ฟองฝันบั้นปลายใน 'บ้านตึก'

ฟองฝันบั้นปลายใน 'บ้านตึก'

ถ้ามีสถานที่ที่สามารถสูดอากาศดีๆ เข้าปอดได้อย่างเต็มอิ่ม แล้วจะมัวลังเลอะไร เตรียมพื้นที่ในปอดให้พร้อม และออกไป "หอมกลิ่นธรรมชาติ" กันเถอะ

"บั้นปลาย" เป็นอนาคตที่หลายคนคิดไว้เสมอ โดยเฉพาะคนที่ทำงานอย่างคร่ำเคร่งอยู่ในสังคมเมืองใหญ่ ความวุ่นวายที่พบเจอแทบทุกวันทำให้พวกเขา(บางคน)คิดฝันว่าอยากจะมีชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ


แน่นอนว่า บั้นปลายของหลายคนอาจแตกต่างกันไป แต่ที่ดูจะคล้ายกันมากคงเป็นเรื่องของการหา "ที่พักใจ" ที่ซึ่งอยู่แล้วสงบ สบาย และหายใจได้อย่างอิ่มเอมท่ามกลางธรรมชาติสีเขียว


แล้วต้องอายุเท่าไรกันล่ะจึงจะเริ่มต้นใช้ชีวิตบั้นปลายได้ ต้องรอจน 50, 60, 70 หรือกี่ปี แต่สำหรับคนที่นี่ ทุกวัน ทุกวินาที ชีวิตของพวกเขาเดินไปพร้อมๆ กับความสุขที่ทุกคนเรียกมันว่า "บั้นปลาย"

เปิดรั้วเล่าตำนาน


ถนนเส้นนั้นเล็กแคบและยาวไกล แต่มันก็สะดวกสบายมากพอที่จะนำพาเราไปยังหมู่บ้านเล็กๆ 2 แห่งในตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและพอดี


เราหมายถึง บ้านภูนก และ บ้านนาต้นจั่น สองหมู่บ้านที่ผู้คนใช้ชีวิตแบบไม่รีบเร่งตามกาลเวลา ทว่าไม่เชื่องช้าจนกลายเป็นล้าหลังโบราณ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของทั้งสองหมู่บ้านเป็นชาวไทยวนที่มีบรรพบุรุษอพยพเคลื่อนย้ายมาจากหัวเมืองเหนือล้านนา วิถีชีวิตทั้งการอยู่ การกิน วัฒนธรรม ภาษา จึงใกล้เคียงกับล้านนามากกว่าจะเป็นแบบคนภาคกลาง


อย่างที่บอกว่าหมู่บ้านไทยวนทั้งสองแห่งนั้นตั้งอยู่ในอาณาเขตของตำบลบ้านตึก แต่ก่อนจะเป็นบ้านตึกในอดีตบริเวณนี้คือชุมชนเมืองด้งที่ได้ชื่อมาจาก "เจ้าหมื่นด้ง" ที่เป็นแม่ทัพเอกของพระเจ้าติโลกราชในอาณาจักรล้านนา เมืองด้งในยุคนั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นที่ตั้งกองกำลัง และต่อมาก็กลายเป็นที่ว่าการอำเภอเมืองด้ง แต่เพราะการคมนาคมไม่สะดวกจึงย้ายอำเภอด้งไปตั้งอยู่ ณ บ้านหาดเสี้ยว กระทั่งกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่อให้อีกครั้งเป็น "อำเภอศรีสัชนาลัย" ในปี 2482 เพื่อให้สอดคล้องกับเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อดีตเมืองด้งที่เคยเกรียงไกรในวันนี้จึงเป็นเพียงตำบลเล็กๆ ที่มีชื่อว่า "บ้านตึก"


