บก.แซลมอน ผู้ชายว่ายทวนน้ำ

บก.แซลมอน ผู้ชายว่ายทวนน้ำ

ใครว่าบรรณาธิการต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้แต่ ณัฐชนน มหาอิทธิดล จะลบทุกภาพจำของบรรณาธิการด้วยคำว่า 'สวนกระแส อร่อยและเท่'

หากปลาแซลมอนคือนิยามของความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ สวนกระแส อร่อยและเท่ ณัฐชนน มหาอิทธิดล ก็เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ สวนกระแส อร่อยและเท่ ไม่แพ้กัน
เพราะเขาคือผู้กุมบังเหียนสำนักพิมพ์สุดแนวนามว่า 'แซลมอน' สำนักพิมพ์ในเครือบันลือ แค่ชื่อสำนักพิมพ์ก็บอกอยู่แล้วว่าหนังสือแต่ละเล่มถูกควบคุมการผลิตให้เป็นไปในทิศทางไหน ปลาแซลมอนเป็นอย่างไรหนังสือก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญคือมีเนื้อหาที่รสชาติเอร็ดอร่อย อ่านแล้วติดใจจนหยุดไม่ได้ ดังเนื้อปลาแซลมอนสารพัดสูตรที่ถูกนิยมกันระดับโลก
และมีคำกล่าวหนึ่งว่า "บรรณาธิการ" เป็นอย่างไรสำนักพิมพ์ก็เป็นอย่างนั้น ...

๐ บุคลิกบรรณาธิการกับบุคลิกสำนักพิมพ์คล้ายๆ กัน?
ไม่ใช่เฉพาะหนังสือนะ นิตยสารก็เป็น ซึ่งผมว่ามันก็ถูกเพราะเกี่ยวกับรสนิยม เกี่ยวกับการคัดเลือกหนังสือ เกี่ยวกับการคัดเลือกเนื้อหามาลง ก็เกี่ยวกัน แต่แซลมอนหลีกเลี่ยงได้ยากประมาณหนึ่ง คือผมอยากทำหนังสือที่อยากอ่าน มันคือรสนิยมของผมเลย อยากทำหนังสือที่ไม่มีบนแผง กวนๆ อ่านแล้วต้องสนุก และคนอ่านไม่เครียด พอไม่เครียดก็ตีกรอบไปอีกว่าต้องมีอารมณ์ขันนิดหน่อย ซึ่งมันก็เวิร์คดี
พอทำอย่างนี้มาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นแบรนด์ มันหนีไม่ได้เลย พอหนีไม่ได้ก็ทำไปเรื่อยๆ คนก็คิดว่าหนังสือแซลมอนต้องประมาณนี้ ก็เลยสร้างจุดจดจำไปโดยปริยาย

๐ เพราะคุณยังเป็นวัยรุ่น แซลมอนจึงมีภาพความเป็นวัยรุ่นเยอะ?
ก็ผมทำให้วัยรุ่นอ่าน ถ้าให้วัยรุ่นอ่านจะต้องทำตัวแก่เหรอ แต่ก็มีบ้างที่วัยรุ่นบางคนชอบอ่านหนังสือแก่ๆ แต่ว่าแซลมอนเป็นวัยรุ่นชัดเจน อะไรใหม่ๆ หรือเปล่าผมาไม่รู้ แต่รู้ว่าแซลมอนกล้าที่จะทำอะไรแปลกๆ โดยที่ไม่กลัวกรอบแห่งความสละสลวย บางอย่างไม่ต้องสวยก็ได้ แต่ต้องให้คนอ่านเข้าใจ แล้วจะรู้สึกสนใจ หนังสือที่ไม่มีคนอ่านก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นหนังสือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาสนใจเรา
ผมเองตอนนั้นอายุ 25 มาเป็นบรรณาธิการบริหาร อาจจะเกี่ยวที่อยู่ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค อยู่ในยุคที่เข้าอินเทอร์เน็ตดูนู่นดูนี่ได้ แต่ตอนที่ทำนั้นพูดตรงๆ ว่าทำงานหนักมาก อยู่ในร้านหนังสือคิโนะคุนิยะวันละแปดชั่วโมง ทำอย่างนี้สามสี่เดือน ดูว่าตรงไหนเขาทำกันอย่างไร สำนักพิมพ์นี้เป็นอย่างไร หนังสือต่างประเทศอันไหนน่าสนใจ เขาออกแบบปกอย่างไร ฟ้อนท์นี้ดี ผมเดินตะแคงหัวดูจนคอจะเคล็ดน่ะ เข้าออกร้านซีเอ็ด ร้านนายอินทร์ทุกวันเลย เจอร้านหนังสือไม่ได้ ต้องเข้าไปดู

๐ ที่ต้องทำเพราะคอนเซปท์แซลมอนคือสวนกระแส?
ทุกครั้งที่เสิร์ชหาคำว่าแซลมอน จะได้ปรัชญากลับมาตลอดเลย ใช่ แซลมอนสวนกระแส อร่อย ไม่เชื่อไปลองค้นดู คนพิมพ์อยากกินแซลมอน ที่นู่นที่นี่บุฟเฟต์ ไปถล่มกัน โอเค มันอร่อยชัวร์ ประโยชน์มีอยู่แล้ว จริงไม่จริงไม่รู้ ป๊อปแน่นอน ลองไปเสิร์ชคำว่าทูน่าสิ จะไปเจอแต่เป็นส่วนผสมของอาหาร แซลมอนมันกินได้สดๆ ทอดก็ได้ ต้มก็ได้ นึ่งก็ได้ กินสดยังได้ กินหนังก็ได้ ไข่มันก็ยังกินได้ เอกลักษณ์มันเต็มเปี่ยม
แซลมอนโตในที่นีชที่พิเศษเฉพาะ มีแหล่งวางไข่น้อยมาก แต่กลับไปใช้ชีวิตในทะเล เรื่องราวเหล่านี้ผมเก็บมาเป็นแนวคิดในการทำหนังสือได้เยอะมากเลย ถ้าเกิดในที่นีช เราควรไปโตในที่แมสหรือเปล่า นี่มันจึงกลายเป็นโจทย์ของเรา

๐ ทำสำนักพิมพ์ในประเทศนี้ยาก แต่ทำไมกล้าเสี่ยง?
มันยาก แต่ผมมั่นใจว่าไปได้แน่ๆ รู้สึกว่าไม่มีทางเจ๊ง มีคนบอกว่าให้เผื่อใจไว้ แต่ผมไม่เคยเผื่อเลยเพราะภาพในหัวชัดเจนมาก ต่อให้ออกมาแล้วมีคนบอกว่าคล้ายๆ a book หรือคล้ายๆ อะไรก็ตาม แต่ผมว่าไม่ใช่ พอได้ชื่อแซลมอนมา ผมโคตรมั่นใจเลย เพราะชื่อถูกบังคับให้แตกต่างอยู่แล้ว ก็เลยไม่กลัว อาจจะกลัวก็ได้ตอนที่รู้ว่าต้นทุนจริงๆ คือเท่าไร แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการประหยัด
ทางบริษัทแม่ให้โอกาสแซลมอนเยอะ อาจเป็นเพราะไม่เห็นสัญญาณว่าจะพัง ก็เลยกล้าเสี่ยงกับเรา เอาเข้าจริงๆ มันอยู่ที่การคลิกคอนเซปท์ อย่างเช่นมีใครสักคนอยากทำหนังสือเกี่ยวกับทรัพยากรโลกเชิงสร้างสรรค์ ก็อยู่ได้ทำได้ถ้าเขาทำถึง มีไอเดียที่เชื่อว่าคนอ่านอยากอ่าน
ถ้าตีความว่า ผู้อ่านทุกคนใฝ่รู้แต่เอาเข้าจริงร้อยคนจะมีคนใฝ่รู้สักสิบคนหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางคนก็อาจไม่ใช่ ชีวิตฉันเครียดมากเลย อยากอ่านหนังสือเบาสมอง งั้นทำไมไม่ทำหนังสือเกี่ยวกับทรัพยากรที่สร้างสรรค์แต่เบาสมองด้วย มันอยู่ที่การคิดคอนเซปท์พวกนี้ เอาเข้าจริงไม่ได้ยาก แต่การจะมาเป็นคอนเซปท์ที่มั่นคงได้นั้น ผมว่ายาก
คอนเซปท์ของแซลมอนก็เลยกว้างๆ คือ สวนกระแส สนุก มีประโยชน์ สามอย่างนี้เอง แต่สำนักพิมพ์แซลมอนต้องหนีอยู่สองอย่าง เรื่องแรกหนีความเชยของบันลือ จะบอกว่าเชยก็ไม่ได้เพราะตลาดเขาเป็นอย่างนี้ เพียงแต่มันถูกคิดว่าเชยโดยปริยาย พอแซลมอนทำกับบันลือก็ถูกคิดว่าจะเป็นแบบเดียวกันหรือเปล่า พอไปแนะนำตัวกับน้องๆ ที่มหาวิทยาลัย ว่ามาจากบันลือสาส์น ภาพเราก็เป็นแบบแมสๆ ทั้งที่ไม่ใช่ เราโคตรจะนีช วัยรุ่นมากๆ เมื่อก่อนโลโก้เป็นแค่ปลาตัวเดียวด้วยซ้ำ โคตรอาร์ตเลย

๐ ทำไมถึงแตกต่างและกล้าขนาดนี้?
ผมก็คิดนะว่ากล้าขนาดนี้ได้อย่างไร เช่น การตั้งชื่อหนังสือถ้าไม่สละสลวยก็คงไม่มีใครอยากซื้อ อันนี้คือแนวคิดเดิมๆ เราพลิกมุมมองเป็นชื่อตลกๆ หรือชื่อที่กึ่งๆ สร้างสรรค์ กวนๆ เราใช้ตรงนี้เยอะ แล้วมันดันไม่มีภาพที่คนเหยียดก็เลยคลิก ซึ่งไอ้ความกล้าตรงนี้มาจากไหนก็ไม่รู้
เราไม่ได้นิยมอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจดี หรือดูมีความสุขดี เราเป็นพวกที่อยากทำให้คนหัวเราะ อยากให้คนมีความสุขเวลาอยู่ด้วย ต่อให้ไม่สุขก็ไม่อยากทำให้เครียด ซึ่งมันก็เป็นที่มาของสำนวนในหนังสือแซลมอน ซึ่งมีความเป็นเพื่อนเยอะ กูๆ มึงๆ มีทุกหน้าเลย
ผมตอบได้นะ ใครจะพูดผมพูดคุณตลอดเวลาที่อยู่กับเพื่อน มันเป็นบุคลิกในหนังสือของเรา แต่ก็มีกาลเทศะนะ เพียงแค่ในบางจังหวะมันเป็นไปตามธรรมชาติของคนที่ควรจะเป็น ผมควบคุมตรงนี้ได้ดี ผมรู้จักจังหวะ

๐ รักษาสมดุลสำนักพิมพ์แล้ว รักษาสมดุลของชีวิตตัวเองอย่างไร?
ช่วงนี้คิดถึงร่างกาย เดี๋ยวนี้ป่วยง่าย เป็นไมเกรนบ่อย ก็พยายามหาทางบำรุงตรงนี้ให้เยอะ แต่ก็ยังทำไม่ค่อยได้ รักษาสมดุลอย่างไร...(นิ่งคิดชั่วขณะ) อาจจะทำได้ดีอยู่แล้วคือ พยายามจะไม่เครียดกับอะไรบางอย่าง รู้เท่าทันตัวเอง นี่อาจจะโคตรพุทธเลยนะ แต่พยายามจะรู้เท่าทันตัวเองว่าตอนนี้อารมณ์ไหน
งานมันเครียดทุกวันแหละ เจอข่าวร้ายทุกวัน โดยเฉพาะบางอย่างที่เริ่มใหม่ๆ ต้องเตรียมตัวรับข่าวร้าย มันจะมาบ่อยกว่าที่คิดแน่ๆ อย่างแซลมอนแรกๆ ร้ายอยู่แล้ว ร้านหนังสือไม่รู้จักก็ไม่กล้าสั่ง ทำออเดอร์ได้น้อย ตอนนี้ยีราฟก็ได้รับข่าวร้ายบ่อยๆ มันก็อยู่ที่ว่าจะคิดต่อมันอย่างไร
คนเรามันเหมือนตัวแปลงพลังงาน ทุกอย่างเป็นพลังงานอยู่รอบๆ ตัว เพียงแต่จะเปลี่ยนให้เป็นพลังงานสะอาดหรือเป็นมลภาวะ มันขึ้นอยู่กับพวกเรา ส่วนผมพยายามแปลงให้เป็นพลังงานสะอาดให้ได้
...ข่าวร้ายของบางคนอาจเป็นข่าวดีของเราก็ได้ ถ้ารู้จักมุมมอง