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ เนื่องจากพนักงานสอบสวนถูกผู้บังคับบัญชาการสั่งการทางพฤตินัย ไม่ให้รับคำร้องทุกข์ เพื่อลดสถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกงานสอบสวนจากสตช.โดยเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติถ้อยคำไว้ในรัฐธรรมนูญ และจัดทำร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา และในขั้นตอนการสอบสวนสามารถใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพได้ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมขั้นพื้นฐานในการสอบสวนและยกระดับการสอบสวนให้เป็นสากล  

จากนั้นพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชี้แจงผลการศึกษาว่า วันนี้เป็นวันที่ดวงวิญญาณที่ถูกกระทำโดยตำรวจรอคอย เช่น ดวงวิญญาณของ 2500 ศพ ดวงวิญญาณของทนาย สมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น จะไปสู่สุคติ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่การรายงานผลการศึกษา ขอชี้แจง 3 เรื่อง ดังนี้ 1.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องการปฏิรูปและปรองดอง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ระบุในที่ประชุมสปช.ว่า “ใครจะได้ใครจะเสีย ตำรวจคนใดจะได้ประโยชน์ ตำรวจคนใดจะเจ็บแค้น ผมไม่เกี่ยว ผมเป็นกลาง” ตนเสียใจที่นายเสรีกล่าวแบบนี้ แต่จะไม่ขอให้นายเสรีขอโทษ และตนขอโทษคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างฯที่ได้ทำงานร่วมกันมา เพราะเขาทำงานนี้ด้วยความทุ่มเทและจริงใจ และอนุกรรมาธิการไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย  

พล.ร.อ.พระจุณณ์ กล่าวอีกว่า กรณีพล.ต.ท.อาจิณต์ โชติวงศ์ รองประธานคณะอนุกมธ.ฯ และอดีตผู้ช่วยผบ.ตร. เสนอให้ตัดมาตรา 282 (8) การปฏิรูปตำรวจ โดยให้แยกงานสอบสวนออกจากสตช. นั้น อยากจะบอกว่าขอให้คณะวิจัยเรื่องความเป็นไปได้โอนภารกิจของสตช. ขอเงินพล.ต.ท.อาจิณต์ คืนไปด้วย เพราะในการศึกษาดังกล่าวพล.ต.ท.อาจิณต์ได้ทำการศึกษาไว้ ว่าให้แยกงานสอบสวนออกจากสตช. แต่มาขณะนี้ตัวเองกลับไม่เข้าใจผลการศึกษา รวมทั้งพล.ต.ท.อาจิณต์ เคยบอกว่าไว้ในการสัมมนาหัวข้อ "ตำรวจไทยกับความคาดหวังของสังคมไทย" ว่า วงการตำรวจต้องปฏิวัติอย่างเดียว แต่มาวันนี้กลับเสนอไม่ให้ปฏิรูปตำรวจ นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า "เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน"  

"เรื่องที่สาม มีสมาชิกสปช.คนหนึ่งเคยเป็นอนุกมธ.ปฏิรูปตำรวจกับผม ได้อภิปรายว่าแยกสอบสวนออกจากสตช.จะมีค่าใช้จ่าย คงต้องนำคนไปตรวจสอบว่าสมาชิกคนดังกล่าวมาเซ็นชื่อรับเบี้ยประชุมแล้วออกไปที่อื่นหรือเปล่า เพราะที่ประชุมมีมติว่าไม่ได้นำพนักงานสอบสวนออกจากโรงพักเลย เพราะโรงพักเป็นที่ใกล้ชิดประชาชน ดังนั้นพนักงานสอบสวนยังอยู่ที่นั้น ดังนั้นการแยกจึงไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่คนที่กล่าววันนั้นบอกว่าต้องใช้งบประมาณอีก สร้างโรงพักอีก400แห่ง ผมจึงไม่เข้าใจว่าท่านไปเซ็นชื่อรับเบี้ยประชุมเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ผมจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ" พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าว  

พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ คือการทุบในสิ่งไม่ดีให้เข้ารูปเข้ารอย อย่างไรก็ตาม ในกมธ. มีความเห็นต่างในเรื่องการสอบสวน เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ของตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง งานสืบสวนเหมือนกำแพงของตำรวจที่ตำรวจเลวๆจะใช้พิงหลัง เพราะงานสอบสวนถูกสั่งการให้ทำสำนวนคดีในรูปแบบต่างๆได้ ถ้ายังไม่แยกงานสอบสวนออกจากสตช. ชีวิตแล้วชีวิตเล่า เราจะต้องรับผิดชอบ เพราะเขาเปิดโอกาสให้ทำแล้ว แต่เราไม่ทำ

นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกมธ.ปฏิรูป ในฐานะอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างฯ กล่าวว่า วันนี้มีหลายฝ่ายพูดว่าจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาเรื่องการแยกงานสอบสวนออกจากสตช.นั้น ตนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งอีก เพราะเป็นเรื่องที่ศึกษากันแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนจะขอเสนอญัตติในที่ประชุมให้มีการลงมติว่าจะแยกงานสอบสวนออกจากสตช.หรือไม่ด้วย  

ต่อมานายเสรี ชี้แจงว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯยังไม่เคยมีมติให้แยกงานสอบสวนออกจากสตช. สำหรับกรณีนายอมรขอมติที่ประชุมให้โหวตแยกงานสอบสวนออกจากสตช.นั้น กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯไม่มีมติขอให้โหวต อย่างไรก็ตามกรณีที่ตนถูกพาดพิงในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องกราบเรียนว่า เป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวเด็ดขาดในการให้ความเห็นส่วนตัว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมงเป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นเอกภาพกรณีแยกงานสอบสวนออกจากสตช.หรือไม่ และเกิดการโต้เถียงของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯกันเอง จนไม่สามารถเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.อภิปรายได้ จึงทำให้พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เสนอญัตติเลื่อนการอภิปรายออกไป ขณะที่ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เสนอญัตติแย้งให้อภิปรายต่อ สุดท้าย นางทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ได้ขอมติที่ประชุม ผลปรากฏว่า เห็นด้วยให้เลื่อนการประชุมออกไปในครั้งหน้า ด้วยคะแนน 125 เสียง ต่อ 52 เสียง และประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.00 น.