เรายกมือไหว้เมื่อขับรถผ่าน อนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง ในเขตหมู่บ้านภูนก แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานกว่า 500 ปี แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านทุกคนก็ยังจงรักภักดีต่อเจ้าหมื่นด้งเสมอ โดยวันที่ 17-19 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านตึกจะร่วมกันจัดประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง เพื่อสักการะเจ้าหมื่นด้ง ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความผูกพันของคนกับช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนบ้านตึก


มาถึงตรงนี้หลายคนอาจงงงวยว่า ช้างกับชาวบ้านเกี่ยวพันกันอย่างไร ค่อยๆ อ่านตามตัวอักษรของเราไป เรากำลังจะเล่าให้ฟัง

สืบสานอนุรักษ์


"เจ้าหมื่นด้งขี่ช้างทำสงคราม ท่านชอบขี่ช้าง เพราะฉะนั้นช้างจึงเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านตึก แล้วเมื่อก่อนแถวนี้เป็นป่า ปู่ย่าตายายของเราเลี้ยงช้างไว้ใช้งาน เรียกว่า พญาช้างสาร เป็นช้างที่รู้เรื่อง คือถ้าเกิดชาติหน้าไปก็เป็นมนุษย์ได้เลยแหละ สมัยที่มีการทำสัปทานป่าไม้ที่แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง เราก็ใช้ช้างลากไม้ แต่พอรัฐบาลยกเลิกสัมปทานป่าก็เลี้ยงไว้ในบ้าน แล้วก็ตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน" ลุงเหมือน ละอองทรง ประธานศูนย์อนุรักษ์ช้างศรีสัชนาลัย เล่าให้ฟังขณะที่พวกเรานั่งล้อมวงกันอยู่ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้าง บ้านภูนก


แดดยามสายไม่แรงเท่าลมที่พัดมา เลยยังพอเย็นกายเย็นใจได้บ้าง ลุงเหมือนเล่าต่อว่า พอช้างไม่มีงานทำ บางคนก็พาช้างออกไปเร่ร่อนหาเงิน หรือไปรับจ้างต่างถิ่น และมีจำนวนไม่น้อยที่ไปแสดงโชว์อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จากช้างจำนวน 87 เชือกในหมู่บ้าน จึงเหลือช้างชราเพียง 7-8 เชือกเท่านั้น ลุงเหมือนและคนในชุมชนจึงตั้ง ศูนย์อนุรักษ์ช้างศรีสัชนาลัย ขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ช้างและดูแลช้างชราในรูปแบบ Home Stay พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับช้าง การเป็นควาญช้าง รวมถึงท่องเที่ยวในหมู่บ้าน เพื่อนำเงินรายได้มาช่วยเหลือช้างที่เจ็บป่วยและชรา ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชนด้วย


มาถึงชุมชนที่ใช้ชีวิตแบบเนิบช้า การเดินทางก็ควรจะไปอย่างช้าๆ ด้วย ลุงเหมือนว่า ผู้ชายบ้านภูนกที่เคยเป็นควาญช้างส่วนมากจะมีช้างเลี้ยงในครอบครอง จากที่เคยออกไปเร่ร่อน ตอนนี้หลายคนพาช้างกลับบ้าน และมาเป็นสมาชิกของศูนย์อนุรักษ์ช้างจำนวน 19 เชือกแล้ว พวกเขาสามารถพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวรอบๆ หมู่บ้านได้ ใครชอบป่าก็จะพาขี่ช้างเข้าไปชมป่า หรือพาเข้าไปชมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน แต่เพราะสงสารช้างเกินจะขี่ไหว เราจึงบอกลุงเหมือนว่าให้ช้างลงไปเล่นน้ำพักกายดีกว่า ส่วนเรามีอาสาสมัครเป็นภรรยาควาญช้าง พาเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านแทน

ทอถักด้วยหัวใจ


"สุโขทัยร้อนมาก" จริงๆ มันเป็นเพียงแค่สภาพอากาศ เพราะถ้าวิเคราะห์จากวิถีชีวิตของผู้คน เราจะพบว่า "สุโขทัยเย็นมาก" จริงๆ


ป้าหลงมา เคราะห์ดี บรรจงวางเส้นตอกลงไปขัดลายในแนวขวาง จากนั้นจึงใช้นิ้วมือข้างซ้ายหยิบเส้นตอกแนวตั้งสลับทาง แล้ววางตอกแนวขวางลงไปอีกที ป้าหลงมาทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างใจเย็น จนกระทั่งตอกไม้ไผ่แบบเส้นๆ รวมกันเป็น "กระด้ง" ใบงาม


"สานไว้ขายงานพระแท่น(ศิลาอาสน์)น่ะหนู" ป้าหลงมาบอกแบบนั้น แล้วพอถามว่ามีงานเมื่อไร ป้าบอกว่าวันเพ็ญเดือนสาม มีปีละครั้ง แต่ถ้าว่างจากทำนาป้าก็จะมานั่งสานไปเรื่อยๆ สะสมไว้ จะได้ไม่เสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์


ไม่ต่างจาก พี่หน่อย-ธารารัตน์ หาญณรงค์ ที่นั่งกระตุกกี่ทอผ้าด้วยมืออย่างเนิบช้า และเมื่อเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวอย่างเราเข้าไป เธอก็กุลีกุจอหาน้ำหาท่ามาต้อนรับ


พี่หน่อยบอกว่า ผู้หญิงที่หมู่บ้านภูนกยังทอผ้าเป็น และช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไว้ เวลามีงานประเพณีสำคัญอะไรก็จะพากันสวมใส่ผ้าพื้นเมืองและซิ่นตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนออกไปร่วมงาน ถือเป็นวิถีปฏิบัติที่งดงาม และหาชมได้ที่บ้านภูนกเท่านั้น


สิ่งที่พี่หน่อยบอกกล่าวเห็นจะเป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อเราเลี้ยวรถเข้าไปภายใน วัดบ้านภูนก ศาสนสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน หญิงชายต่างวัยที่อยู่บนศาลานั้น สวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองดูงดงามสบายตา


เราซอกแซกอยู่ในหมู่บ้านภูนกอีกพักใหญ่จนทำให้พบว่า ความเรียบง่ายของชุมชนกับการดำรงตนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ง่ายงาม เป็นชีวิตในฝันของบางคน และมันก็สวยงามจนน่าอิจฉาจริงๆ

อิ่มกายอิ่มสุข


เสียงท้องไม่ได้ร้องดังอะไรมากมาย แต่พอเห็นแผ่นแป้งขาวๆ ที่สุกพร้อมกินอยู่บนหม้อดินใบใหญ่เท่านั้นแหละ สองมือก็รีบคว้าช้อนตะเกียบพร้อมปฏิบัติการทันที


"ข้าวเปิ๊บ" หรือ "ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง" เป็นอาหารประจำถิ่นของผู้คนละแวกนี้ แต่ที่ต้องมาชิมให้ได้คือข้าวเปิ๊บที่ "บ้านนาต้นจั่น" ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านภูนกมาไม่ไกล


ในหมู่บ้านนาต้นจั่นมีร้านขายข้าวเปิ๊บอยู่ 2 ร้าน คือ ร้านแม่เสงี่ยม กับ ร้านยายเครื่อง ความอร่อยไม่ต่างกันเลย จะฝากท้องกับร้านไหนก็ได้อรรถรสด้วยกันทั้งนั้น แต่วันนี้เราเลือกแวะเข้าร้านป้าเสงี่ยม เพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกับ ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น


ป้าเสงี่ยม แสวงลาภ ประธานกลุ่มทอผ้าและโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น บอกว่า ข้าวเปิ๊บ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่นี่ ที่อยากกินก๋วยเตี๋ยวแต่หากินลำบาก จึงใช้วิธีหมักข้าวสารแล้วทำเป็นแผ่นแป้งด้วยการนำมาละเลงบนผ้าขาวบางที่ตรึงไว้กับหม้อดิน พอสุกแล้วก็ใส่ผักที่ปลูกเอง เป็นผักปลอดสารพิษ แล้วใช้ไม้ไผ่สอดแผ่นแป้งพับไปพับมา ตอนพับนี่แหละที่ชาวบ้านออกเสียงว่า "เปิ๊บ" กินกับน้ำซุปกระดูก และไข่ดาวไร้น้ำมัน อร่อยเข้ากันมากๆ นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวพันไข่ม้วน ข้าวแบ ข้าวพันน้ำพริก ข้าวพันน้ำซุบ หมี่พัน เรียกว่า อิ่มพุงกางเลยทีเดียว


หนังท้องตึง อย่าปล่อยให้หนังตาหย่อน เดี๋ยวได้นอนเพลินกันพอดี เพราะที่นี่อากาศดีมาก ว่าแล้วก็ขยับจากร้านข้าวเปิ๊บไปที่ศูนย์การท่องเที่ยวฯ ไปฟังป้าเสงี่ยมเล่าเรื่องราวของบ้านนาต้นจั่น และไปดูวิธีการทำผ้าหมักโคลนที่ขึ้นชื่อของที่นี่กันดีกว่า

ปลุกชีวิตง่ายงาม


ชาวบ้านนาต้นจั่นก็คล้ายๆ กับชาวบ้านภูนก คือมีบรรพบุรุษอพยพมาจากทางเหนือ และใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ตรงนี้มาเป็นเวลาเนิ่นนานนับร้อยปี ชาวบ้านนาต้นจั่นมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ อาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทำนา ปลูกสวนผลไม้ เก็บของป่ามาขาย ยามว่างจากการทำงานภาคเกษตรก็จะหางานอดิเรกเล็กๆ ทำ เช่น พ่อบ้านเก็บซากไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าส่งออก ส่วนแม่บ้านก็ทอผ้า ย้อมผ้าหมักโคลนจำหน่าย เป็นสินค้า OTOP ประจำหมู่บ้าน


"เราต้องขอบคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรานะ ที่ทำให้เราได้รู้ว่า โคลนมีคุณค่า คือผ้าหมักโคลนมันเกิดขึ้นมาจากการสังเกตเห็นว่า ผ้านุ่งผ้าถุงที่พ่อแม่เราใส่ไปทำนามีชายผ้าที่นุ่มมาก ชายผ้านิ่ม ตัวผ้าข้างบนแข็ง ซึ่งมันนิ่มเพราะโคลน เราก็เลยลองมาทำผ้าหมักโคลนกัน ปรากฏว่าได้ผ้าที่มีเนื้อนิ่มและมีน้ำหนักมาก" ป้าเสงี่ยม เล่าให้ฟัง


ภายในศูนย์การท่องเทียวบ้านนาต้นจั่น จะมีแม่บ้านลงมือย้อมผ้าหมักโคลนทุกวัน ซึ่งสีของผ้าหมักโคลนนั้นจะเป็นสีธรรมชาติที่ได้มาจากเปลือกไม้ เช่น สีเขียวอ่อนจากใบหูกวาง สีเขียวเรื่อๆ จากใบจั่น สีเหลืองจากขมิ้น สีดำจากต้นมะเกลือ ฯลฯ พอเหงื่อเริ่มไหลเพราะอยู่ใกล้หม้อย้อมมากเกินไป เราจึงเดินเข้าไปเลือกซื้อสินค้าผ้าหมักโคลนราคาย่อมเยาที่จำหน่ายอยู่ภายในศูนย์ฯ


