ชีวิตดี๊ดีที่ 'สุโข(ทัย)'

ชีวิตดี๊ดีที่ 'สุโข(ทัย)'

หลายคนที่เคยเดินทางมาจังหวัดสุโขทัยอาจประทับใจกับบรรยากาศของสนามบินที่นี่

เพราะมีความงดงาม แปลกตา แถมธรรมชาติสุดๆ เพราะแวดล้อมไปด้วยทุ่งนา และฝูงควาย


ใช่ หมายถึงฝูงควายจริงๆ เพราะเจ้าของโครงการอย่าง นายแพทย์ปราเสริฐ และคุณวัลลีย์ ปราสาททองโอสถ ตั้งปณิธานไว้ว่าจะใช้ผืนดินให้เต็มศักยภาพ และเป็นไปตามสภาพที่ควรจะเป็น แน่นอนว่า ต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมด้วย ฉะนั้นจึงเกิด โครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย พื้นที่เกษตรกรรมแบบไร้สารเคมีขนาดใหญ่ ที่มีนาข้าว สวนผลไม้ แปลงผัก และขาดไม่ได้ก็คือฝูงควายที่เป็นสัญลักษณ์ของเกษตรกรรมไทย โดยเจ้าของโครงการใช้วิธี "ไถ่ชีวิต" เพื่อต่อชีวิตของพวกมัน จนถึงวันนี้มีมากกว่า 300 ตัวแล้ว


สนามบินหลายๆ แห่งอาจเป็นเพียงสถานที่รับ-ส่งผู้โดยสารให้เดินทางไปไหนมาไหนอย่างสะดวกสบาย แต่สำหรับสนามบินสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่นี่เป็น "ร้านขายสุขภาพดี" ที่หาซื้อได้อย่างง่ายดายด้วย


ที่บอกแบบนี้เพราะภายในโครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย มีผลิตผลทางการเกษตรแบบไร้สารเคมีจำหน่าย ทั้งยังมี "ครัวสุโข" ที่เป็นร้านอาหารสุขภาพ มีแปลงผัก บึงบัว โรงสี ไร่สบายสบาย ห้องนิทรรศการ ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ แต่ถ้าต้องการ "เข้าถึง" วิถีแห่งเกษตรกรรมอย่างแท้จริง ที่นี่ก็มีกิจกรรม "ห้องเรียนกลางแจ้ง" ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วย


"จริงๆ จะมีกิจกรรมหลายแบบ แบบเวลาน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง แบบครึ่งวัน แบบเต็มวัน หรือแบบอยู่นานๆ 3 วัน 2 คืน นักท่องเที่ยวเลือกได้เลย กิจกรรมสั้นๆ ก็เช่นไปเก็บไข่เป็ด ซึ่งเป็ดที่เราเลี้ยงเราจะเลี้ยงในนา ให้มันกำจัดหอยเชอรี่ กำจัดวัชพืชในนาข้าว จากนั้นเราก็เก็บไข่เป็ดมาขาย หรือมาแปรรูปเป็นไข่เค็ม พอเก็บไข่เสร็จก็อาจจะนั่งรถอีแต๋นไปชมฝูงควายเผือก ซึ่งเป็นควายที่คุณหมอไถ่ชีวิตมา จากนั้นก็ไปดูโรงสีข้าว ไปดูวิธีคัดแยกเมล็ดข้าวด้วยมือ ก่อนจะเข้าสวนผัก ไปขี่ควาย ดำนา แล้วมาทานอาหาร กิจกรรมจะเป็นประมาณนี้" บุญโฮม หงษ์คำ หัวหน้าร้านค้าและครัวสุโข ภายในโครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย บอก


ขณะนั่งจิบน้ำใบข้าวอ่อนอายุ 15-18 วัน ที่เป็นน้ำสุขภาพเมนูดังของครัวสุโข บุญโฮมก็เล่าให้ฟังว่า โครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย เริ่มต้นจากพื้นที่ทดลองปลูกข้าวแบบไม้ใช้สารเคมีเล็กๆ จากนั้นจึงขยายใหญ่ขึ้น โดยได้อาจารย์สมเดช อิ่มมาก อดีตนักวิชาการด้านข้าว กรมวิชาการเกษตร มาเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว จนมีข้าวหลากสีที่เป็นสายพันธุ์ของโครงการฯ เอง


