การออกทัวร์ของ ตัวโน้ต ในต่างแดน

การออกทัวร์ของ ตัวโน้ต ในต่างแดน

กระแสดนตรีหมอลำในหมู่นักฟังต่างแดน ได้จุดความหวังให้แก่วงการเพลงไทยในวันนี้ ต่อความพยายามที่จะเปิดประตูบานใหม่ไปสู่เวทีสากล







นับเป็นความใฝ่ฝันของนักดนตรีชาวไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า ในการก้าวออกจากพื้นที่เล็กๆ ของประเทศ เพื่อไปประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าในเวทีต่างแดน เพราะถึงที่สุดแล้ว ความฝันก็อาจเป็นความจริงได้ในวันหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราวัดมุมมองความสำเร็จนั้นจากหลักเกณฑ์ใด


ในกรณีของ บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรที่เคยคว้ารางวัลจากเวทีประกวดคอนดักเตอร์ของ ลอแรง มาร์แซล แม้จุดออกสตาร์ทในระดับ "student grade" จะทำได้ดี แต่ "หนทางพิสูจน์ม้า" ทำให้วันนี้เขาดูจะเปลี่ยนวิชาชีพไปเป็น "นักสร้างแรงบันดาล" ใจเสียแล้ว

ขณะที่รางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดครั้งแรกของนักกีตาร์คลาสสิก อย่าง เบิร์ด เอกชัย เจียรกุล ดูจะไม่เพียงพอ เขาจึงเดินทางไปกวาดรางวัลจากเวทีแข่งขันอีกหลายแห่ง เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในฐานะเอตทัคคะทางด้านกีตาร์ ก่อนจะมาลงเอยด้วยรางวัลใหญ่ที่สุดของเวที Guitar Foundation of America กระทั่งได้เซ็นสัญญาเป็น recording artist ให้แก่ค่ายเพลง Naxos

เช่นเดียวกันกับ ณรงค์ ปรางค์เจริญ ผู้ศึกษาวิชาการประพันธ์ดนตรีสากล เลือกจะพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เพื่อมองหาโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงาน แทนที่จะกลับมาสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยที่บ้านเกิด ด้วยความเชื่อมั่นว่า ที่นั่น เขาจะทำงานได้มากกว่า ณรงค์ ปรางค์เจริญ เก็บแต้มจากเวทีประกวดตั้งแต่ระดับโนเนม จากเล็กไปหาใหญ่ ผลงานของเขาได้รับการบรรเลงโดยวงซิมโฟนีในหลายประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับรางวัลระดับโลก อย่าง Guggenheim Fellowship ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า รางวัลที่ใหญ่กว่านี้น่าจะเหลือเพียง "พูลิตเซอร์" เท่านั้น ปัจจุบัน ณรงค์ มีสถานภาพเป็นนักแต่งเพลงประจำวง Pacific Symphony Orchestra

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น นับเป็นการดิ้นรนเพียงลำพังของเอกชน โดยที่ภาครัฐมิได้มีส่วนช่วยเหลืออันใดเลย และเราเชื่อว่ายังจะมีตัวอย่างของนักดนตรีชาวไทยคนแล้วคนเล่า ที่ตัดสินใจก้าวมาสู่เส้นทางนี้ เพื่อผลักดันให้ผลงานการสร้างสรรค์ของพวกเขาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ล่าสุดคือกรณีของ ดีเจมาฟท์ ไซ กับวง The Paradise Bangkok Molam International Band ซึ่งปีนี้ มีกำหนดการทัวร์แสดงดนตรีในยุโรปถึง 2 รอบ ทั้งช่วงฤดูสปริงและฤดูซัมเมอร์ ด้วยความเป็นหมอลำที่ปลุกกระแสความสนใจในหมู่นักฟังเพลงรุ่นใหม่ อย่างน้อยๆ นี่คือวงดนตรีที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ไทยที่ชัดเจนที่สุดวงหนึ่ง

