'คำนูณ' ทำใจ ถูก 'สปช.' ซักร่างรธน.

'คำนูณ' ทำใจ ถูก 'สปช.' ซักร่างรธน.

"คำนูณ" ทำใจ! ถูกสปช.ซักร่างรธน.หนักแน่ ชี้ สปช. สนใจภาคการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง แม้สังคมพูดถึงน้อย

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อชี้แจง ร่างรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระหว่างวันที่ 20 -26 เม.ย.นี้ ว่า ก่อนการประชุมเวลา 8 นาฬิกา กรรมาธิการยกร่างฯจะประชุมเพื่อทบทวนและเตรียมการขั้นสุดท้าย ซึ่งได้มีการแบ่งหน้าที่ให้กรรมาธิการฯแต่ละท่านชี้แจงแล้ว โดยผู้ที่ชี้แจงก็จะเป็นกรรมาธิการฯที่รับผิดชอบในแต่ละภาคแต่ละหมวดที่ได้ร่วมพิจารณามาตั้งแต่ชั้นอนุกรรมาธิการ

 

โฆษกกมธฯยกร่างฯ กล่าวว่า ทำใจไว้แล้วว่าคงถูกซักมากทุกประเด็น เพราะสมาชิกได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีความสนใจและอ่านมากคงมีข้อสงสัยบ้าง โดยเฉพาะภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง แม้ว่าสื่อและสังคมภายนอกจะพูดเรื่องนี้น้อย แต่สปช.ให้ความสนใจมาก ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งกรรมาธิการฯก็พร้อมรับฟังและปรับแก้ หากเห็นว่าความเห็นมีน้ำหนักโดยรับฟังด้วยเหตุและผล

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่มีสปช.บางคน ไม่สบายใจที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับที่มาสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้มาจาก สปช. 60 คน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะถูกครหาได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ นายคำนูณ กล่าวว่า มีทั้งสปช.ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในทุกประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญก็มีแรงกดดันอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่ากรรมาธิการฯรับฟังความเห็นสิ่งที่แตกต่าง และข้อเสนอในการปรับแก้ เพื่อไปตัดสินใจในช่วง 60 วันสุดท้ายคือ 25 พ.ค.-23 ก.ค.58

  

โฆษกกมธฯยกร่างฯ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องกำหนดที่มาของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศให้มาจาก สปช.60 คน เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างและยั่งยืนจนประเทศปฏิรูปได้ คือ ต้องมีกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปต่อไป ส่วนสังคมจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ยินดีรับฟังและมาดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะถ้ากลับไปสู่ปกติทางการเมืองอาจไม่สามารถปฏิรูปได้ เนื่องจากนโยบายการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงจะไม่นำประเด็นที่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงไปดำเนินการโดยตรง แต่ถ้าเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหาก็ยินดีที่จะรับฟัง

 

นายคำนูณ กล่าวว่า ในส่วนของภาค 4 มีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตาม รธน.ชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35(7) กำหนดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยั่งยืนและป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ของประเทศและประชาชนในระยะยาว และในมาตรา 35(10) ยังระบุด้วยว่า ให้มีกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่กรรมาธิการฯดำเนินการก็เป็นไปตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้