"ตอนนี้เรามีพันธุ์ข้าว 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมแดงสุโขทัย 1 และข้าวหอมดำสุโขทัย 2 เราพัมนาขึ้นมาและมีจำหน่ายทั้งปี ซึ่งคุณสมบัติของข้าวหอมแดง จะมีแอนตี้ออกซิแดนซ์เยอะหน่อย ส่วนข้าวหอมดำก็จะมีแคลเซียมสูง จากที่เราเคยทดลองปลูก 8 ไร่ ก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่เป็น 100 ไร่ และตอนนี้ก็มากถึง 800 ไร่"


ข้าวกล้องหอมดำเสิร์ฟมาในกระทงใบตอง พร้อมเมนูที่ชวนลิ้มลองอย่างส้มตำผักน้ำ วอเตอร์เครสชุบแป้งทอด ไข่เจียวผักโขม แค่เห็นก็น้ำลายสอแล้ว พอได้ลองชิมจริงๆ ถึงกับต้องยกนิ้่วให้ เพราะรสดีราวกับอยู่ในภัตตาคารดังๆ เลยทีเดียว


"มันเริ่มมาจากว่าจะทำยังไงให้สนามบินมีสีเขียวตลอด แล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิต เลยมาลงที่การทำนาอินทรีย์ แต่ทำนาอินทรีย์ยากนะ เพราะเราต้องทำตามธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้แรงงานเยอะหน่อย ที่นี่เราใช้แรงงานคนในพื้นที่ละแวกนี้เพราะเราต้องการให้คนที่นี่มีงานทำ มีรายได้ พอขยายใหญ่ขึ้น คนเยอะขึ้น เราก็ทำจนเลี้ยงตัวเองได้ จากนั้นจึงมาเปิดเป็นร้านอาหารชื่อครัวสุโข แล้วก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ ส่วนเกษตรกรทั่วไปเราก็ให้ความรู้ด้วย จนที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย"


อิ่มหนำสำราญกับอาหารจานเด็ด ใครใคร่ขี่จักรยานที่นี่ก็มีให้บริการ ส่วนใครที่อยากหลบแดดหน่อยแนะนำให้นั่งรถอีแต๋นจะสะดวกกว่า


ท่ามกลางอุณหภูมิที่ระอุอ้าวราว 40 องศา ชาวนากว่า 10 คนกำลังก้มหน้าปักดำต้นกล้าลงบนนาผืนโต รถอีแต๋นแล่นผ่านแล้วจอดให้นักท่องเที่ยวลงไปทำกิจกรรมดำนากับชาวบ้าน ใครที่ไม่เคยเหยียบโคลนในนาก็ถึงกับอ้าปากค้าง เพราะมันทั้งนุ่มและลื่น แทนที่จะท้อเพราะแดดร้อนก็กลายเป็นเรื่องสนุกสนานไป


กิจกรรมขี่ควายดูเหมือนจะได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยมี "คุณแซม" ควายเผือกสีชมพู กับ "คุณถั่ว" ควายสีนิลดำขลับ เป็นควายต้อนรับแขก และจะพาเดินรอบๆ บริเวณนั้น ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจวิถีเกษตรอินทรีย์แบบนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kaohomsukhothai.in.th หรือ www.facebook.comkaohomsukho


"เราปลูกพืชทุกต้นโดยพึ่งพาธรรมชาติ บำรุงดินอย่างอ่อนน้อม คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตเช่นเดียวกับอาหารที่เราบริโภคเอง และใส่ใจพื้นที่สีเขียวทั้งหมดอย่างทั่วถึง เราปล่อยให้โครงการฯ เติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่คิดจะปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เพราะการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์จนกว้างใหญ่เกินกำลัง อาจทำให้เราไม่สามารถดูแลพื้นที่สีเขียวได้ถ้วนถี่เช่นเดิม เราจึงเลือกเดินบนเส้นทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในวิถีพอเพียง ด้วยรู้ดีว่าสิ่งที่ลงมือทำสามารถสร้างรอยยิ้มมหาศาลแก่ทุกชีวิตที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ไปจนสิ้นสุดปลายทางที่การบริโภค นี่จึงเป็นมากกว่าความศรัทธา และคงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า...เกษตรอินทรีย์คือชีวิตของเรา”


นี่คือปรัชญาแนวคิดของเกษตรกรเกือบร้อยชีวิตในโครงการฯ และความสำเร็จนี้ก็ช่วยยืนยันได้ว่า วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินควบคู่ไปกับหลักแห่งความพอเพียงนั้น สามารถอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย