กทม.ยันเฝ้าระวัง70ตึกสูงรับแผ่นดินไหว

กทม.ยันเฝ้าระวัง70ตึกสูงรับแผ่นดินไหว

กทม.ยันเฝ้าระวัง 70 ตึกสูงรับแผ่นดินไหว ชี้อาคารสร้างหลังปี 50 ต้านแรงสั่นสะเทือนได้

รายงานข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า ที่ผ่านมากองควบคุมอาคาร สำนักการโยธาได้รวบรวมรายชื่ออาคารในกรุงเทพฯ ที่เคยรับรู้ถึงแรงของแผ่นดินไหวได้ประมาณ 70 อาคาร โดยอาคารจะมีการการสั่นไหว ผู้ที่อยู่ในอาคารรับรู้ถึงการโยกตัวของอาคาร แต่จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557 ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.3 อาคารที่อยู่ในรายชื่อทั้ง 70 อาคาร ไม่ได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหวกับตัวอาคาร ซึ่งอาคารเหล่านี้ไม่ใช่อาคารที่มีความเสี่ยง แต่เป็นเพียงกลุ่มอาคารที่มีความสูง ที่จะสามารถรับรู้ได้ถึงแรงจากแผ่นดินไหวได้ และไม่ได้มีความเสี่ยงต่อความเสียหายแต่อย่างใด แต่กรณีหากมีการตรวจสอบพบว่าอาคารมีความเสียหาย ทางกองควบคุมอาคารจะประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เข้าตรวจสอบได้  

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมา กทม.ได้ออกมาตรการรับมือแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯประกอบด้วย 1.อาคารที่ก่อสร้างหลัง พ.ศ. 2550 มีกฎหมายควบคุมอาคาร ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 มาบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2550 โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงเดิม คือ กฎกระทรวงฉบับที่ 49 พ.ศ. 2540 เพื่อให้อาคารสามารถต้านทานแรงจากแผ่นดินไหวได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งใช้บังคับอาคาร ต่อไปนี้ 1.อาคารที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของสาธารณชน อาทิ สถานพยาบาล สถานีดับเพลิง อาคารศูนย์บรรเทาสาธารณภัย อาคารศูนย์สื่อสาร ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้า โรงประปา 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า 2.อาคารเก็บวัตถุอันตราย อาทิ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุกัมมันตรังสี หรือวัตถุที่ระเบิดได้ 3.อาคารสาธารณะ อาทิ โรงมหรสพ หอประชุม สนามกีฬา อัฒจันทร์ ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม 4.สถานศึกษา 5.สถานรับเลี้ยงเด็ก 6.อาคารที่มีผู้ใช้อาคารได้ตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป 7.อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป 8.สะพานหรือทางยกระดับ 9.เขื่อนเก็บกักน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไป ทั้งนี้ ส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 ประมาณ 2,000 แห่ง อาคารจะต้องมีการออกแบบให้สามารถรองรับแรงลม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527 และแรงจากแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 49 พ.ศ.2540 เพื่อทำให้อาคารยังมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงแผ่นดินไหวได้

ด้านพ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า กรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวเพื่อความปลอดภัยและเป็นการเตรียมความพร้อมในเบื้องต้นเป็นการลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดแผ่นดินไหว โดยให้หมอบลงกับพื้น หลีกเลี่ยงบริเวณใกล้หน้าต่างหรือบริเวณที่มีสิ่งของแขวนไว้ตามฝาผนังและหลบใต้โต๊ะหรือมุมห้อง ป้องกันตนเองโดยใช้แขนปกป้องศีรษะและคอ รอจนความสั่นไหวยุติลงหรือปลอดภัยแล้ว จึงออกไปสู่จุดที่ปลอดภัยตั้งสติ และอย่าให้คนในครอบครัวตื่นตระหนก อยู่ห่างจากบริเวณที่มีวัตถุหล่นใส่ ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณา เสาไฟ อาคาร และต้นไม้ใหญ่ ระวังเศษอิฐกระจกแตกและชิ้นส่วนอาคารหล่นใส่  

พ.ต.อ.พิชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนผู้ที่อยู่ในอาคารสูง ถ้าอาคารมั่นคงแข็งแรงให้อยู่ในอาคารนั้น ถ้าอาคารเก่าและไม่มั่นคงให้รีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด หรือหลังการสั่นสะเทือนสิ้นสุดให้รีบออกจากอาคาร ถ้าไม่อยู่ใกล้ทางออกให้หมอบลง จนกว่าจะมีผู้เข้าไปช่วยเหลือ ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ปฐมพยาบาลขั้นต้นให้ผู้ได้รับบาดเจ็บก่อนรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพื่อป้องกันเศษแก้ว วัสดุแหลมคม และสิ่งหักพังแทง ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟ และให้ตรวจสอบแก๊สรั่วด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นแก๊สให้รีบเปิดประตูหน้าต่างทุกบ้าน และออกจากบริเวณที่สายไฟขาดหรือสายไฟพาดถึง