เจาะแผนเอกชนประมูลคลื่น4จี

เจาะแผนเอกชนประมูลคลื่น4จี

เจาะแผนเอกชนประมูลคลื่น 4จี

การได้รับไฟเขียวให้ กสทช. จัดประมูล 4จีได้ หลังถูกชะลอออกไป 1 ปีจากกำหนดการเดิมเดือนต.ค.2557 เป็นพ.ย.-ธ.ค.2558 เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ จากภาวะที่ผู้ให้บริการมือถือต่างคลำหาทางออกเพราะคลื่น 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่ถือครองมีเพียงรายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้


"เอไอเอส"ภาวะดิ้นรน
เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ที่ผ่านมา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เสียเปรียบคู่แข่งอีก 2 รายไปพอสมควร เพราะต้องนำคลื่นไปดูแลลูกค้า 3จีทั้ง 30 กว่าล้านรายเพียงอย่างเดียว แบ่งคลื่นออกทำ 4จีเพื่อสร้างกิมมิค หรือเป็นจุดขายดึงดูดลูกค้าไม่ได้


ที่ผ่านมา เอไอเอส ทราบดีถึงข้อจำกัด ที่มีคลื่นให้บริการเพียง 17.5 เมกะเฮิรตซ์ในระบบสัญญาสัมปทานเดิมกับบมจ.ทีโอที และคลื่น 3จี อีก 15 เมกะเฮิรตซ์ จึงแก้เกมด้วยการลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ขยายโครงข่ายขนาดเล็ก (สมอลล์ เซล) และโครงข่ายเคลื่อนที่สำหรับจุดที่ใช้งานสูงและหนาแน่น รองรับผู้ใช้ได้ราว 50 ล้านราย


เอไอเอสเชื่อว่าการให้บริการ 4จีที่เหมาะสม ใบอนุญาตควรอยู่ที่ 20 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป และเตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้


“ดีแทค”กับความท้าทายใหม่
ขณะที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งต้นเดือน เม.ย. มีข่าวการลาออกพร้อมกัน 4 คนของผู้บริหารระดับสูงที่ปลุกปั้นแบรนด์ “แฮปปี้” มาตลอด 10 ปี


นับเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเข้ารับตำแหน่งของนายลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ โดยดีแทควางเป้าหมายจะมีลูกค้าใช้บริการ 4จี จำนวน 2.5 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมี 9.7 แสนราย


จากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และดีแทคมองเห็นโอกาสทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า 4จี จึงหารือบมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้ให้สัญญาสัมปทานย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 50 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งใช้งานจริง 25 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อคืนคลื่นที่เหลือไปสมทบการประมูล


"ทรู"เผชิญศึกหนัก
แม้ทรูมูฟ เอชจะได้เปรียบผู้ให้บริการอีก 2 ราย จากที่มีคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ที่ให้บริการขายส่งกับบมจ.กสท โทรคมนาคม ใช้แบนด์วิธบริการ 3จีได้ 15 เมกะเฮิรตซ์ และมีคลื่น 3จี ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์อีก 15 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเปิดบริการ 4จีจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทรูเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่มี 4จีบริการลูกค้า


แต่การประมูลที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า กำลังจะทำให้ความได้เปรียบจากการมี 4จีให้บริการเพียงรายเดียวหมดไป ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาดีแทคก็เปิดให้บริการ 4จีไปแล้ว และมีลูกค้าไล่จี้หลังมาเกือบจะมียอดเท่ากัน และด้วยจำนวนโครงข่ายที่ทุ่มขยายหากเทียบจาก 3จีที่ผ่านมา เมื่ออัพเดทเทคโนโลยีแล้วเปลี่ยนมาเป็น 4จี สถานะของทรูก็จะเผชิญศึกหนักอีกครั้ง


รายใหม่เตรียมลงแข่ง
นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กสท ให้ความสนใจเข้าประมูล 4จี โดยตั้งทีมศึกษามาระยะหนึ่งแล้วเพื่อไม่ให้ตกขบวนของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งได้ทาบทามและเจรจาหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเข้าประมูล และให้บริการ 4จี ก่อนตั้งบริษัทลูกร่วมกันต่อไป


นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสมิน กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทตั้งใจเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4จี โดยประเมินเงินลงทุนไว้ 25,000-35,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเจรจาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประเทศ 3 รายจากเกาหลีและญี่ปุ่นเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรเข้าประมูล


แหล่งข่าววงการโทรคมนาคม ระบุว่า การเปิดประมูล 4จีครั้งนี้ เอไอเอสหวั่นใจจะมีมือที่ไม่เห็น หรืออุปสรรคใดที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ทำให้การประมูลต้องชะลอออก เพราะเอไอเอสต้องการใบอนุญาต 4จีอย่างมากและไม่เกี่ยงเรื่องราคาอย่างแน่นอน ส่วนดีแทคค่อนข้างลอยตัวกับการประมูล เพราะมีคลื่นความถี่มากที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย แต่สิ่งที่ดีแทคต้องเจอคือศึกภายในองค์กรที่เปลี่ยนมือเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหาร


ขณะที่กลุ่มทรูยังมีกระแสการเตะตัดขาการประมูล 4จีเพื่อคงสถานะความได้เปรียบของตัวเองต่อไป ส่วน กสท และจัสมิน กรุ๊ป ถูกมองเป็น"ไม้ประดับ"ของการเคาะราคา จากที่ยังไม่มีศักยภาพการให้บริการ