แต่เมื่อ มาฟ์ ไซ ถึงคราวบากหน้า เพื่อไปขอรับการสนับสนุนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน เพียงคนละ 5 หมื่นบาท รวม 2.5 แสนบาท จากผู้ใหญ่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประโยคเพียงไม่กี่ประโยคของอำมาตย์เหล่านั้นก็แทบจะทำให้เราสิ้นหวังกับประเทศนี้ในทันที

"ไปแสดงที่นั่น แล้วคนดูจะรู้ได้อย่างไรว่า มาจากประเทศไทย พวกคุณดูไม่ค่อยเหมือนคนไทยเท่าไหร่ พวกคุณแต่งตัวกันอย่างไร ... แล้วพวกคุณยังคิดจะไปกันอยู่หรือไม่ หากไม่มีเงินสนับสนุนจากที่นี่"
แน่นอนว่า พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนแม้แต่สตางค์แดงเดียวจากกระทรวงที่ว่า !

-1-

"หมอลำ" อาจจะเป็นรูปแบบดนตรีพื้นบ้าน ที่คนไทยบางคนได้แต่ส่ายศีรษะ เพราะไม่รู้จักคุ้นเคย แต่เมื่อผนวกกับทัศนคติที่บิดเบี้ยว ยังพลอยทำให้หลายคนไม่แม้แต่จะแยแสด้วยซ้ำ

แต่เมื่อวงดนตรี "หมอลำ" วงนี้ กำลังมีตารางทัวร์ฤดูใบไม้ผลิในทวีปยุโรป รวมทั้งสิ้น 14 เมือง ใน 6 ประเทศ (สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, สวีเดน, เดนมาร์ก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์) ตลอดทั้งเดือนเมษายนศกนี้ บางที คุณอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติเสียใหม่

ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือ ดีเจมาฟท์ ไซ โปรดิวเซอร์ของโครงการนี้ เล่าถึงประสบการณ์จากการทัวร์ครั้งที่ผ่านๆ มาว่า นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้สมาชิกในวงได้ปรับตัวเข้าหากันและกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
"เมื่อปี 2014 เราไปทั้งหมด 5 สัปดาห์ แสดง 24 งานใน 6 ประเทศ ในระหว่างทริป พี่คำเม่า (เปิดถนน - หมอพิณ) บอกว่าเค้าหลับฝันถึงพระอินทร์ บอกว่าจะได้เพลงใหม่ล่ะ พี่ไสว (แก้วสมบัติ - หมอแคน) ตื่นมา เอ้า มีเพลงนี้ คือต่างคนเริ่มเล่นกันมากขึ้น เริ่มสบายๆ กันมากขึ้น เริ่มไม่เครียดจนเกินไป เริ่มแต่งเพลง ทำอะไรใหม่ๆ กันขึ้นมา หลังจากปีที่สอง มันค่อนข้างจะประสบความสำเร็จมาก..."

นี่คือปรากฏการณ์ครั้งแรกๆ และเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านไทย อย่าง แคน พิณ ร่วมด้วย เบส และกลอง ได้บรรเลงต่อหน้าผู้ชมชาวต่างชาติเรือนพันเรือนหมื่นในต่างแดน ด้วยปฏิกิริยาของผู้ชมกับเสียงดนตรีที่สอดประสานสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืน เพราะโดยปกติ เวลาหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะราชการ พูดถึงการนำวงดนตรีไทยไปแสดงในต่างแดน เอาเข้าจริงๆ การแสดงเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมจริงๆ แต่เป็นเพียงงานออกร้านขายอาหารไทย หรืองานแฟร์เทรดของคนไทย ที่มักจะมีผู้ชมเกือบร้อยละ 90 ที่เป็นคนไทยมากกว่า

แตกต่างอย่างยิ่งกับการแสดงในไลฟ์เฮาส์ หรือในงานเทศกาลดนตรีต่างๆ ในยุโรปของวง The Paradise Bangkok Molam International Band โดยโจทย์สำคัญที่พวกเขาต้องผ่านไปให้ได้ นั่นคือ การประเมินผลตอบรับของผู้ชม ว่าจะได้บวกหรือลบ

