'กาฐมาณฑุ'เคลื่อนจากจุดเดิม3เมตรหลังแผ่นดินไหว

'กาฐมาณฑุ'เคลื่อนจากจุดเดิม3เมตรหลังแผ่นดินไหว

ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ระบุ กรุงกาฐมาณฑุ ของเนปาล ขยับเคลื่อนจากจุดที่ตั้งเดิมประมาณ 3 เมตร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ว่า จากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7.8 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่ในเขตเมืองลัมจัง ทางภาคกลางของเนปาล เมื่อเวลา 11.56 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันเสาร์ที่ผ่านมา ผุ้เชี่ยวชาญชี้ว่า แรงไหวสะเทือนรุนแรงครั้งนี้ อาจทำให้ผืนดินรอบๆ เมืองหลวงกรุงกาฐมาณฑุ เคลื่อนที่จากจุดที่ตั้งเดิมหลายเมตร โดยสำนักข่าวเอเอฟพีได้รวบรวมความเห็น แบบตั้งเป็นคำถาม-ตอบ ดังนี้

กาฐมาณฑุเคลื่อนที่หรือไม่ ? - นายเจมส์ แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาแปรสัณฐาน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่ได้รับจากคลื่นเสียง ที่เดินทางผ่านโลกหลังเกิดแผ่นดินไหว เชื่อว่ากรุงกาฐมาณฑุเคลื่อนที่จากที่ตั้งเดิมไปทางทิศใต้ประมาณ 3 เมตร (10 ฟุต) รอยเลื่อนเปลือกโลกขนาดความยาว 150 กม. และกว้าง 50 กม. ที่ลากผ่านใต้หุบเขากาฐมาณฑุ ทนทานต่อไปไม่ไหว หลังถูกแรงกดดันนานหลายสิบปี ทำให้ชั้นหินด้านบนสุดของรอยเลื่อน ไถลลงจากหินด้านล่าง ไปทางทิศใต้

ทั้งนี้ รอยเลื่อนดังกล่าวพาดผ่านระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น แผ่นหนึ่งอยู่ใต้ประเทศอินเดีย ทิศทางแรงผลักดันขึ้นไปทางเหนือ เข้าสู่ยุโรปและเอเชีย ในอัตราประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ก่อกำเนิดเทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่ยุคเริ่มแรก แผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์ จะทำให้ผืนดินในเขตกรุงกาฐมาณฑุ ยกตัวสูงขึ้นประมาณครึ่งเมตร และพื้นที่ทางตอนเหนือขึ้นไป จะยุบตัวลงประมาณครึ่งเมตรเช่นกัน การขยับเขยื้อนของพื้นผิวโลกครั้งนี้ กว้างใหญ่เพียงพอที่จะต้องมีการทำแผนที่โลกแบบความเที่ยงตรงสูงขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวเนปาลในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งรุนแรงสุด ที่เคยสะเทือนพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย แผ่นดินไหวในเขตรัฐอัสสัม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2493 ทำให้ผืนดินในวงกว้างเขยื้อนเคลื่อนที่เกือบ 30 เมตร

เนปาลจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ? - คำถามนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญตอบตรงกันว่า เนปาลและพื้นที่ใกล้เคียงจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกแน่นอน และหลายครั้งด้วย แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า จะเกิดเมื่อใด แกรี กิบสัน อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์โลก มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.5 แมกนิจูดขึ้นไป เขย่ากรุงกาฐมาณฑุ โดยเฉลี่ยทุกๆ 100 ปี ในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงเวลาห่างระหว่างการเกิดแต่ละครั้ง จะอยู่ระหว่าง 23 - 273 ปี ทั้งนี้ การเกิดแผ่นดินไหวจากการกระทบประแทกของรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลกแต่ละครั้ง จะทำให้พื้นที่ติดกันโดยรอบไม่มั่นคง และจะเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไปด้วย