สูตร 'ลากร่างรัฐธรรมนูญ-ยืดวันเลือกตั้ง'

สูตร 'ลากร่างรัฐธรรมนูญ-ยืดวันเลือกตั้ง'

(รายงาน) สูตร "ลากร่างรัฐธรรมนูญ - ยืดวันเลือกตั้ง"

แม้ตลอด 7 วันที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ประชุมเพื่อชำแหละ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ร่างแรกของคณะกรรมาธิการ แต่ดูเหมือนไฮไลท์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในที่ประชุม สปช. แต่ไปอยู่ที่วงหารือเพื่อความปรองดอง ที่จัดโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในวงหารือดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัส (23 เม.ย.) ที่สโมสรกองทัพบก ทาง คสช.ได้เชิญส่วนต่างๆทั้งตัวแทนพรรคการเมือง ตัวแทนกลุ่มการเมือง นักวิชาการ สื่อ นักศึกษา ประมาณ 30-40 คน มาหารือ หากไม่นับคนของ คสช. คนที่เสียงดังที่สุดในงานนี้คือ “นักการเมือง”

ไม่ชัดเจนถึงที่มา....แต่ชัดเจนในข้อสรุปที่เป็นความเห็นตรงกันของนักการเมืองจากส่วนต่างๆว่า ร่างรัฐธรรมนูญตอนนี้มีปัญหาอย่างมาก ถึงขนาดว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งตามกติกานี้ จะก่อให้เกิดความขัดแย้งยิ่งกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงเห็นตรงกันว่า หากการเลือกตั้งจะล่าช้าออกไปเพื่อไปดำเนินการให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับก็ไม่ขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม นสพ.เดอะเนชั่น ฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมาอ้างแหล่งข่าวจากวงประชุม ระบุถึงที่มาของข้อสรุปดังกล่าวว่า "ทาง คสช.ตั้งถามต่อผู้เข้าร่วมว่า มีความเห็นอย่างไรหากการเลือกตั้งจะล่าช้าออกไป?"

หากพิจารณาตามขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถ้า สปช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะสามารถเลือกตั้งทั่วไปได้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า หรือหากจะเพิ่มขั้นตอนให้มีการทำประชามติ ก็น่าจะขยับไปอยู่ที่ประมาณเดือน พ.ค.

แต่ในวงหารือเพื่อสร้างความ “ปรองดอง” (ที่ผู้เข้าร่วมบางคนมองว่าเป็นการปรองดองของ คสช.กับ นักการเมือง) มีการพูดไปการเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไป 2-3 ปี! จึงเกิดคำถามว่า หากกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญจะช้าออกไปขนาดนั้น ซึ่งหมายถึง “ไม่เป็นไปตามโรดแมพของ คสช.” จะทำได้อย่างไร?

เท่าที่ตรวจสอบดูจะมี 3 สูตร สูตรแรก คือ สปช. ไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องไปเริ่มต้นใหม่ คือตั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สูตรนี้จะทำให้ระยะเวลาในการเดินไปสู่การเลือกตั้งล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปี แต่หากเป็นสูตรนี้ ก็ยังเกิดคำถามว่า คสช.จะไปตั้งใครมาทำงานให้อีก เพราะตอนนี้ก็เหมือนจะตั้ง “ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย” มาจนเกือบหมดแล้ว และใครจะกล้าเข้ามาช่วยอีก

สูตร 2 ทำประชามติ แล้วไม่ผ่านความเห็นชอบ สูตรนี้ก็จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาการแก้รธน.ชั่วคราว ว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะให้ทำอย่างไร เช่นอาจจะให้ไปเริ่มต้นใหม่ หรือไปหยิบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไขแล้วนำมาใช้

สูตร 3 นายกฯ ใช้อำนาจตาม ม.44 ดำเนินการใดๆ เช่น อาจจะบอกว่าเนื่องจากมีแนวโน้มว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ฉะนั้นจึงสั่งให้ดำเนินการเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ เช่นอาจจะเปิดให้รับฟังความเห็นให้กว้างขวางขึ้น คือขยายกรอบเวลาก่อนที่จะส่ง สปช.ให้ความเห็นชอบออกไป

ในยุคที่นายกฯย้ำเสมอว่า “อยู่ในภาวะไม่ปกติ” สูตรที่ 3 น่าจะสวยที่สุด!