ป้าเสงี่ยม บอกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาพักแบบโฮมสเตย์ เพราะที่บ้านนาต้นจั่นมีโฮมสเตย์ที่ให้บริการ 12 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้มากเกือบ 100 คน การให้บริการก็เทียบเท่าอินเตอร์ เพราะกลุ่มแม่บ้านเคยเดินทางไปศึกษาดูงานไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ส่วนกิจกรรมก็จะมีตั้งแต่พิธีรับขวัญ การตักบาตรยามเช้า จากนั้นก็ชมวิถีชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน อาจจะปั่นจักรยานที่มีให้บริการ 36 คัน หรือเดินทางด้วยวิธีอื่น ไปดูการทอผ้าตามใต้ถุนบ้าน ชมการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไปดูแปลงปลูกผักไร้สาร หรือแวะที่บ้านตาวงษ์ ชมการทำตุ๊กตาบาร์โหน


รอยยิ้มจริงใจบนใบหน้าของ ตาวงษ์ เสาร์ฝั้น พลอยทำให้เราอารมณ์ดีจนต้องยิ้มตามไปด้วย ปีนี้ตาวงษ์อายุ 87 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรง สดใส แถมยังเหลาไม้สักเป็น "ตุ๊กตาบาร์โหน" ได้อย่างน่ารักทีเดียว ซึ่งตุ๊กตาบาร์โหนที่ว่านั้นเป็นการนำไม้สักเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของเล่น ตาวงษ์ บอกว่า เด็กๆ ชอบเล่น หรือจะเอาไว้เป็นเครื่องออกกำลังกายนิ้วป้องกันนิ้วล็อคก็ได้ เราอุดหนุนตาวงษ์มา 2 อัน ในราคาแค่อันละ 150 บาท นำกลับมาให้ผู้สูงอายุที่บ้านเล่นก็ชอบใจกันใหญ่ เพราะได้ขยับนิ้วมือทั้งวัน


..........................


บ้านหลังเล็กๆ สักหลัง แปลงผักขนาดพอประมาณสัก 2-3 แปลง อาจจะเลี้ยงเป็ดไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน พอแดดร้อนก็มานั่งสานกระบุงตะกร้า หรือหาอะไรเล็กๆ ทำ ความสุขง่ายๆ ที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่มีอยู่จริงและเป็นชีวิตที่ดำเนินไปทุกวันของคนในตำบล "บ้านตึก"


ชีวิตไม่ใช่เรื่องยากหากเรามองมันให้ง่ายขึ้น แต่ความง่ายนี่แหละที่หลายคนบอกว่า "ยากเหลือเกิน"


......................


การเดินทาง


ตำบลบ้านตึก อยู่ห่างจากอำเภอศรีสัชนาลัย ประมาณ 15 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสุโขทัยประมาณ 72 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มาได้หลายรูปแบบทั้งเครื่องบิน มีสายการบินบางกอกแอร์เวย์สให้บริการ สอบถาม โทร. 0 2270 6699 หรือ www.bangkokair.com หรือรถไฟ แนะนำให้มาลงสถานีสวรรคโลก สอบถาม โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th ส่วรรถโดยสารประจำทาง ให้ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต2) มีรถทัวร์ให้บริการหลายบริษัท หรือจะจองตั๋วออนไลน์ก็สะดวกดี รายละเอียดที่ โทร. 1490 หรือ www.transport.co.th


สำหรับรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย คีรีมาศ เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย แล้วตรงไปศรีสัชนาลัยโดยใช้เส้นทางเดิม หรือจะใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยา มุ่งสู่นครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ตรงไปจังหวัดพิษณุโลก และเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย เลี้ยวขวาต่อไปทางหลวงหมายเลข 101 จนถึงศรีสัชนาลัย แล้วไปต่อบ้านตึกก็ได้


ติดต่อชุมชนบ้านภูนก ลุงเหมือน ละอองทรง โทร. 08 6207 6072 ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ป้าเสงี่ยม แสวงลาภ โทร. 08 9885 1639 หรือรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานสุโขทัย โทร. 0 5561 6228-9