ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 27 เม.ย.-1 พ.ค.58

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 27 เม.ย.-1 พ.ค.58

“ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาการปะทุของความไม่สงบในเยเมนอีกครั้ง และการประชุมเฟด”

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 - 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57 - 63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 เม.ย. – 1 พ.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ยังคงผันผวน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่จีนออกมาเผยเรื่องการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสถานการณ์ความไม่สงบในเยเมนที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามเศรษฐกิจของยูโรโซนว่าจะมีทิศทางอย่างไรหลังจากที่มีการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และติดตามการประชุม Fed ในสัปดาห์นี้ว่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหรือไม่

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเยเมนว่าเป็นไปในทิศทางใด หลังล่าสุดซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้าทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มกฎบฮูธิในเยเมนต่อ แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะออกมาเผยเมื่อวันอังคารที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าได้ยุติปฏิบัติการทางทหารในประเทศเยเมนเพื่อต่อต้านกลุ่มกบฏฮูธิแล้ว หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังเกิดการสู้รบในภาคพื้นดินอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มกบฏและกองกำลังที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีของเยเมนซึ่งขณะนี้ได้ลี้ภัยไปยังซาอุดิอาระเบียแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเยเมน อย่างไรก็ดี แม้ว่าเยเมนจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตน้ำมันหลัก แต่ตลาดก็มีความกังวลว่าสถานการณ์อาจจะบานปลายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันได้ ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบลดลง และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้

- จับตาธนาคารกลางจีนว่าจะมีการออกมาตรการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากมีการปรับลดไปแล้ว 1% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ธนาคารกลางได้ปรับลดไปแล้ว 0.5% เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรับลดอัตรา RRR ลงอีกภายในปีนี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจหลังจากที่มีการลดอัตรา RRR ว่าจะมีเสถียรภาพดีขึ้นหรือไม่ ถ้าหากเศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ธนาคารกลางจีนก็อาจจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่นเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันหลักของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก็จะทำให้ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น

- จับตาท่าทีเศรษฐกิจของยูโรโซนว่าจะมีทิศทางอย่างไร หลังจากที่มีการเจรจาในวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. ระหว่างกรีซและกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ ทั้งนี้หากกรีซสามารถยื่นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ภายในสิ้นเดือนนี้ กรีซจะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนสุดท้ายมูลค่า 7,200 ล้านยูโร โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ล่าสุดรัฐบาลกรีซได้ออกมาเผยว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะขาดแคลนเงินสด อยู่ประมาณ 400 ล้านยูโร หรือ ราว 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินที่จำเป็นต้องใช้เร่งด่วนเพื่อจ่ายเงินเดือนและเงินบำเหน็จบำนาญในวันที่ 24 เม.ย.

- ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จัดขึ้นในวันที่ 28-29 เม.ย. นี้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) หรือไม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 มานานกว่า 6 ปี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงได้

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีภาคการบริการ ความเชื่อมันผู้บริโภค จีดีพี ไตรมาส1/2558 อัตราการว่างงาน ดัชนีภาคการผลิต(Chicago's PMI) และดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (NBS PMI)และดัชนีภาคการบริการของจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 เม.ย. 58)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 1.41 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 57.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้น 1.83 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 65.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยตลาดยังคงถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียยืนยันที่จะคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอัตราที่สูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากสามารถกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบในฝั่งตะวันตกของประเทศได้ ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีก ที่ระดับ 489 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อหลังสัญญาน้ำมันดิบเดือน พ.ค. หมดอายุ และความไม่สงบในประเทศเยเมนที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย

                                                         -----------------------------------------------------
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999