'อภิสิทธิ์'ห่วงรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อรากหญ้า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

'อภิสิทธิ์'ห่วงรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อรากหญ้า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

"อภิสิทธิ์" ห่วง รัฐเร่งธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อรากหญ้า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนะเทงบจ้างงานท้องถิ่น สร้างรายได้ แทนสร้างหนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นว่า นโยบายเกี่ยวกับข้อจำกัดแหล่งเงินทุนต้องชัดเจนว่าต้องการไปทำอะไร หากมีโครงการหรือมีอาชีพที่มีรายได้แต่ขาดเงินทุนก็ควรทำ แต่ถ้าตั้งเป้าให้ปล่อยเงินมากๆ จะกลายเป็นการสร้างหนี้เสียใหม่เกิดขึ้น และจะไม่ยั่งยืนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เว้นแต่การปล่อยสินเชื่อนั้นจะสร้างรายได้กลับคืนมา

“ผมเสนอว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น โดยรัฐใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนจ้างงานสร้างรายได้ แทนที่จะให้คนกู้เงินสร้างหนี้ และลดภาระกองทุนน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งทำให้กองทุนน้ำมันถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ทักท้วงมาแล้ว แต่โดยส่วนตัวเห็นว่ากองทุนน้ำมันมีประโยชน์โดยทำให้ถูกกฎหมายและมีการนำไปใช้อย่างรัดกุม เช่น ใช้สนับสนุนแก๊สโซฮอลหรือสร้างทำให้เกิดสเถียรภาพด้านราคา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรียังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายที่จะเดินหน้าโครงการท่าเรือปากบาราว่า ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมีการรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่พบว่า ท่าเรือที่จะมีความสุ่มเสี่ยงกระทบทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่ทางเลือกที่ประเทศและประชาชนต้องการ แต่ถ้าเป็นท่าเรือขนาดเล็กเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรที่ไม่กระทบการท่องเที่ยวทำได้ แต่ต้องพิจารณาว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะทำโครงการขนาดไหน ซึ่งเดิมมีแนวคิดให้เป็นสะพานอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีอุตสาหกรรมหนักรวมอยู่ด้วย ซึ่งรัฐบาลของตนคัดค้านเรื่องนี้ และมีนโยบายชัดว่าอุตสาหกรรมหนักต้องไม่มีเพิ่ม โดยไทยควรไปใช้ประโยชน์จากท่าเรือทวายที่จะรองรับอุตสาหกรรมหนักดีกว่า แต่ถ้ายังดึงดันจะเดินหน้าโดยไม่ลดขนาดโครงการลงจะมีแรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังขัดแย้งกับแนวคิดของ สปช.ที่ต้องการจะทำให้อันดามันเป็นมรดกโลก รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

 “อย่าคิดว่าจะฉวยโอกาสในขณะที่ไม่มีมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 50 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิชุมชน แล้วจะใช้วิธีการเลี่ยงการมีส่วนร่วมของประชาชนและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ผมขอให้รัฐบาลยึดหลักตามเจตนารมณ์ของมาตรา 67 ซึ่งจะสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยังยืน เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ยังขัดแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้อย่างสวยหรูในเรื่องการคุ้มครองสิทธิชุมชนสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ด้วย แนวทางที่ดีที่สุดคือสร้างกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและกำหนดแนวทางที่สมดุลย์โดยคำนึงถึงวิถีชุมชนด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว