ระวังท่ายาก

ระวังท่ายาก

แพทย์อายุรวัฒน์เตือนถึงภัยใกล้ตัว แค่การเอี้ยวตัว ก้มๆเงยๆ เหยียดสุดแขน ด้วยวัยและสังขารอาจเปลี่ยนให้ท่าทางง่ายๆเหล่านี้ กลายเป็น ผู้ร้ายได้

ในแวดวงการแสดงมี “เวิร์คช็อป” ให้ทำหลายแบบ เป็นต้นว่าเวลาเริ่มรายการใหม่ พิธีกรประจำอย่างผมก็ต้องทำเวิร์คช็อปให้คุ้นเคยกันกับทีมงาน เหมือนกับเป็นเพื่อนร่วมงานหรือบางกรณีก็ต้องให้สนิทสนมเหมือนเพื่อนกัน เช่น รายการที่เป็นเรียลลิตี้แล้วพิธีกรต้อง “เข้าถึง” ไลฟ์สไตล์ของผู้ร่วมรายการ

สนุกสนานได้เพื่อนใหม่กันทุกครั้งครับ

สำหรับอาชีพพิธีกรที่ต่างจากงานตรวจคนไข้ ผมจะใช้ร่างกายในเรื่องของการออกท่าทางเล็กน้อยเพราะต้องการให้สมจริง เป็นต้นว่า ถ้าต้องทำท่าออกกำลังกาย ผมเองก็ต้องลงมือออกด้วยท่าเดียวกันกับที่ออกในรายการ เพื่อให้รู้ว่า ท่านั้นยากง่ายหรือมีอุปสรรคอย่างไร จะได้เข้าใจคุณผู้ชมทางบ้านทุกท่าน

โดยเฉพาะกับท่านที่ไวต่อการเปลี่ยนอิริยาบถ ที่ทำให้เกิดอาการปวดตัวชวนรำคาญ เช่น ปวดต้นคอร้าวไปแขน ปวดบั้นเอวร้าวไปขาหรือว่าปวดทั้งคอ บ่าและไหล่ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากผู้ร้ายใกล้ตัวคือ การขยับตัวท่าต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั่นเอง

ดังขอรวบรวม “ท่ายาก” ที่ทำให้ “ปวดง่าย” ที่ควรระวังมาให้ป้องกันไว้ดังต่อไปนี้ครับ

1) ก้มคอเล่นหน้าจอ ทำให้เกิด “โรคก้มกด” หรือ text neck ทำให้กระดูกต้นคอที่แสนละเอียดอ่อนบาดเจ็บ ใครที่เป็น “มนุษย์ติดจอ” ทั้งจอคอมพ์ สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต ให้ระวัง เพราะมีโอกาสจะปวดคอง่าย เวลาเพลินๆ ติดพันกับการกดจนลืมตัวก้มคอนานๆ จนเกิดอาการเคล็ดได้ มีเทคนิคง่ายๆ คือ แทนที่จะก้มคอเล่น ก็ยกมือถือขึ้นมากดตรงหน้าแทน ไม่ต้องก้มคอมากครับ

2) เอื้อมสุดแขนไปข้างหลัง ท่านี้มักเกิดเวลาขับรถ โดยเวลาขับติดพันแล้วมีเหตุจำเป็นให้ต้องหยิบของที่เบาะหลัง บางครั้งเราไม่อยากเสียเวลารอไฟแดงแล้วค่อยไปหยิบเอา แต่ใช้วิธีเอี้ยวตัวแล้วเอื้อมเหยียดสุดแขนไปเบาะหลัง จนทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นมา ซึ่งแปลว่า เราเสียท่าเข้าแล้ว การบาดเจ็บอย่างนี้จะพาให้ระบมแขนและหัวไหล่ไปนานครับ

3) เอี้ยวตัวยกของ หรือก้มลงยกของหนักแล้วบิดตัวไปด้วย ผมพบบ่อยในคนไข้ที่ทำงานยกกระเป๋าเดินทางหรือต้องออกแรงหนัก ดังนั้น ในท่านที่มีอาชีพจำเป็นต้องยกก็พอมีวิธีลดเสี่ยงได้คือ ให้ฝึกการยกของที่ถูกต้อง ไม่ก้มหลังผิดท่าและไม่เผลอบิดตัวขณะกำลังออกแรงยกขึ้นมา เพราะว่าอาจพาให้หมอนรองกระดูกพังแล้วปวดรุนแรงครับ

4) นั่งยองบ่อยๆ ท่านี้ควรเลี่ยงในผู้ที่ไม่อยากเสี่ยง “ข้อเข่าพัง” เพราะท่านั่งยองเป็นการทับข้อเข่าลงไปเต็มแรงด้วยน้ำหนักของตัวเราและการเบียดของข้อที่พับกันเข้ามา โดยเฉพาะผู้ใหญ่ขอให้รอบคอบที่สุด เพราะข้อเข่าของเรานั้นต่อให้เปลี่ยนอะไหล่ก็ไม่เหมือนของเดิม ถ้าให้ดีควรนั่งราบยืดขาไปกับพื้นหรือถ้านั่งห้องน้ำก็เป็นโถนั่งห้อยขาสบายๆ ดีกว่าครับ

5) นั่งหลังงอพุงยื่น เป็นท่าของมนุษย์ทำงานที่ใช้ชีวิตติดโต๊ะในออฟฟิศ ผมเองก็เป็นมนุษย์นั่งทำงานแบบเดียวกับทุกท่านครับ เลยอยากขอฝากเคล็ดเล็กๆ ไว้สำหรับคนหัวอกเดียวกันคือ ถ้าต้องนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง ขอให้จัดเก้าอี้และท่านั่งให้พยุงหลังกับรองก้นสักนิดคือ จัดให้ไม่ถึงกับหลังตรงแหนวแต่ไม่งอและก้มจนเกินไปครับ

ในชีวิตเรายังมีอีกหลายอิริยาบถที่ไม่ควรยึดเป็นสรณะไว้นานเกินไป เพราะในบางท่าแค่เสี้ยววินาทีก็ทำให้ “เกิดเรื่อง” ขนาดชีวิตเปลี่ยนได้แล้ว ยกตัวอย่างคนไข้ผมต้องถูกผ่าตัดด่วน เพียงเพราะก้มตัวไปผูกเชือกรองเท้าผิดท่าจนหมอนรองกระดูกปลิ้นไปทับประสาท เพราะว่าท่าง่ายๆ ที่เรารู้สึกว่าทำนิดเดียวไม่น่าจะพอกระไร อาจกลายเป็น “ท่ายาก” ที่ทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อต้องทำงานอย่างหนักก็ได้
ขอให้มีสติในทุกอิริยาบถครับ

*บทความโดย นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เผยแพร่ในคอลัมน์กายคิดจิตกำหนด กรุงเทพธุรกิจกายใจ ฉ.อาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2558