ขีดเส้นวัดทั่วประเทศ แจ้งครอบครอง'งาช้าง'ก่อน21เม.ย.

ขีดเส้นวัดทั่วประเทศ แจ้งครอบครอง'งาช้าง'ก่อน21เม.ย.

“กรมอุทยานฯ” วอนวัดทั่วประเทศ แจ้งครอบครองงาช้าง เตือนพ้น 21เม.ย.นี้ มีความผิด โทษปรับไม่เกิน3ล้านบาท

นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงความคืบหน้าการแจ้งครอบครองงาช้างว่า หลังจากกรมอุทยานฯได้ประกาศให้ประชาชนมาแจ้งครอบครองงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างภายใน 90 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีจำนวนงาช้างที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว 60 ตัน มีผู้ประกอบการค้างาช้างมาขออนุญาตค้าประมาณ 50 ราย ซึ่งมีประชาชนและผู้ประกอบการค้างาช้างจำนวนมากที่ยังไม่ได้แจ้งครอบครองหรือขออนุญาตค้า แต่ขอชี้แจ้งว่าถ้ามาแจ้งครอบครองภายในเวลาที่กำหนดจะไม่มีความผิด แต่หลังจากวันที่ 21 เม.ย.นี้ไปแล้ว หากพบมีการครอบครองงาช้างแล้วไม่ได้แจ้งไว้ จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท


นายนิพนธ์ กล่าวว่า เมื่อมาแจ้งครอบครองแล้วจะเป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง เพราะจะได้รับใบครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อไปนำไปขายได้ หรือส่งต่อให้เป็นมรดกกับลูกหลานจะเป็นเรื่องถูกต้องทั้งหมด ตามข้อกฏหมาย ยกเว้นให้สำหรับผู้ครอบครองงาช้าง และผลิตภัณฑ์งาช้างที่ไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม หรือเครื่องประดับต่างๆ ไม่เกิน 4 ชิ้น ไม่ต้องแจ้งครอบครองก็ได้ แต่ถ้าจะให้สบายใจก็ขอให้มาแจ้งครอบครองจะดีกว่า


"สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้วัดมาแจ้งครอบครองน้อยมาก ซึ่งตามกฎหมายวัดเป็นนิติบุคคล ต้องแจ้งครอบครอง ส่วนสถานที่ราชการได้รับการยกเว้น ที่ผ่านมาทางกรมอุทยานฯ ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ช่วยแจ้งให้วัดทั่วประเทศที่มีงาช้าง ไปแจ้งครอบครองด้วย ทั้งนี้ หากบางวัดที่ไม่สะดวกในการนำงาช้างมาตรวจสอบ เพราะมีขนาดใหญ่ หรือนำมาจากฐานไม่ได้ ให้แจ้งมาที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวน 21 แห่ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวก จัดทำเอกสารการครอบครองงาช้างให้ถึงวัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง แล้วดาวน์โหลดแบบฟอร์มแจ้งครอบครองได้ที่ WWW.DNP.GO.TH


อย่างไรก็ตาม การเปิดให้มีการแจ้งการครอบครองงาช้างในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้จัดทำฐานข้อมูลงาช้างที่ถูกต้อง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบว่ามีงาช้างที่ผิดกฎหมายเข้ามาหรือไม่ จะเป็นการแก้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นตลาดของการค้างาช้างจากแอฟริกา


ด้านนายจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า หรือ WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า 20,000 คือตัวเลขของชีวิตช้างแอฟริกาที่ถูกสังหารต่อปี ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ “ฆ่าเพื่อเอางา” ผู้นิยมสวมใส่เครื่องประดับงาช้างไม่มีทางรู้เลยว่า กำไล แหวน ต่างหูที่สลักเสลาด้วยฝีมืออันวิจิตรของช่างฝีมือไทยนั้น คือช้างที่ถูกฆ่าด้วยอาวุธสงครามในประเทศแถบแอฟริกา และจำนวนงาช้างที่ถูกจับได้ในประเทศไทยมีมากมายถึง 12 ตันต่อปี จำนวนช้างไทยมีไม่เกิน 4,000 ตัว ช้างไทยซึ่งเป็นช้างเอเชีย จะมีงาเฉพาะตัวผู้
“ถ้าลองคิดว่าครึ่งหนึ่งเป็นช้างตัวผู้ จะมีงาได้ไม่เกิน 2,000 ตัวเท่านั้น ช้างมีอายุขัยประมาณ 70-80 ปี และงาช้างไม่ได้มีทุกปี ไม่ได้ถูกตัดบ่อยขนาดนั้น ความไม่รู้ของผู้บริโภคนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อเพียงเพราะคนขายปิดบังข้อมูล”


ด้านพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าไปดูแลเรื่องการค้างาช้างเป็นพิเศษ ล่าสุดได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อตั้งจุดตรวจ กวดขัน จุดสกัด การลักลอบค้างาช้างและผลิตภัณฑ์งาช้าง ในพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ อุทัยธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ภูเก็ต กาญจนบุรี และเชียงใหม่


นอกจากนี้ได้สั่งการให้ พื้นที่กองบังคับการต่าง ๆ ในจ.ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่า ให้ตำรวจท้องที่ไปสำรวจตัวเลขของพรานป่า เพื่อเรียกมาทำความเข้าใจเรื่องประเด็นการลับลอบค้างาช้าง พร้อมร่วมทำสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ฆ่าช้างเพื่อเอางา

(ภาพ-mnre.go.th)