ถกพื้นฐานหุ้น TPCH ผ่านปาก 'สองหุ้นใหญ่'

ถกพื้นฐานหุ้น TPCH ผ่านปาก 'สองหุ้นใหญ่'

เมื่องานในมือเพิ่ม บวกรัฐปรับระบบรับซื้อไฟฟ้าใหม่ ความรุ่งเรืองจึงมาเยือน 'พีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง' ในปี 60 การผลิตไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์

หุ้น พีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีอะไรดี?    

หลังบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ หรือ mai มาไม่ถึงสัปดาห์ (เข้าตลาดหุ้น 8 ม.ค.2558) 'นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี' เซียนหุ้นวีไอชื่อดัง ตัดสินใจทุ่มเงินซื้อหุ้น TPCH ปัจจุบันถือหุ้นเป็นอันดับ 2 สัดส่วน 54.96 ล้านหุ้น คิดเป็น 13.74% รองจากบมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ที่ถือหุ้น 205.54 ล้านหุ้น คิดเป็น 51.39%

ขณะเดียวกัน 'คุณหมอนักลงทุน' ยังเข้าถือหุ้น ไทยโพลีคอนส์ ในสัดส่วน 6.10 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.21% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 17 มี.ค.2558)  

ในช่วงที่เจ้าของคลินิกเสริมความงามชื่อดัง 'พงศ์ศักดิ์คลินิค' ที่มีสาขากระจายทั่วประเทศมากกว่า 10 สาขา (ในอดีตมีมากกว่า 50 สาขา) ทยอยซื้อหุ้น TPCH เป็นช่วงเดียวกับที่ทางการประกาศเปลี่ยนมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ จากระบบ Adder เป็นระบบ Feed-in Tariff  (FiT) หรือ อัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง

หลังนโยบายดังกล่าวออกมาได้ 4-5 วัน นักลงทุนก็พากันเข้ามาลงทุนหุ้น TPCH ส่งผลให้ราคาหุ้นไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถขึ้นมาสัมผัส 'จุดสูงสุด' ที่ 27 บาท ในวันที่ 9 ก.พ.2558 แต่ก็ยังเข้ามาช้ากว่า 'หมอพงศ์ศักดิ์' ล่าสุด บล.ซีไอเอ็มบี แนะนำ 'ซื้อ' ราคาเป้าหมาย 30 บาท เพราะเชื่อว่า ภายในปี 2561 บริษัทจะขึ้นแท่นผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลรายใหญ่

หลังมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลประมาณ 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 96 เมกะวัตต์ ฉะนั้นบริษัทอาจมีกำไรเพิ่มขึ้น “สิบเท่า” จากการปรับโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่เป็นระบบ Feed-in Tariff  และจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความเห็นของ บล. ทรีนิตี้ ที่วิเคราะห์ว่า กำไรสทุธิในปี 2558 และปี 2559 อาจเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 13%

'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' สอบถาม “จุดสนใจ ของหุ้น TPCH จากปาก “นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” ได้ความว่า ส่วนตัวติดตามความเป็นมาของหุ้น TPCH มานานเกือบปี จากการอ่านข้อมูลผ่าน บมจ.ไทยโพลีคอนส์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเริ่มตัดสินใจซื้อในช่วงที่รัฐบาลประกาศปรับราคารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกจะพบว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้มูลกิจการของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจำนวนมาก

'ผมไม่ได้ซื้อหุ้น TPCH ในช่วงราคาไอพีโอ เพราะพิจารณาแล้วพบว่า ราคาแพงเกินไป แต่เมื่อกิจการเกิดจุดเปลี่ยนจึงทยอยซื้อ ขอไม่บอกราคาต้นทุน วันนี้คงไม่สามารถบอกได้ว่า ราคาหุ้นตัวนี้ในวันนี้แพงหรือถูกเกินไป อยากให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลกันเอง'

เมื่อถามว่า 'จุดเด่น' ของหุ้น TPCH คืออะไร? 'เซียนหุ้น' ตอบว่า หุ้นทุกตัวมักมีทั้ง 'ข้อดี' และ 'ข้อด้อย' ที่นักลงทุนต้องหมั่นตรวจสอบเสมอก่อนตัดสินใจลงทุน สำหรับเรื่องดีๆของหุ้น TPCH ในมุมมองส่วนตัว คือ 1.ธุรกิจหลักของบริษัทมีรัฐบาลคอยสนันสนุน 2.บริษัทมีรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจน ไม่เหมือนบริษัทบางแห่งที่เพิ่งอยู่ในช่วงของกระบวนการทางความคิด

    เมื่อมีจุดเด่นย่อมต้องมี 'จุดเสี่ยง' อาทิเช่น ปริมาณโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างมากอาจทำให้บริษัทขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งเรื่องนี้บริษัทได้แก้ปัญหา ด้วยการชักชวนผู้ค้าวัตถุดิบมาถือหุ้น TPCH ขณะเดียวกันอาจเกิดปัญหาขาดสายส่งไฟฟ้า และปีหน้ารัฐบาลเตรียมจัดโซนนิ่งโรงไฟฟ้า เพื่อแก้ไขการขาดแคลนวัตถุดิบ

    นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงเรื่องการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของชาวบ้าน ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับบริษัทมาแล้ว หลังบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ 'บางสะพานน้อย ไบโอแมส' มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุดท้ายต้องปิดกิจการ แม้ที่ผ่านมา 'เจริญ จันทร์พลังศรี' (เสียชีวิต) ผู้ก่อตั้ง บมจ.ไทยโพลีคอนส์ จะลงไปพูดคุยกับชาวบ้านด้วยตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

    เขา ย้ำว่า ทุกวันนี้ยังคงเน้นลงทุนหุ้นระยะยาวเหมือนเดิม ผลการลงทุนในปีก่อนก็เติบโตตามเป้าหมาย แต่ขยายตัวเท่าไหร่ ขอไม่พูดถึง เพราะไม่ใช่สาระสำคัญของการลงทุน นักลงทุนที่ดี คือ ต้องเชื่อในตัวเองมากกว่าคนอื่น

    คุณหมอนักลงทุน ไม่ลืมที่จะแนะนำว่า ธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้บนความเชื่อมั่น ยังคงน่าลงทุนในช่วงที่จีดีพีของประเทศขยายตัวต่ำ ซึ่ง ราคาหุ้นตัวนั้นต้องไม่แพง ส่วนกลุ่มที่ต้องระวัง แน่นอนคงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค แต่ก็ไม่ได้หมายถึงทุกตัว

    'อย่าซื้อหุ้นตามผม แต่จงซื้อหุ้นจากเหตุผลที่ตัวเองหามาได้ อย่าเชื่อผมหรือนักลงทุนรายใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นก็เคยผิดพลาดมาแล้ว ฉะนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวไหนจงประเมินมูลค่ากิจการให้ได้เสียก่อน เพราะหากยังหาไม่เป็น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า หุ้นตัวนั้นจะสามารถสร้างกำไรให้เราได้หรือไม่ ฉะนั้นจงเชื่อมั่นใจตนเอง อย่าไปเชื่อคนอื่น หรือบทวิเคราะห์'  

    'เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง คนสนิท “เจริญ จันทร์พลังศรี” อาสาเล่าแผนอนาคตให้ฟังว่า 'ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้' (ยกเว้นภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว) คือ เป้าหมายการทำธุรกิจของตระกูลจันทร์พลังศรี ซึ่งเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับ TPCH แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้ บอกได้เพียงว่า จะพยายามขยายตัวเข้าไปทำธุรกิจให้ได้มากที่สุด

    ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ในภาคใต้แล้ว 4 จังหวัด จากทั้งหมด 14 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง 1 แห่ง กำลังการผลิต 9.2 เมกะวัตต์ จังหวัดสตูล 1 แห่ง กำลังการผลิต 9.2 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทเพิ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ฉะนั้นโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง อาจเริ่มสร้างรายได้ให้บริษัทในปี 2559

    นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 แห่ง และจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ระหว่างรอใบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ขณะเดียวกันยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 แห่ง แบ่เงป็น จังหวัดนครสวรรค์ 2 แห่ง และจังหวัดสมุทรสาคร 1 แห่ง โดยโรงไฟฟ้าจังหวัดสมุทรสาคร และนครศรีธรรมราช ล่าสุดได้ติดตั้งเครื่องจักรไปเกือบครบแล้ว ฉะนั้นอาจเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายในปี 2558

    สำหรับ 'จุดเด่นของโรงไฟฟ้าชีวมวล' คือ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขอเพียงมีวัตถุดิบเพียงพอ ซึ่งรูปแบบการทำงานจะไม่เหมือนพลังงานทดแทนอื่นๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีเวลาผลิตได้เพียงวันละ 6-7 ชั่วโมง ขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลยังมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แถมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย

    เขา บอกว่า ตามแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2562) เราจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 10 เมะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ แต่หลังจากรัฐบาลปรับโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่เป็นระบบ Feed-in Tariff ประกอบกับบริษัทได้ใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดพัทลุงและสตูล เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

    บริษัทจึงปรับแผนธุรกิจใหม่ โดยกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560ปัจจุบันบริษัทมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว 100 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตในปี 2558 จะขยับเป็น 40 เมกะวัตต์ หลังเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ 3 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าแม่วงก์ (MWE) จังหวัดนครสวรรค์ โรงฟฟ้ามหาชัย (MGP) จังหวัดสมุทรสาคร และโรงไฟฟ้าทุ่งสัง (TSG) จังหวัดนครศรีธรรมราช

    'โมเดลการรับซื้อไฟที่เปลี่ยนไป และการมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30-40% เมื่อรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น แน่นอนว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้ าจะเห็นอัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือ P/E ปรับตัวลดลงด้วย'  

    'กรรมการผู้จัดการใหญ่' เล่าต่อว่า สำหรับแผนการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศ 3-5 แห่ง อาจต้องชะลอการซื้อออกไปก่อน เนื่องจากบริษัทที่เรากำลังเจรจาอยู่นั้น ส่วนใหญ่รับซื้อไฟฟ้าในระบบ Adder แต่บริษัทต้องการระบบ Feed-in Tariff เพราะมีอัตรากำรสุทธิที่มากกว่า และมีการคืนทุนเร็วกกว่าระบบ Adder ถึง 2 ปี ฉะนั้นหากบริษัทดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนระบบรับซื้อไฟได้ คงต้องยกเลิกการเจรจาแล้วหันมาลงทุนเองแทน

    สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ประกอบการพิจารณาในการลงทุน ประกอบด้วย 1. จะลงทุนในโครงการที่คาดว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนของโครงการ (IRR) ประมาณ 15%2.บริษัทจะลงทุนในโครงการที่มีความน่าเชื่อถือและมีจริยธรรมในการประกอบกิจการ 3.จะพัฒนาและลงทุนในโครงการที่ได้ศึกษา และสำรวจปริมาณเชื้อเพลิงแล้วว่ามีเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า 4.จะลงทุนในโครงการที่สามารถจัดหาอุปกรณ์หลักและอะไหล่ต่างๆ ได้ในอัตราต้นทุนที่สมเหตุสมผล และสามารถจัดให้มีการบำรุงรักษาภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้

      'ปีนี้บริษัทตั้งใจจะใช้เงินลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเงินดังกล่าวจะมาจากการกู้ 70% ส่วนที่เหลือจะมาจากเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น IPO'

      เขา ทิ้งท้ายว่า 'ตอนนี้เรากำลังศึกษาแผนงานโกอินเตอร์ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานน้ำ ประเทศลาว เราจะเน้นเขื่อนขนาดเล็ก หรือฝ่ายน้ำล้น กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ คาดว่าคงได้ข้อสรุปปี 2559'

                                                        ต้นกำเนิด TPCH

      'เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจพลังงานชีวมวลของบริษัทว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ นำทีมโดย 'เจริญ จันทร์พลังศรี' เจ้าของบมจ.ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY ด้วยการเข้าไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดยะลา เมื่อปี 2548 ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่ง ส่วนตัวผมเองเข้ามาเริ่มงานใน TPOLY ในปี 2551

      แต่เมื่อคุณเจริญมองเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจดังกล่าว ท่านจึงตัดสินใจก่อตั้ง TPCH เพื่อให้เข้าไปก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรก ณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ด้วยความที่ยังไม่เชี่ยวชาญในธุรกิจ ทำให้ต้องใช้เวลารอใบอนุญาตนานถึง 5 ปี ประกอบกับชาวบ้านต่อต้านโครงการ ทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการไป

      หลังจากนั้น TPCH ก็หันมาทำโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับผู้ประกอบการหลายหนึ่ง ตามคำชักชวนของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่บริษัททำธุรกรรมด้วย โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อย ภายใต้ 'ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์' ในปี 2546 และได้จำหน่ายไฟฟ้าในปี 2556 จากนั้นก็ขยายกิจการมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้