มองเกม 'ยืดเลือกตั้ง' กลยุทธ์การถอยของ นปช.

มองเกม 'ยืดเลือกตั้ง' กลยุทธ์การถอยของ นปช.

(รายงาน) มองเกม "ยืดเลือกตั้ง" กลยุทธ์การถอยของ นปช.

เมื่อเปิดอ่านพิชัยสงครามสามก๊ก พบว่า “36 กลยุทธ์ หนีคือยอดกลยุทธ์” หมายความว่า กลยุทธ์นี้จะใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน และหลีกเลี่ยงการรบแตกหักกับข้าศึก


ทางออกจึงมีอยู่ 3 ทางคือ ยอมจำนน, เจรจาสันติ และถอยหนี โดยการยอมจำนนเท่ากับแพ้พ่ายสิ้นเชิง หรือการเจรจาสันติถือเป็นการพ่ายแพ้ครึ่งหนึ่ง


ต่างจากการถอยหนี อาจแปรเปลี่ยนมาเป็นชนะได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกได้ว่า “หนี” คือยอดกลยุทธ์
นักวิเคราะห์การเมือง จึงมองว่า ข้อเสนอ “ยืดเลือกตั้ง” อย่างน้อย 2-3 ปี หากรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในการทำประชามติ และต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เป็นกลยุทธ์การถอยหนี อันเป็นเกมใหม่ของฝ่ายต้านเผด็จการทหาร
เกมใหม่ที่ว่านี้ ถูกจุดพลุในวันที่นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวมวลชนทุกสีเสื้อไปรวมตัวที่สโมสรกองทัพบก เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว


แรกที่มีหนังสือเชิญจากศูนย์ปรองดรองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ลงวันที่ 17 เม.ย.2558 เชิญนักการเมือง แกนนำเสื้อสี สื่อมวลชน นักวิชาการ และนักศึกษา ร่วมประชุมระดมความคิดเห็น ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23 เม.ย.2558 ที่ห้องประชุมมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก วิภาวดี หลายฝ่ายก็จับจ้องไปที่การเรียกรายงานตัว เพื่อปรับทัศนคติดังที่เคยเห็นกันมาในช่วงหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.


ครั้นมีการพบปะกันจริงๆ ที่สโมสรกองทัพบก พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดรองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป), พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ต่างให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นเพื่อการสร้างความปรองดองภายในชาติ
ไฮไลต์ของการแสดงความคิดความเห็นของ “นักการเมือง” อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, จาตุรนต์ ฉายแสง, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, ภูมิธรรม เวชยชัย ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา


ความเห็นในคนการเมืองกลุ่มนี้ แม้จะมาจาก “ต่างสี” ต่างพรรค แต่ก็เห็นพ้องต้องกันว่า หากอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้น อันดับแรก “กติกา” ก็ต้องเป็นธรรม


นักการเมืองเห็นพ้องต้องกันว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ กติกาของประเทศที่จะใช้ร่วมกัน ต้องเป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตย


การปฏิบัติตามกติกา ที่กำหนดร่วมกัน ต้องยุติธรรมและเป็นข้อปฏิบัติที่ทุกฝ่ายต้องได้รับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ภายใต้กติกาเดียวกัน


พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตามโรดแมพ ต้องมีการทำประชามติ


ที่สำคัญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กำลังทำลาย “ระบบพรรคการเมือง” ด้วยโมเดลการเลือกตั้งแบบเยอรมันลูกผสม ที่มุ่งหมายให้เกิด ส.ส.ที่มาจาก “พรรคเล็ก” และ “กลุ่มการเมือง” ส่งผลให้ ส.ส.ในรัฐสภา มีลักษณะเป็น “เบี้ยหัวแตก”


ด้านนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กลับมองไปที่ประเด็น “ความคิดชี้นำ” โดยเห็นว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และต้องการฟื้น “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ให้ข้าราชการเป็นใหญ่ ไม่ใช่ “พลเมืองเป็นใหญ่”


หลังออกมาเวทีสานเสวนา ศปป. จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จึงโพสต์ความเห็นผ่าน Facebookส่วนตัว โดยมีเนื้อหาที่ชวนให้คิดต่อ


“ผมขอส่งเสียงบอกไปยังนักเลือกตั้งทั้งหลายว่า พอกันเสียเถอะ อย่าเรียกร้องการเลือกตั้งโดยไม่สนใจใยดีกติกา เพราะเราต่างแลเห็นชัดเจนว่า ถ้าเลือกตั้งภายใต้กติกาที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของ สปช.อยู่นั้น มันไม่ใช่เฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เฉพาะที่มาของวุฒิสภา ที่มาของสมาชิกผู้แทนราษฎร”


“จตุพร” ชี้ให้เห็นว่า กลไกในรัฐธรรมนูญปี 2558 ยังมีองค์กรอิสระอีก 11 องค์กร ซึ่งมีอำนาจมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้สร้างความเสียหายตามความที่ปรากฏในความทรงจำของคนไทยกันอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 2558 นั้นรุนแรงกว่าหลายเท่า


ประเด็นสำคัญ ประธาน นปช. พูดกลางวงเสนาต่อหน้านายทหารใหญ่ ทำนองว่า เลื่อนการเลือกตั้งออกไป 2-3 ปี พวกตนก็รอได้ ขอแต่ให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย


ต่อมา “จตุพร” ย้ำอีกครั้งว่า “เราอย่าได้กลัวว่าการเลือกตั้งช้าแล้วประเทศจะเสียหาย แต่จงกลัวว่าการเลือกตั้งเร็วภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น จะสร้างความเสียหายมากกว่าชนิดที่เรียกว่าเทียบกันไม่ได้เลย”
จากบรรยากาศที่เกิด “ความปรองดองอย่างน่าอัศจรรย์” ระหว่างนักการเมืองต่างขั้ว ฝ่ายทหารจึงเสนอจัดเวทีสานเสวนาอีกครั้ง ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พูดคุยกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ โดยตรง แทนที่จะพูดผ่านสื่อ


ด้านคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบางคน กลับเห็นว่า กรณีที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองยอมให้ขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป เพื่อแลกกับการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่นักการเมืองเห็นว่าตัวเองเสียประโยชน์


คณะกรรมาธิการฯ เชื่่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังเป็น “ตัวประกัน” ของฝ่ายการเมืองขั้วสี ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความปรองดอง


ฉะนั้น ฝ่ายที่กำลังพายเรือให้แป๊ะ จึงไม่เชื่อน้ำคำของแกนนำ นปช. ที่ว่า “กี่ปีรอได้” สำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆแล้ว อาจเป็นเกมถอยหนี รอจังหวะตีโต้กลับในวันข้างหน้า