กังวลกรีซกดหุ้นสหรัฐร่วงต่อเนื่อง

กังวลกรีซกดหุ้นสหรัฐร่วงต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงในการซื้อขายเมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) จากความกังวลระลอกใหม่เรื่องกรีซ และประธานาโอบามา เรียกร้องให้กรีซปฏิรูปเศรษฐกิจ

ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 279.47 จุด หรือ 1.54% มาอยู่ที่ 17,826.30 จุด ส่วนดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ปรับลดลง 23.81 จุด หรือ 1.13% ที่ 2,081.18 จุด และดัชนีแนสแด็ก 500 ร่วลง 75.98 จุด หรือ 1.52% ปิดซื้อขายที่ 4,931.81 จุด

ตลาดตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน จากความกังวลระลอกใหม่ ถึงความเป็นไปได้ที่กรีซ อาจจะผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่ประธานาธิบดีบารักโอบามา ออกมาระบุว่า กรีซจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการ เพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนมาสู่สถานะการเงินของประเทศ โดยจะต้องเริ่มต้นการปฏิรูป ต้องเรียกเก็บภาษี ลดจำนวนหน่วยงานราชการลงมา และเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องแรงงานมากขึ้น

ความกังวลเรื่องกรีซ ยังกลายเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นหลักๆ ในยุโรปเช่นกัน โดยดัชนีเอฟทีเอสอี 100 ของอังกฤษ ลดลง 0.93% มาอยู่ที่ 6,994.63 จุด ขณะที่ดัชนีแด็กซ์ 30 ของตลาดแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ดิ่งลงถึง 2.58% ที่ 11,688.70 จุด และดัชนีแค็ก40 ของฝรั่งเศส ร่วงลง 1.55% ปิดซื้อขายที่ 5,143.26 จุด

ราคาน้ำมันลดครั้งแรกรอบ 7 วัน
ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 วัน เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ท่ามกลางความวิตกถึงการจัดหาน้ำมันที่ล้นตลาด หลังข้อมูลบ่งชี้ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค มีการผลิตน้ำมันเกินโควตาที่กำหนดไว้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียท ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ในตลาดไนเม็กซ์ สหรัฐ ปรับลดลง 97 เซนต์ มาอยู่ที่ 55.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะเลเหนือ ส่งมอบเดือนมิถุนายน ในตลาดลอนดอน อังกฤษ ลดลง 53 เซนต์ ปิดซื้อขายที่ 63.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตลาดตกอยู่ท่ามกลางความผันผวน นักลงทุนพากันเทขายออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อทำกำไรทันทีที่ราคาปรับสูงขึ้น เพราะความไม่แน่ใจถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่าจะอยู่ในทิศทางใด ท่ามกลางความวิตกถึงการจัดหาที่ล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่นักวิเคราะห์ออกมาบอกล่าสุดว่า ยังมองเห็นปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อาจมีการจัดหาน้ำมันเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นวันละไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของโอเปคระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางกลุ่มมีการผลิตน้ำมันโดยเฉลี่ยวันละ 30.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นราว 810,000 บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าโควตาที่กำหนดไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ที่จะผลิตวันละ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน