'อนุพงษ์'ชี้แนวโน้มร่างรธน.ทำประชามติ

'อนุพงษ์'ชี้แนวโน้มร่างรธน.ทำประชามติ

"พล.อ.อนุพงษ์"ฟันธงร่างรธน. หลุดกรอบโรดแม็ป ชี้แนวโน้มชงคสช. ตัดสินใจทำประชามติ ด้าน"เสรี"ติง"เทียนฉาย"เร่งรัดปิดประชุมสปช.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง กรณีร่างรัฐธรรมนูญที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณามาครบ 7 วันแล้ว ในส่วนของการทำประชามติของรัฐบาลจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การประชามตินั้น 1. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ และ 2.เวลาไม่น่าจะทันตามโรดแม็พ ตนคิดว่า น่าจะเป็นข้อสรุปของ สปช. จะดีกว่า ที่จะเสนอมายังรัฐบาลว่า จะต้องทำอย่างไร รวมถึงจะต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พิจารณา เพราะว่า มีผลกระทบต่อโรดแม็พ คสช. ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และกรอบเวลาที่ต้องเกินออกไป 

เมื่อถามว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุต้องให้รัฐบาล และคสช.ตัดสินใจ ในการทำประชามติ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า น่าเป็นคสช. ไม่ใช่รัฐบาล เพราะฉะนั้น คำตอบน่าจะไปอยู่ที่ คสช. แต่ว่า ใครจะเป็นผู้เสนอนั้น ได้หมด เข้าใจว่า ขณะนี้ ข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือ สปช.เอง สามารถเสนอได้ทั้งหมด เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาดำเนินการต่อไป

"เสรี"ติง"เทียนฉาย"เร่งรัดปิดประชุมสปช.

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวท้วงติงการทำหน้าที่ของนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. ต่อประเด็นการตัดบทและเร่งรัดปิดประชุม สปช. ซึ่งพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำเสนอต่อที่ประชุมสปช. เมื่อวัที่26เม.ย. ทั้งที่ยังมีสปช. ยกมือขออภิปรายและซักถามต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าถือเป็นการตัดเอกสิทธิ์การทำหน้าที่ของสปช. ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557มาตรา18และมาตรา31ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของสปช. กำหนดไว้ นอกจากนั้นแล้วในการสั่งปิดประชุมทั้งที่ยังมีสปช.ขอใช้สิทธิ์อยู่นั้น อาจเกิดปัญหาได้ว่าสปช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลา10วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557มาตรา36และมาตรา38กำหนดไว้ ส่วนตัวกังวลว่าหากดำเนินการไม่ระมัดระวังอาจจะมีผู้ที่นำประเด็นไปฟ้องร้องจนกระทบต่อการทำหน้าที่ของ สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในกระบวนการพิจารณาและยกร่างรัฐธรรมนูญได้

นายเสรี ยังกล่าวถึงกระบวนการการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่าในการประชุมกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) นัดหน้าจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาถึงการเปิดประชุมสปช. เพื่ออภิปรายและพิจารณาในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไขตามข้อเสนอของสปช. และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องก่อนที่สปช.จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสมบูรณ์

โดยเหตุผลสำคัญที่ต้องนำประเด็นมาหารือ เพราะก่อนหน้านี้นายเทียนฉาย ได้ยืนยันเป็นเบื้องต้นกับตนว่าจะไม่มีการเปิดอภิปรายของสปช.ก่อนลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แต่มองว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะให้สปช. ได้ใช้สิทธิพิจารณา