โฟกัส 'ปมร้อน' ร่างรัฐธรรมนูญ สปช.เรียงคิวชำแหละสัปดาห์นี้

โฟกัส 'ปมร้อน' ร่างรัฐธรรมนูญ สปช.เรียงคิวชำแหละสัปดาห์นี้

(รายงาน) โฟกัส "ปมร้อน" ร่างรัฐธรรมนูญ สปช.เรียงคิวชำแหละสัปดาห์นี้

ระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้กำหนดจัดประชุมเพื่ออภิปรายรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 315 มาตรา โดยประเด็นที่คาดว่าจะมีการอภิปรายและตอบโต้กันมาก น่าจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

เปิดช่องนายกฯมาจากคนนอก

ในประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดว่า หากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกฯ มีที่มาจากส.ส. ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด และหากเป็นนายกฯ ที่มาจากบุคคลภายนอก ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภา โดยระบุสาเหตุว่าเพื่อต้องการเปิดช่องในยามวิกฤติที่สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่


โดยประเด็นนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ได้แสดงความเห็นคัดค้านเพราะเห็นว่าการให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ อาจจะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จึงเห็นควรทำเป็นบันไดหนีไฟ 2 ขยัก คือ นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. แต่กรณีที่มีความจำเป็นเกิดวิกฤติไม่สามารถหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ได้ จึงให้สรรหามาจากบุคคลภายนอก โดยต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และควรอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อแก้วิกฤติเพียง 1 ปี เว้นแต่ไม่สามารถแก้วิกฤติได้ ให้ขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาขอเพิ่มระยะเวลาทำหน้าที่ออกไป 1-2 ปี

เลือกตั้งส.ส.สัดส่วนผสมแบบเยอรมนี

กมธ.ยกร่างฯ มีมติให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบสัดส่วนผสม ตามแบบประเทศเยอรมนี โดยกำหนดให้มีส.ส.จำนวน 450 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต 250 คน และส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 200 คน
การเลือกตั้งระบบนี้ กมธ.ยกร่างฯ ให้เหตุผลว่าจะทำให้มีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งเกินไป เพราะระบบนี้มีโอกาสน้อยที่จะมีพรรคการเมืองเดียวได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จึงมีโอกาสที่พรรคการเมือง 2-3 พรรคจะต้องร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม


ทั้งนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.เห็นว่า การคำนวณสัดส่วนคะแนนยังสับสนอยู่และประชาชนจะเข้าใจยาก อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในเรื่องการแบ่งภาค และไม่ชัดเจนว่าจะให้ประชาชนเลือกทั้งพรรค หรือเลือกเป็นรายบุคคล หากเลือกเป็นรายบุคคลแล้วมีหลายพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร จะทำให้มีจำนวนผู้สมัครมากเกินไป ซึ่งจะต้องมีการเสนอปรับแก้ไขต่อไป


ขณะที่การได้มาซึ่ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้ใช้ "ระบบโอเพ่นลิสต์” ที่นอกจากประชาชนจะลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบแล้ว จะต้องลงคะแนนเลือกบุคคลที่แต่ละพรรคเสนอมา เพื่อจัดลำดับ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้จัดลำดับ ส.ส.ในพรรคของตนเอง
ประเด็นนี้ กมธ.ยกร่างฯ ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการให้สิทธิประชาชนจัดอันดับส.ส.ตามที่ตนเองต้องการ และเป็นการ “สกัดกลุ่มทุน” ที่จะเข้ามาในรูปแบบของส.ส.บัญชีรายชื่อ


แต่ในมุมมองของพรรคการเมืองใหญ่อย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” ต่างออกมาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ระบบดังกล่าวจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะจะต้องมีการแข่งขันขันกันเองภายในพรรค จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง
ทั้งนี้คาดว่า สปช.หลายคนก็น่าจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมด้วยเช่นกัน

ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

กมธ.ยกร่างฯ เปิดโอกาสให้ “กลุ่มการเมือง” เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น โดยสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างพรรคการเมืองซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาล กับกลุ่มการเมืองที่ตั้งจากสมาคม


อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช.ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค หรือไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคจะให้เกิดปัญหาไปใหญ่ เนื่องจากพัฒนาการของพรรคการเมืองนั้น เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มที่ไปรวมตัวกันทางการเมือง มารวมกันเป็นพรรคการเมือง


แต่กลับร่างรัฐธรรมนูญให้มีกลุ่มคนที่สามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ทำให้ย้อนถอยหลังกลับไป ซึ่งทำให้ระบบพรรคการเมืองเสีย จึงควรจะปล่อยให้พรรคการเมืองเดินไปด้วยความเข้มแข็ง ขอถามว่าการให้ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นกลับจะยิ่งทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น

ส.ว.จากสรรหา-เลือกตั้งทางอ้อม

กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม 123 คน และให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน รวมเป็น 77 คน โดยส.ว.จังหวัดนั้นก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ว.ต้องผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการสรรหา และตรวจสอบประวัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน โดยกำหนดให้ 1 จังหวัดแบ่งกลุ่มผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น 10 ด้าน ให้กรรมการสรรหาคัดเหลือด้านละ 1 คน แล้วให้ประชาชนลงคะแนนเลือก


สำหรับอำนาจของส.ว.เพิ่มขึ้นจากเดิมมากเพราะมีสิทธิเลือกนายกฯ มีอำนาจถอดถอนนักการเมือง ตรวจสอบพฤติกรรมของคณะรัฐมนตรี และเสนอกฎหมายได้


ในประเด็นนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ว.200 คน ส่วนที่มาควรให้มาจาก 2 สายหลัก คือ จากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คนเหมือนเดิม ส่วนอีก 123 คน ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ


โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ยืนยันหนักแน่นว่า หากจะให้ส.ว.มีอำนาจมากมาย ต้องให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อให้มีความยึดโยงกับประชาชน

สมัชชาคุณธรรมฯถอดนักการเมือง

สำหรับการถอดถอนนักการเมืองที่ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มี “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ทำการไต่สวนแล้วชี้ว่า นายกฯ, รัฐมนตรี, ส.ส. หรือ ส.ว.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ หาพบผิด ให้ส่งเรื่องให้


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำรายชื่อผู้ทำผิดไปทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพื่อให้ประชาชนลงมติว่าจะเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี หรือไม่


แต่ประเด็นนี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เห็นว่าอาจเกิดความยุ่งยากในกระบวนการ และใช้เวลามากเกินไปในการรอการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าหากมีการกระทำผิดจริงให้ กกต.ส่งเรื่องไปยังสมัชชาคุณธรรมฯ เพื่อตรวจสอบและหากมีมูลว่ากระทำผิดจริง ให้บุคคลที่ถูกถอดถอนยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