4จีอย่าช้า '5จี' มาแล้ว

4จีอย่าช้า '5จี' มาแล้ว

บริษัทเน็ตเวิร์คโชว์ผลพัฒนา 5จี ส่งข้อมูลได้กว่า 4จี 40 เท่า คาดรอสัมผัสความเร็วอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี

แม้การประมูลเครือข่ายมือถือระบบ 4จีในประเทศไทยกำลังเริ่มเดินเครื่อง หลังหยุดชะงักไปหลายเดือน และถ้ากำหนดการคร่าวๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ปีหน้าคนไทยคงได้สัมผัส 4จี อย่างเต็มรูปแบบ แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่งรอใคร ส่งผลให้ในเร็ววันนี้อุุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายจะเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่อีกครั้ง หรือยุคของเทคโนโลยี "5จี" ที่การันตีเป็นเครือข่ายมือถือที่มีความเร็วรับส่งข้อมูลได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอุตสาหกรรม

โดยผลการพัฒนาเครือข่าย 5จี ของ "โนเกีย เน็ตเวิร์คส์" ระบุว่า สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่ากูเกิล ไฟเบอร์ถึง 10 เท่า และยังเร็วกว่า 4จีที่ว่าเร็วสุดๆ แล้วในปัจจุบันถึง 40 เท่า

นอกจากนี้ยังมีความเร็วสูงสุดที่ส่งได้อยู่ที่ระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที หรือเทียบได้กับการดาวน์โหลดภาพยนตร์ ความละเอียดสูงลงมือถือสำเร็จได้ในแค่เสี้ยวนาทีเท่านั้น ทั้งยังเป็นความเร็วในระดับที่สามารถดูคลิปความละเอียด 8เค แบบ 3มิติที่ชัดยิ่งกว่าชัดได้สบายๆ บนมือถือ

ช่วงทดสอบความสามารถ
อย่างไรก็ตามแม้เครือข่าย 5จี ของโนเกียจะยังไม่พร้อมประกาศใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ หรือต้องรอไปอีกอย่างน้อย 5 ปี แต่แผนการพัฒนาเครือข่ายไร้สายที่เร็วที่สุดในโลกดังกล่าวก็เริ่มติดตั้งเพื่อทดสอบประสิทธิภาพแล้ว โดยบริษัทได้เริ่มนำไปโชว์ขีดความสามารถในงาน "5จี ซัมมิต" ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย.ที่เมืองบรูคลิน ในสหรัฐ

ทั้งนี้นอกจากโนเกียก็ยังมี "ซัมซุง" ที่ออกตัวว่าเริ่มทดสอบเทคโนโลยี 5จีแล้วด้วยเช่นกัน โดยผลปรากฎว่า 5จี ของซัมซุงมีความเร็วรับส่งข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 7.5 กิกะบิตต่อวินาที หรือราว 75% ของเทคโนโลยี 5จีที่โนเกีย ทำได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเร็วระดับ 5จีจะยากต่อการจินตนาการหรืออธิบายถึงความเร็วที่ได้ในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงเมื่อนำมาใช้งานจริงก็มักจะพบว่า ความเร็วมักจะไม่เป็นไปตามที่ตำราว่าไว้ ซึ่งก็รวมถึง 3จี หรือ 4จีที่ใช้กันในปัจจุบันด้วย โดยโนเกียเชื่อว่า เทคโนโลยี 5จีเมื่อนำมาใช้จริง แม้ในยามที่การจราจรบนเครือข่ายหนาแน่นก็จะยังมีความเร็วรับส่งข้อมูลราว 100 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งก็ยังเร็วกว่าความเร็วสูงสุดของ 4จีถึง 4 เท่า

ความเร็วระดับที่ว่าสามารถทำให้งานที่ยังทำไม่ได้หลายอย่างในปัจจุบันกลับเป็นจริงขึ้นมาได้ เช่น หุ่นยนต์ควบคุมจากระยะไกลที่สั่งการได้เสมือนกับใช้คนจริงๆ ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำให้ขีดความสามารถในการรองรับข้อมูลของเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกถึง 10,000 เท่า ทำให้เครื่องมือต่างๆ นับพันล้านชิ้นที่มีอยู่บนโลกสามารถเชื่อมต่อกันและสื่อสารกันได้ราบรื่นผ่านระบบ หรือทำให้ "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" เป็นจริงขึ้นมา

ความถี่สูงส่งสัญญาณคลื่นสั้นลง
อย่างไรก็ตามโนเกียทดสอบ 5จี บนคลื่นความถี่ 73,000 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ปัจจุบันเครือข่ายมือถือส่วนใหญ่ที่ใช้กันในโลกอยู่ที่ช่วงคลื่น 700-3,500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งการใช้ช่วงคลื่นสูงๆ จะมีผลต่อตัวเครื่อง หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานที่จะต้องดีไซน์ใหม่ให้รองรับคลื่นความถี่ในย่านที่สูงขึ้่นด้วย

นอกจากนี้การใช้คลื่นความถี่สูงๆ จะมีช่วงคลื่นที่ส่งสัญญาณได้สั้นลงทำให้การใช้งานภายในอาคาร หรือผ่านผนังได้น้อยลง ซึ่งจำเป็นต้องติดตั้งเสาขนาดเล็ก หรือ "สมอลล์ เซลส์" ตามอาคาร บ้านเรือน หรือแม้แต้ห้องต่างๆ ถี่มากขึ้น

ทั้งนี้ทำให้สถาปัตยกรรมเครือข่ายจะต้องถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงเครื่องปลายทางของผู้ใช้ ขณะที่การติดตั้งเสาสัญญาณใหม่ที่จะต้องถี่ขึ้นกว่าเดิมก็ดูจะยังเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ แต่บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายก็ยังคงมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งสัญญาณ 5จีไปถึงมือผู้ใช้ให้สะดวกมากขึ้น

รวมถึงทางออกสำหรับการส่งสัญญาณคลื่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะหากลองจินตนาการถึงการดูวิดีโอความละเอียดชัดทะลุระดับ 8เคบนมือถือ ซึ่งแปลว่าผู้ใช้จะต้องถูกเก็บค่าบริการดาต้าในอัตราสูงขึ้นมหาศาล ทางที่พอเป็นไปได้คือผู้ให้บริการจะใช้วิธีส่งข้อมูลจากมือถือสู่มือถือแทนที่จะให้มือถือแต่ละเครื่องเชื่อมต่อโดยตรงกับเสาสัญญาณเหมือนวิธีที่ใช้ปัจจุบันหรือเรียกว่า "เมช เน็ตเวิร์ค (mesh networks)" ซึ่งเริ่มทดลองใช้กับคลื่นแอลทีอี-ดี ที่เป็นการสื่อสารแบบมือถือสู่มือถือ

ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจะส่งรูปให้เพื่อน ก็แค่ใช้วิธีส่งผ่านสัญญาณวิทยุจากมือถือ หรือ beam ไปโดยตรงไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายหรือไวไฟ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยจนถึงปี 2563