จับตา!จัดทัพ 'บิ๊กศธ.' ยุทธการ 'ล้างบาง' ขบวนการหากินกับครู

จับตา!จัดทัพ 'บิ๊กศธ.' ยุทธการ 'ล้างบาง' ขบวนการหากินกับครู

(รายงาน) จับตา! จัดทัพ "บิ๊กศึกษาธิการ" เริ่มยุทธการ "ล้างบาง" ขบวนการหากินกับครู

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 6/2558 โยกย้ายระดับผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นอกฤดูกาล

ดูเหมือนแต่งตั้งโยกย้ายแบบฉับพลันนั้น ทำให้สงกรานต์ปีนี้เป็นที่ลืมไม่ลง สำหรับใครหลาย ๆ คน!

เนื่องจากในคำสั่งดังกล่าวจับข้าราชการระดับ 11 สลับเก้าอี้กันถึง 3 ราย เริ่มจากโยก สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กลับถิ่นเก่า ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา ส่วน พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา ก็กลับถิ่นเก่าไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และดึง นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ. มาเป็นปลัดศธ.


แม้คำสั่งย้ายนี้ มาแบบเล่นทีเผลอ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ซุ่มจัดโผใหม่แบบไม่ให้สุ่มให้เสียงล่วงหน้า และเลือกปล่อยออกมาในช่วงคล้อยหลังเทศกาลสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม การย้ายฟ้าผ่าครั้งนี้ ก็แค่สร้างความตื่นเต้น แต่ไม่ได้สร้างคำถามใดๆ ขึ้นในใจข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการมากนัก


เพราะมีร่องรอยมาก่อนแล้วว่า การทำงานงานของ 5 องค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการนั้น ยังมีจุดอ่อนอยู่ ขณะที่การทำงานของ 2 องค์กรสำคัญอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เริ่มจุดเครื่องติด อาจจะมากบ้างน้อยบ้างแต่ก็ออกตัวไปตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ขณะที่การทำงานของสภาการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ก็มีแนวทางในการทำงานเฉพาะตัว


แต่สำหรับสำนักปลัด ศธ.ซึ่งเปรียบเสมือนแม่บ้านของกระทรวง เป็นคนกลางทำหน้าที่รวบรวมเรื่องจากองค์กรหลักประสานไปยังรัฐบาล และคสช.แล้ว ดูเหมือนการทำงานยังไม่ค่อยลงตัว ขณะเดียวกัน ปลัด ศธ.จะต้องมีบทบาทเป็น “เรือธง” หลัก สำหรับการดำเนินงานช่วงต่อไปของ ศธ. ซึ่งเป็นก้าวย่างที่เกี่ยวข้องกับวงการครูในหลากหลายมิติ และมีงานหินซ่อนอยู่ข้างใต้


การสะสางปัญหาเกี่ยวกับวงการครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิตินั้น เป็นความคาดหวังหนึ่งที่ทั้งคนในรัฐบาล และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องการเข้าไปดำเนินการ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตัวครูโดยตรง อาทิ การปรับปรุงระบบผลิตและพัฒนาครูเพื่อให้ได้คนเก่ง คนดี มาเป็นครู การปรับปรุงระบบให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ และการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินเข้าสู่วิทยฐานะ

ทั้งนี้ งานในส่วนนี้จะเกี่ยวพันกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคุรุสภา ซึ่งอยู่ภายในการกำกับดูแลโดยตรงและการประสานงานของ ปลัด ศธ.


นอกเหนือจากการจัดระบบบริหารบุคคลครูให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นแล้ว งานสำคัญอีกประการ คือ "การล้างบาง" ขบวนการหากินกับผลประโยชน์ของครูผ่านองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะการสะสางสารพัดปัญหาในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และการสะสางทุจริตในองค์การค้า ของ สกสค. ที่ยืดเยื้อมายาวนาน และนับวันจะปูดประเด็นฉาวโฉ่ออกมาเพิ่มขึ้น ให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อหน่วยงานอย่างหนัก


เพราะฉะนั้นเมื่อสั่งย้าย 3 แกนนำดังกล่าวแล้ว จึงตามมาด้วยคำสั่งยุบ 3 บอร์ด ตามคำสั่ง คมช.ที่ 7/2558 ให้ยุบคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษาและคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค.


ในคำสั่งย้าย ให้เหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในศธ.มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น แต่แท้จริงแล้ว เป็นการวบอำนาจการบริหารของคุรุสภา สกสค.และองค์การค้า มาขึ้นกับ รมว.ศึกษาธิการโดยตรง เพราะในคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้บอร์ด สกค.และบอร์ดคุรุสภา ประกอบด้วยรมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ รมช.ศธ. ปลัดศธ. และเลขาธิการองค์กรหลัก เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ) ร่วมเป็นกรรมการ และให้บอร์ด สกสค.นี้ ปฏิบัติหน้าที่แทนบอร์ดบริหารองค์การค้าด้วย


การรวบอำนาจบริหารมาอยู่ที่ รมว.ศึกษาธิการ ทำให้ รมว.ศึกษาธิการ มีอำนาจเข้าไปล้างบาง หรือ กำกับทั้ง 3 หน่วยงาน จากเดิมที่ไม่มีอำนาจมาก่อน

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้ เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการสกสค. ผู้อำนวยการองค์การค้า หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณามอบหมายให้รองปลัดศธ. หรือข้าราชการศธ.ในระดับเดียวกันขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน พร้อมให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สกสค. และองค์การค้าฯ ของสกสค. และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญ


ถ้าปะติดประต่อจากทุกเรื่องแล้ว การย้ายบิ๊ก ศธ. ครั้งนี้ น่าจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการล้างบ้างความไม่ถูกต้องในวงการครู โดยเฉพาะ สกสค.และองค์การค้า จึงจำเป็นต้องจัดทัพกันใหม่ หาคนที่ "แข็ง" และยืนระยะได้นานพอรับมือเรื่องจนจบ แต่ "สุทธศรี" และ "พินิติ" ต่างก็จะเกษียณอายุราชการในปี 2558 ขณะที่ กำจร เกษียณในปี 2559 และยังมีประสบการณ์ในการสอบสวนมาแล้ว ทั้งการสอบสวนปลัด สธ. หรือการเข้าไปจัดการกับปัญหาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง


ก่อนหน้านี้ "กำจร" ได้รับการโปรโมทอย่างชัดเจน ด้วยการได้รับเลือกให้เป็นซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี (คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาด้านการศึกษา) เป็นตัวแทนองค์กรหลักเพียงหนึ่งเดียวที่หลุดเข้าไปได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ครั้งนี้ กำจร จะเป็นผู้ได้รับเลือก ให้เข้ามาเป็นปลัด เพื่อช่วย รมว.ศึกษาธิการ สะสางปัญหาสำคัญเหล่านี้


มีข่าวว่าการโยกย้ายครั้งนี้ ไม่มีผู้บริหารรู้ตัวล่วงหน้า ยกเว้น "กำจร" เพราะฉะนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า การโยกย้ายครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของการเมืองหรือผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรืออาจจะไม่ได้เป็นแม้กระทั่งการลงโทษใคร เพราะทุกคนต่างได้กลับไปตายรังเก่า แต่น่าจะเป็นการเตรียมตัวรับศึกใหญ่ คือ การล้างบางขบวนการหากินกับผลประโยชน์ครู!!