'สมบัติ'หวั่นร่างรธน.ทำ'นายกฯ' ไร้เสถียรภาพ

'สมบัติ'หวั่นร่างรธน.ทำ'นายกฯ' ไร้เสถียรภาพ

“สมบัติ” รับ กังวลเนื้อหาและโครงสร้างในรัฐธรรมนูญหลายประเด็น โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หวั่นส่งผลให้นายกรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเตรียมความพร้อมกำหนดกรอบประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในที่ประชุม สปช.ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองในวันนี้ว่า เป็นการประชุมหารือถึงการอภิปรายโดยเฉพาะเวลาการอภิปราย เนื่องจากประธานสปช.มีการปรับเปลี่ยนเวลาการอภิปราย ของคณะกรรมาธิการและสมาชิกสปช. จึงจำเป็นต้องหารือเพื่อจัดสรรเวลาและประเด็นการอภิปรายใหม่

นายสมบัติ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองมีความกังวล ในร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็น ทั้งเนื้อหาและโครงสร้าง อาทิ ให้ ส.ส.ต้องลาออกเมื่อได้เป็นรัฐมนตรี ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่มีประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดที่มีรัฐบาลผสมแล้วนำพาบ้านเมืองไปได้ เพราะจะเกิดปัญหาจากการที่นายกรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพในการบริหารบ้านเมือง รวมทั้งกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองขนาดเล็ก จะเรียกรับผลประโยชน์ หากไม่ได้ก็จะข่มขู่ว่าจะถอนตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เคยเกิดมาแล้วในอดีต เช่นเดียวกับเรื่งการถอดถอน ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้จริงเพราะที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญเคยบัญญัติให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน ก็ยังไม่สามารถทำได้

นายสมบัติ  กล่าวว่า มาตรา182 เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเป็นห่วง จากกรณีที่ให้รัฐบาลเสนอกฏหมายเข้ามายังรัฐสภาได้ โดยให้ระบุว่าเป็นกฏหมายสำคัญ ซึ่งฝ่ายค้านต้องยื่นญัตติ ภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่นจะถือว่าเห็นชอบตามกฏหมาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ถือว่ากฏหมายนี้รุนแรงยิ่งกว่าการออกพระราชกำหนด หรืออาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา

นายสมบัติ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีที่มีการคาดการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกอาจถูกตีตกไปหลังการอภิปรายของ สปช. โดยกล่าวเพียงว่า เชื่อว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับฟังการอภิปรายของ สปช. เพียงแต่ยังคาดหมายไม่ได้ ว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สปช.ได้มากน้อยเพียงใด