แต่ด้วยการทำงานอย่างหนัก การทุ่มเทของสมาชิกในวง แม้กระทั่งการบันทึกการแสดงทุกครั้ง เพื่อพิจารณาและตรวจสอบข้อบกพร่อง ทำให้พวกเขากลายเป็นวงแสดงสดที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นที่มาของตารางการจอง (booked) ที่เนืองแน่นตลอดช่วงซัมเมอร์นี้

"มีอยู่งานหนึ่ง คนดูไม่หลักแสนก็หลักหมื่นปลายๆ เราต้องไปแสดงแทนวงดนตรีวงอื่น พวกเราเริ่มกังวล เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันเป็นไปได้ทั้ง 2 ด้าน เพราะเป็นแนวที่คนไม่เคยได้ยินกัน คนไม่ชอบมากๆ ก็จะเขวี้ยงของใส่เรานะ ไม่รู้ว่าฟีดแบคจะเป็นยังไง สรุปเราคุยกันว่า เราเล่นทุกอย่างที่มันเวิร์ค พอขึ้นไปตั้งแต่เพลงแรก คนกลับเต้นกัน เต้นกันไม่หยุด เปิดใจมาก แล้วพอช่วงกลางๆ โชว์ คนเริ่มกระโดด ยกมือกัน คือเหมือนตะลุมบอนเลย เรามองว่ามันยิ่งใหญ่มากในมุมของนักดนตรี มันพิเศษมากๆ" ณัฐพล กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

ด้าน ปิย์นาท โชติกเสถียร มือกีตาร์วงอพาร์ทเมนต์คุณป้า ในฐานะมือเบสของวงหมอลำฯ บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นดนตรีเบื้องหน้าผู้ชมต่างชาติว่า

"นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนฟังเพลงที่นั่นเปิดใจกว้างกับเสียงดนตรีใหม่ๆ ทำให้เรามีโอกาสสื่อสาร นำเสนอเสียงดนตรีจากประเทศไทย เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีเครื่องพิณเครื่องแคนไปแสดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่นั่น อย่างไรก็ตาม เราเองก็ได้ปรับแนวทางการบรรเลงให้สอดรับกับบรรยากาศของสถานที่นั้นๆ ด้วย เช่น ในพื้นที่ที่เป็นร็อก หรือพังค์ หรือเป็นเวิลด์มิวสิค ด้วยเพลงกว่า 20 เพลงที่เรามีอยู่ตอนนี้ คิดว่ามีความหลากหลายเพียงพอ... ผมเคารพและเห็นในคุณค่าที่นักดนตรีรุ่นครูบาอาจารย์ได้ทำไว้ แต่ถึงเวลาแล้ว ที่เราก็ไม่ควรแช่แข็งทางวัฒนธรรม หรือเก็บซากเก่าๆ ไว้ในนามของการอนุรักษ์ เราต้องต่อยอดดนตรีด้วยการปรับเปลี่ยน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้น เราจะไม่สามารถเติบโตไปไหนได้เลย"


-2-

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นักดนตรีรุ่นใหม่ที่มีความรู้และความสามารถ ต่างดิ้นรน และขยับออกไปหาพื้นที่ใหม่ๆ ในต่างแดนมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อท ยังทำตัวเสมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง แทบจะไม่มีการผลักดันหรือสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม หรือหากจะมีการนำวงดนตรีไปเล่นในต่างแดน บ่อยครั้งเป็นไปเพื่อตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัวของหัวหน้าหน่วยงาน หรือเพราะคอนเน็คชั่นเป็นหลัก

แต่นั่นไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงในโลกโซเชียลมีเดียไปได้ เช่น ภาพการแสดงสดของนักดนตรีชาวไทยคนหนึ่ง บนเวที Mosaic Music Festival เทศกาลดนตรีชื่อดังในสิงคโปร์ ซึ่งถูกโพสขึ้นบนโซเชียลมีเดียยอดนิยม อย่าง "เฟซบุ๊ค" เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ได้ปลุกกระแสที่ว่า ถึงเวลาหรือยังที่นักดนตรีไทยจะก้าวออกไปแสดงศักยภาพในต่างแดน


