'คาร์บอมบ์ภาคการเมือง' เครือข่ายทักษิณ VS คณะนำ กปปส.

'คาร์บอมบ์ภาคการเมือง' เครือข่ายทักษิณ VS คณะนำ กปปส.

(รายงาน) "คาร์บอมบ์ภาคการเมือง" เครือข่ายทักษิณ VS คณะนำ กปปส.

ปรากฏการณ์ “ระเบิดการเมือง” หลังสงกรานต์ เริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์กันแล้ว เมื่อกระบอกเสียง “อำนาจเก่า” กลับมาออกอากาศกันอีกครั้ง หลังจากถูกคำสั่ง กสท.ปิดชั่วคราว 7 วัน


สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม PEACE TV ออกอากาศเมื่อ 16 เม.ย. เวลา 24.00 น. เปิดรายการด้วยเพลง “นกสันติภาพ”


สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ‪‎TV24 เปิดสถานี เวลา 00.01 น. วันที่ 18 เม.ย. ด้วยเพลง “คิดถึงจัง” ขับร้องโดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ซึ่งเนื้อหาบอกเล่าความคิดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคนเสื้อแดง


ก่อนหน้าที่ “จอแดง” สองช่องจะกลับมาออกอากาศ เมื่อ 15 เม.ย. พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ Facebook ส่วนตัว Oak Panthongtae Shinawatra โดยมีเนื้อหาวิพากษ์ คสช. อย่างรุนแรง


“ถ้า คสช.จะใช้ มาตรา 44 ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ ควรใช้ตบปาก พวกชักใบให้เรือเสีย เป็นอย่างแรกครับ..”


“พวกชักใบให้เรือเสีย” หมายถึงกลุ่มแกนนำ กปปส. ที่คอยให้ข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่เกาะสมุย


“3 จังหวัดภาคใต้ใครเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่อิทธิพล ของนักการเมืองคนใด ถ้าจะก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ใครจะเป็นผู้กระทำได้สะดวก มีหรือการข่าวระดับประเทศจะไม่รู้ไม่เห็น ถ้ามีคนบงการจริงๆ จะต้องระบุให้ชัดว่าเป็นใคร ไม่ใช่ไฟเขียวปล่อยให้ลิ่วล้อ ออกมาเห่าหอนกันเปรอะไปหมดแบบนี้”


นี่คือ “คาร์บอมบ์ภาคการเมือง” ที่ถูกจุดชนวนใหม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยังแกะรอย “มือระเบิด” บนเกาะสมุยอยู่อย่างเคร่งเครียด


จริงๆแล้ว ความร้อนแรงของสถานการณ์การเมือง เริ่มจาก ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. วิเคราะห์ 2 เหตุการณ์คือคาร์บอมบ์ในเกาะสมุย และไฟไหม้สหกรณ์สุราษฎร์ธานีว่า มุ่งเน้นทำลายหรือวางเป้าหมายที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นฐานการเมืองเดิมของ พระสุเทพ ปภากโร และเป็นการสร้างสถานการณ์เชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายต่อต้านที่ไม่หวังดีต่อรัฐบาล และ คสช.


กล่าวสำหรับสหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือที่รู้จักกันในนาม “โคออป” ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ และยกระดับรายได้ของประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของพระสุเทพ หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยเป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานี


พลันที่เกิดเหตุไฟไหม้โคออป ทำให้นักวิเคราะห์ข่าวการเมือง ต่างก็นึกถึงพระสุเทพทันที แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ แต่คนทั่วไปก็แอบคิดล่วงหน้าไปแล้วว่า มันไม่ใช่อัคคีภัยปกติแน่นอน
เมื่อถาวร เสนเนียม ฟันธงเสร็จ ก็ตามมาด้วย พระสุเทพ ปภากโร ที่กล่าวระหว่างพบปะกับชาวบ้านที่ อ.สวี จ.ชุมพร ว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่วนหนี่งมาจากการสูญเสียอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า จึงขอให้ประชาชนเตรียมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ


ถัดมาอีกวัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โต้ตอบทันที ด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน twitter.com/ThaksinLive โดยมีข้อความว่า


“ถึงพระสุเทพ เราหยุดมานานแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด ท่านบอกท่านบวชแล้ว 9 เดือน อย่าบวชแต่กาย เพียงนุ่งผ้าเหลืองและโกนหัวเท่านั้น ควรเอาใจไปบวชด้วย เพราะท่านมุสาเป็นประจำ นึกว่านุ่งผ้าเหลืองแล้วจะเลิกมุสา เรารู้จักกันดีพอนะ”


นานเป็นปีแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยพูดเรื่องการเมืองผ่านสื่อใหม่ แม้ช่วงเกิดรัฐประหาร เขาก็แสดงความเห็นกว้างๆ หลีกเลี่ยงการวิจารณ์การเมือง


ผิดกับครั้งนี้ที่ต้องอธิบายปรากฏการณ์ ด้วยภาษาพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “ทักษิณอัดพระสุเทพ”


มิทันข้ามคืน พระสุเทพให้สัมภาษณ์สื่อสั้นๆเกี่ยวกับเหตุระเบิดอีกรอบว่า “ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับกรรมนั้น หนีไม่พ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ทุกคนก็ทราบกันดี”


เหนืออื่นใด กองเชียร์ของฝ่ายทักษิณ และฝ่ายพระสุเทพ ต่างก็ตอบโต้กันอย่างดุเดือด ราวกับว่าบรรยากาศการเผชิญหน้าในอดีต จะหวนกลับมาอีก


แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดิน “เกมนิ่ง” ตามยุทธศาสตร์ “เกียร์ว่าง” แต่เมื่อเกิดเหตุคาร์บอมบ์สมุย กลับไม่นิ่ง ต้องออกมาวิวาทะกับพระสุเทพ จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมต้องลุกขึ้นมาโต้ตอบอย่างรุนแรง?


สรุปว่า เหตุคาร์บอมบ์ยังมิอาจคลี่คลายคดีได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดเหตุซ้ำในเร็ววัน ตรงกันข้าม คาร์บอมบ์การเมือง อาจมีลูกที่สองที่สามตามมาอีก เหมือนจงใจท้าทายมาตรา 44

...


(ล้อมกรอบ)


วิบากแห่งวาดะห์ใต้เงา คสช.


แรงระเบิดบนเกาะสมุย สั่นสะเทือนไปถึงปลายด้ามขวาน และนักการเมือง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตกเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้


เมื่อ ซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส.ยะลา พรรคเพื่อไทย และน้องชาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตกรณีคาร์บอมบ์สมุยที่ระบุว่า เป็นเรื่องการเมืองนั้น ดูว่าฝ่ายความมั่นคงจะด่วนสรุปเร็วไป เลยถูกโต้กลับจาก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อย่างฉับพลันทันที


ซูการ์โน มะทา ปรากฏตัวบนถนนสายรัฐสภา ในฐานะตัวแทน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในสนามเลือกตั้้งปี 2550 ซึ่งตอนนั้น “วันนอร์” ต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปี กรณียุบพรรคไทยรักไทย
เมื่อพ้นจากบ้านเลขที่ 111 “วันนอร์” ได้ประกาศฟื้นกลุ่มวาดะห์ เรียกศรัทธาจากคน 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2556


ถ้ายังจำกันได้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา, เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนัจมุดดีน อูมา


นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ “วาดะห์” กลุ่มการเมืองที่เคยรุ่งเรืองสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


ชื่อของกลุ่มวาดะห์ ที่แปลว่า “เอกภาพ” โดดเด่นขึ้นมาในยุคดอกไม้สันติภาพเบ่งบาน บนปลายด้ามขวาน เมื่อสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น ทยอยเดินลงจากป่าเขาเข้ามอบตัวต่อทางการ และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ลงนามยุติการสู้รบกับรัฐบาลมาเลเซีย


ครั้นพล.อ.ชวลิต ได้ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ส.ส.ชายแดนใต้อย่าง เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงได้ไหลมารวมตัวที่พรรคการเมืองของนายทหารใหญ่


การเลือกตั้งทั่วไป 22 มีนาคม 2535 นักการเมืองกลุ่มวาดะห์ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ ได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส


ที่น่าสนใจ คนหนุ่มหัวก้าวหน้า นัจมุดดี อูมา ได้เป็น ส.ส.นราธิวาส เขต 2 สมัยแรก ซึ่งเขตเลือกตั้งที่เขาแจ้งเกิดทางการเมือง ล้วนเป็นเขตสีแดง(เก่า) ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของขบวนการบีอาร์เอ็น


กลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อความหวังใหม่ สมัยรัฐบาลชวน เด่น โต๊ะมีนา ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย สมัยรัฐบาลบรรหาร วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ได้เป็นรัฐมนตรี กระทั่ง พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรี “วันนอร์” ได้เป็นประธานรัฐสภา


ยุคทานตะวันเบ่งบาน “วันนอร์” ยังมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า คนสนิทของวันนอร์ ก็มีบ้านหลังใหญ่อยู่ในอาณาจักรโบนันซ่า เช่นเดียวกับเฉลิมและนักการเมืองอีกหลายคน


จะว่าไปแล้ว วันอันรุ่งโรจน์ของ “วาดะห์” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังจากไฟใต้ที่มอดดับกลับมาลุกโชนอีกในปี 2547 และส่งผลให้เกิด “วิกฤติศรัทธาวาดะห์” ในการเลือกตั้งปี 2548 โดยกลุ่มวาดะห์ในสีเสื้อไทยรักไทย พ่ายแพ้แบบยกกลุ่มเป็นครั้งแรก ท่ามกลางกระแสวิกฤติศรัทธาวาดะห์


เมื่อถึงการเลือกตั้งปี 2554 แกนนำกลุ่มวาดะห์ ดิ้นหนีกับดักวิกฤติศรัทธา ต่างแยกย้ายกันไปสังกัดพรรคมาตุภูมิ และพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไร้เก้าอี้ ส.ส.


แม้ว่าแผนการเจรจาสันติภาพที่มาเลเซีย ในยุค ศอ.บต. ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหัวเรือใหญ่ ได้ชักชวนให้ นัจมุดดี อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาสก้าวมามีบทบาทเป็น “ผู้ประสานงาน” วงนอก


ด้วยความที่รู้จัก “อดีตบีอาร์เอ็น” ก็เสมือนเป็น “ตราประทับ” ที่ทำให้เขาถูกฝ่ายทหารจับจ้องอยู่ตลอดมา และนี่เป็นชะตากรรมมุสลิมหัวก้าวหน้าที่ผันตัวเองเป็น ส.ส. อย่าง “นัจมุดดีน”


ดังนั้นเมื่อเกิดรัฐประหาร ทหารคุมอำนาจเบ็ดเสร็จที่ปลายด้ามขวาน “นัจมุดดีน” จึงตกอยู่ในสภาพกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อไร้เงาของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนอำนาจเก่าที่ถูกส่งมาคุม ศอ.บต.


2 ปีก่อน “วันนอร์” ลั่นคำว่า พวกเขาจะกลับมา แต่ฟ้าก็ไม่เป็นใจ และวิบากครั้งใหม่ กำลังมาเยือนนักการเมืองกลุ่มวาดะห์