'บวรศักดิ์'ลั่นเลื่อนวันเลือกตั้งต้องแก้รธน.ชั่วคราว

'บวรศักดิ์'ลั่นเลื่อนวันเลือกตั้งต้องแก้รธน.ชั่วคราว

"บวรศักดิ์"ลั่นเลื่อนวันเลือกตั้งอย่าพูดลอยๆต้องแก้รธน.ชั่วคราว โบ้ยจนท.ไม่ชำนาญ พิมพ์มติที่ประชุมผิดกลายเป็นแยกงานสอบสวนออกจากสตช.

นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานยุติธรรม พร้อมด้วยนายบวรศักดิ์ ทวิพิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เข้ายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม โดยนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะรับเรื่องไว้พิจารณา หลังจากนี้จะต้องนำร่างแรกกลับไปทบทวนอีกครั้ง จะนำความเห็นจากทุกฝ่ายรวมถึงความเห็นของศาลยุติธรรมเข้าสู่การพิจารณาด้วย

จากนั้นนายบวรศักดิ์ แถลงถึงกรณีที่พรรคการเมืองให้ความเห็นว่า รับได้หากการมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปว่า “คงต้องไปถามตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่ที่พูดว่าเขาพูดเพราะประสงค์สิ่งใด ตนไม่ขอตอบ แต่กรรมาธิการยกร่างฯ มีหน้าที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ต้องเสนอร่างสุดท้ายให้สปช.ในวันที่ 23 ก.ค.เพื่อลงมติในวันที่ 6 ส.ค. ส่วนสปช.จะรับหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของสปช. ซึ่งหากไม่รับก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เพราะทั้ง 2 องค์กรถือว่าต้องสิ้นสุดลง ต้องเลือกกรรมาธิการยกร่างฯ และสปช.ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม หากอยากจะให้มีการขยายเวลาออกไปตามข้อเสนอของพรรคการเมืองก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตามความเห็นแบบนี้ ซึ่งในวันที่ 26 เม.ย.นั้นเตรียมจะทำหนังสือพร้อมทั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังคสช. ครม. สนช. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน เนื่องจากกรรมาธิการยกร่างฯ อยากรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายว่า ส่วนไหนและมาตราใดที่หากคงเอาไว้แล้วจะสร้างความวุ่นวาย”

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอความกรุณาส่งกลับมาด้วยว่า จะให้แก้มาตราไหน แก้ไขอย่างไร แล้วจะให้เขียนใหม่เป็นแบบไหน ระบุมาให้ชัดเจนด้วย อย่ามาพูดรวมๆ ว่าจะสร้างความวุ่นวาย เพราะขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างบทบัญญัติแล้ว รอให้ระบุเป็นมาตรามาให้ชัด ถ้าทำอย่างที่ตนบอกก็ถือว่าเป็นการเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ และกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่มาเหมารวมว่าผลไม้ในเข่งมี 300 ใบ ซึ่งอาจจะเสียไป 5 ใบ ขอให้บอกมาว่า 5 ใบที่เสียนั้น จะทำให้ผลไม้เสียทั้งเข่งได้อย่างไร ตนจะตั้งแท่นรอเลยว่ามาตราไหนจะทำให้เสียหายแก่ใคร เสียอย่างไร และเพื่อผลประโยชน์ของใคร ตนจะรับฟังทั้งนั้น ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้นยังไม่แน่ใจว่าถึงเวลาที่จะมาพูดกันแล้วหรือยัง แต่ความเห็นของกรรมาธิการยกร่างฯ 80 เปอร์เซ็นต์รวมทั้งตนนั้นเห็นว่าต้องทำ แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจของคสช.และครม.ว่าจะเห็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึง มาตรา 111(8) ว่า หมายถึงการตัดสิทธิลงสมัครส.ส.ของบ้านเลขที่ 109 และ 111 ด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เป็นการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ในมาตรา 35(4) ว่า ห้ามไม่ให้ผู้ต้องคำพิพากษาในคดีทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ส่วนมาตรา 111 (15) ที่กำหนดว่า ห้ามผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตนั้น ก็เป็นการเขียนโดยยึดมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550  

นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงบทบัญญัติในมาตรา 282 (8) ที่กำหนดให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วยว่า เนื่องจากกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ส่งข้อเสนอแนะแนวทางปฏิรูปตำรวจมาให้ล่าช้า และเมื่อส่งมาก็มีมา 2 ความเห็นคือ เสนอให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในการทำงานแต่ไม่แยกออกจากสตช. กับเสนอให้แยกงานสอบสวนออกจากสตช. โดยความเห็นดังกล่าวที่ส่งมาลงนามโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายฯ

ทั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ มีมติว่า พนักงานสอบสวนควรมีอิสระแต่ต้องไม่แยกออกจากสตช. แต่ในการพิจารณาในวันดังกล่าวนั้น ตนกับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาฯ กรรมาธิการยกร่างฯ ติดภารกิจไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่พิมพ์เนื้อหาร่างในที่ประชุมนั้นอาจจะไม่มีความชำนาญ จึงทำให้เขียนผิดมติกรรมาธิการยกร่างฯ รวมทั้งอาจจะเป็นความผิดพลาดของตนที่ไม่ได้อ่านทวนอีกครั้งด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรรมาธิการยกร่างฯ จะนำกลับไปแก้คำผิดให้เป็นไปตามมติที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ต่อไป