"เราเป็นแฟนเพลงของเขามานานแล้ว ติดตามดูประจำที่ร้าน ส่วนตัวเชื่อมั่นในฝีมือของเขานะ ว่าไม่แพ้ใคร ฝรั่งคนไหนได้ชมก็อดทึ่งไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่วันหนึ่ง เป็ด จะได้รับเชิญไปเล่นในต่างประเทศ... " หญิง นักท่องเที่ยวขาประจำร้าน แซ็กโซโฟน ผับ แอนด์ เรสเตอรองท์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้ความเห็นด้วยน้ำเสียงชื่นชม ต่อกรณีที่ Ped's Band วงดนตรีบลูส์ที่นำทีมโดย เป็ด ปัฐพงษ์ ศรีสมบุญ มีโอกาสขึ้นเวทีที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมีนาคม 2013
สำหรับนักดนตรีแล้ว การออกไปทัวร์ในต่างแดน ยังมีอุปสรรคอีกหลายด่านที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นพรมแดนทางภาษา , คอนเน็คชั่น , การบริหารจัดการที่จะต้องแข็งขันกว่านี้ รวมถึงการส่งเสริมจากภาครัฐ และ ฯลฯ

เมื่อถามถึงเรื่องนี้ โอ่ง ณัฐชา ปัทมพงศ์ นักร้องนำ และผู้นำวง Mellow Motif บอกสั้นๆ ว่า "ต้องดิ้นรนค่ะ ! "

ในนาม Mellow Motif เธอได้แสดงบนเวที Java Jazz Festival ในนครจาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งขึ้นชั้น "เฟสติวัลระดับโลก" ไปแล้ว

"อยู่นิ่งๆ โอกาสไม่มาหา ต้องขยับ ... โดยปกติ โอ่งจะมีงานต่างประเทศทุก ๆ 2 เดือน เราต้องแม่นยำ ตั้งแต่การทำข้อตกลง สัญญา ทุกอย่างทำบนกระดาษหมด ใช้เพียงการคุยกันไม่ได้ นอกจากนี้ ต้องรู้จักติดต่อ ทำความสัมพันธ์ สร้างคอนเน็คชั่้น ต้องดูแนวทางของงานนั้น ๆ ว่าเหมาะกับเรามั้ย"

หนึ่งในนักดนตรีแถวหน้าของไทย ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงในเวทีสากล เห็นจะหนีไม่พ้น เศกพล อุ่นสำราญ หรือ โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เขารวมตัวกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และมาเลเซีย ออกทัวร์เชื่อมสัมพันธ์ผู้คนทั้งโลก ในนามวง Unit Asia โดยเฉลี่ยมีตารางทัวร์หลักๆ ปีละ 2- 3 ครั้ง ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

"ส่วนใหญ่ งานของ Unit Asia จะเป็นคอนเสิร์ตเดี่ยว ไม่ได้อยู่ในเทศกาลดนตรีใด จึงเน้นงานในส่วนของการบริหารจัดการอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางตารางเวลา ตั๋วเครื่องบิน ชั่วโมงทำงาน การขายบัตร การทำการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ในแต่ละที่ ไหนจะเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนการประสานงานในท้องถิ่นๆ นั้น เช่น ผมไปแสดงที่ไหน ทางทัวร์แมเนเจอร์ คุณฮอมูระ เรียวสุเกะ อดีตผู้จัดการนักดนตรีชื่อดัง ก็จะประสานกับทาง Japan Foundation เพื่อขอความร่วมมือในระดับต่างๆ เช่น อาหารไทยจากสถานทูตไทย สาเก จากสถานทูตญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทุกจัดวางอย่างแม่นยำ บ่งบอกถึงการทำงานในระดับที่เป็นมืออาชีพ และทำให้ผมได้เรียนรู้อย่างมาก "

ในมุมมองของนักแซ็กโซโฟนคนนี้ เห็นว่า ปัจจุบัน เรามีนักดนตรีไทยฝีมือดีมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาด คือบทบาทของการบริหารจัดการ

"นักดนตรีเริ่มรู้จักทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมทตัวเองบางแล้ว แต่ผมยังอยากเห็นการจัดการที่แม่นๆ กว่านี้ ตอนนี้เรามีการเรียนการสอน music management แต่ยังไม่เห็นชัดเจนว่า บุคลากรเหล่านี้จะออกมาสนับสนุนวงการได้อย่างไร คนที่จะวางไทม์ไลน์ หาสปอนเซอร์ ดูเรื่องการเงิน หรือเรื่องต่างๆ ผมเจอคนดูแลศิลปินที่ฮอลแลนด์ เธอเรียน music management อยู่ที่เมืองร็อตเตอร์ดัม เธอพยายามออกมาหาประสบการณ์ ด้วยการทำงานเป็นเบ๊ก่อน เพื่อจะให้เข้าใจว่า โลกการทำงานเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่คนบ้านเรายังขาดอยู่"

จาก Unit Asia โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน ต่อยอดด้วยโครงการ The Sound of Siam ซึ่งมีการผสมผสานเครื่องดนตรไทย อย่าง ซอ ขลุ่ย และ ระนาด ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักฟังต่างชาติเช่นกัน ดังเห็นได้จากตารางทัวร์ในต่างแดนของ โก้ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

-3-

แรงพยายามของศิลปินรายแล้วรายเล่า ในการเปิดประตูบานใหม่ไปสู่สากล น่าจะเป็นเรื่องราวที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะตราบใดที่ประเทศนี้ยังถูกครอบงำด้วยกรอบความคิดแบบเดิมๆ ข้าราชการไดโนเสาร์ที่วันๆ คิดแต่เรื่องเอาอกเอาใจเจ้านาย

แต่แรงพยายามของศิลปินเหล่านี้ น่าจะเป็นบทเรียนให้แก่นักดนตรีรุ่นใหม่ ได้พัฒนาแนวทาง และศึกษาต้นแบบความสำเร็จจากรุ่นพี่ ไม่ว่าจะเป็น เอกชัย เจียรกุล กับรางวัลจากเวทีการประกวด, ณรงค์ ปรางค์เจริญ กับการบทบาทนักแต่งเพลงไทยในต่างแดน หรือจะเป็น The Paradise Bangkok Molam International Band ที่รุกเข้าสู่ยุโรป ด้วยชีพจรอันดีดดิ้นของบทเพลงหมอลำ

"มันเป็นแบบนี้มานานแล้ว ภาครัฐจะไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรอก จนกว่ามันจะประสบความสำเร็จ เราจึงได้ยินแต่เรื่องราวเดิมๆ ของคน ของหน่วยงาน หรือของกิจกรรมอะไรก็ตาม ที่ต้องผลักดันด้วยภาคเอกชนจนสำเร็จ แล้วภาครัฐจึงจะเข้ามา มาเด็ดยอดความสำเร็จไปเป็นของตัวเอง" ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ นักการตลาด ที่มีพื้นฐานความสนใจทางด้านดนตรี กล่าวแสดงความเห็น

ในมุมมองของ ชุมพล การจะส่งออกดนตรีไปต่างแดน ถึงที่สุดแล้ว สำหรับในเมืองไทยถือเป็นธุระของเอกชนโดยแท้ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายการสร้างทุนทางวัฒนธรรมของเกาหลี ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

"ลองดูตัวอย่างเกาหลี ไม่ว่าจะขายวัฒนธรรมเกา หรือเค-ป๊อป ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นมากมาย ศิลปินอย่าง คิมซูยอน สร้างรายได้สูงถึง 2,500 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับเรามากกว่ายุโรป ซึ่งผมคิดว่า น่าจะง่ายกว่ายุโรป หรือตะวันตกด้วยซ้ำ"

ท้ายที่สุด นักการตลาดคนนี้เสนอให้ศิลปินใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับมิตรรักแฟนเพลง ซึ่งจะเป็นช่องทางใหม่ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยในอนาคต อาจจะมีการรวมตัวของเหล่านักดนตรีด้วยกัน เพื่อระดมสมองจัดกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ในต่างแดน

ประตู... ในการก้าวไปสู่เวทีสากลมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะ 'เปิด' ออกไปอย่างไร เท่านั้นเอง.