“ยอดโยโกะ”ศิลปะบนแฟชั่น

“ยอดโยโกะ”ศิลปะบนแฟชั่น

แฟชั่นหลากสีสัน รับบรรยากาศซัมเมอร์ๆ เหมือนได้อวดโชว์ผลงานศิลปะบนเสื้อผ้า นี่คือ แบรนด์ “ยอดโยโกะ” ผลงานของศิลปินผู้หลงใหลศิลปะ

เสื้อผ้าและกระเป๋าแฟชั่นจากผ้าไหมไทย โดดเด่นสะดุดตาด้วยลวดลายเพ้นท์บนผืนผ้า ชนิดที่ต้องพูดว่า “อาร์ตมากๆ” คือ ผลงานแบรนด์ “ยอดโยโกะ” (Yodyoko) ฝีมือดีไซเนอร์ไทยแท้ “ยอด-ศิรัส ตันติยาพงศ์” วัย 32 ปี

วันนี้มองเห็นความสำเร็จ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน เขายังเป็นนิสิตหนุ่มจากรั้วศิลปากร ที่มุ่งมั่นกับความฝันของตัวเองเป็นอย่างมาก และวางอนาคตให้กับตัวเองตั้งแต่ต้น

การเรียน Fine Art คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชักจะมองไม่เห็นอนาคต เมื่อมานั่งคิดว่า จบแล้วจะไปทำอะไรกิน จะเป็นศิลปินใหญ่ แล้วจะเอาอะไรไปสู้ระดับอาจารย์ที่อยู่ในสนามได้ เลยตัดสินใจเรียนต่อ สาขา การออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ เก็บเกี่ยวความรู้ในอีกด้าน มาเป็นบันไดไต่สู่ฝันของเขา

ระหว่างศึกษา เด็กหลายคนอาจหมกมุ่นอยู่แต่กับการเรียน ทว่าหนุ่มยอดกลับเดินสายหาเวทีประกวดเพื่อเก็บประสบการณ์มาตั้งแต่สมัยเรียน

“พูดตรงๆ ตอนนั้นผมไม่สนใจเรื่องเกรดเท่าไร มองแค่อนาคตว่า เราอยากจะทำอะไรต่อไป ผมมีเป้าหมายชัดตั้งแต่แรก ที่อยากเอาศิลปะมาผสมผสานกับแฟชั่น และใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน ผมก็ยึดแนวนี้มาโดยตลอด”

ระหว่างที่เด็กหลายคนเรียนรู้อยู่ในตำรา หนุ่มยอดกลับกระโดดออกนอกตำรา ไปประลองยุทธ์ในเวทีประกวด เริ่มจาก “คอตตอน ยูเอสเอ ดีไซน์ ชาเล้นจ์” (COTTON USA Design Challenge 2008) การแข่งขันออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าจากฝ้ายของเหล่ายังก์ดีไซเนอร์
โจทย์วันนั้นคือ “Passion of Love” ยอดบอกว่า เข้าทางเขาล่ะ เพราะสิ่งที่รักที่หลงใหลก็คือ “ศิลปะ” เลยได้จับศิลปะมาเจอกับแฟชั่น กลายเป็นผลงานที่เฉียบคมและแปลกต่างจากคู่แข่ง สุดท้ายกรรมการตกลงใจยกรางวัลชนะเลิศให้

จากตรงนั้นผู้ชนะเลยได้สิทธิ์เข้าประกวดเวทีที่ใหญ่กว่า อย่าง “สุพีม่า ดีไซน์” (Supima Design Competition) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นดีไซเนอร์มือใหม่ ที่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แต่ต้องเผชิญหน้าคู่แข่งในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

เขามีเวลาประมาณ 2 เดือน ในการเตรียมตัว สิ่งที่ยอดทำ คือ กลับมาทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาตลาดที่โน่นว่าคนเขาชอบอะไร สีอะไร ผ้าแบบไหน เตรียมพร้อมไปอย่างดี ใช้สมาธิและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การประกวดนอกประเทศในครั้งแรก เขาก็คว้า “รางวัลชนะเลิศ” มาครอบครองได้!

ประสบความสำเร็จในเวทีประกวด แต่กลับมาไทยจะเอาอย่างไรต่อดีกับชีวิต เรียนจบแล้วควรทำอะไร ไปสมัครเป็นดีไซเนอร์ ทำงานประจำ ก็ไม่น่าจะใช่ทางของเขา เลยคิดว่า คงต้องทำแบรนด์ของตัวเองเสียที

ยอดยอมทุบหม้อข้าวตัวเอง เอาเงินเก็บที่สะสมจากเวทีประกวดต่างๆ มาตั้งต้นธุรกิจ ทุนก้อนแรกแค่ประมาณ 5 หมื่นบาท ขณะชื่อแบรนด์ก็ใช้ “ยอดโยโกะ” ฉายาที่รุ่นพี่ตั้งให้สมัยเรียนศิลปากร ซึ่งเขาก็ใช้ชื่อนี้ในเวทีประกวดระดับโลกด้วย เรียกว่า ไม่ใช่แค่เพื่อนๆ ที่รู้จัก แต่ฝรั่งต่างชาติก็มักคุ้น

ต้นทุนสำคัญที่เขามีไม่ใช่แค่เงินเก็บ แต่คือ การเป็นทายาทธุรกิจ เกิดมาในครอบครัวที่ทำเสื้อผ้าบาติก เพ้นท์ผ้าขายอยู่แล้ว มาบวกกับการที่เขามีความรู้ทางด้านศิลปะ ดีไซน์ และเข้าใจตลาด แล้วใช้ช่างฝีมือที่บ้านเป็นฐานผลิต ก็น่าจะต่อยอดธุรกิจไปไกลจากเดิมได้

เพราะอยู่กับธุรกิจที่บ้าน เลยทำให้มองเห็นปัญหาใหญ่ กับเรื่องช้ำๆ ที่งานเพ้นท์มือ ซึ่งทั้งทำยาก และใช้เวลา แต่ มักจะถูกกดราคาให้ถูกๆ ยิ่งไปขายในตลาดที่ลูกค้าไม่เก็ตไอเดีย ไม่ให้คุณค่าด้วยแล้ว เรื่องจะให้ยอมจ่ายแพงๆ พูดได้แค่ “ยากส์”

ฉะนั้นถ้าเขาจะเข้ามาทำ ก็ต้องเริ่มจากแก้โจทย์นี้ให้ได้ก่อน นั่นคือที่มาของการ “สร้างคุณค่า” ที่ลูกค้าเข้าใจและยอมจ่าย โดยเริ่มจากจุดแข็งที่จะไปสู้กับตลาดได้

"มาดูว่า ประเทศเรามีอะไร เรามีผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียง เวลาผมไปออกงาน ลูกค้าต่างชาติก็จะมาถามหาผ้าไหมไทย เลยจุดประกายว่า ทำไมไม่เอามาทำ แต่จะทำอย่างไรให้เขาใส่ ก็คงเหมือนกับทำอาหาร ถ้าเรายังทำรสชาติเผ็ดๆ ฝรั่งก็คงไม่กิน แต่ว่าถ้าเอาผ้าไหมมาทำในรสชาติที่เขากินได้ และเป็นของใหม่ด้วย เราก็จะเปิดตลาดได้”

นั่นคือที่มาของการดีไซน์ให้ถูกใจลูกค้าต่างชาติ ซึ่งเป็นตลาดหลักของพวกเขา โดยศึกษาไลฟ์สไตล์ผู้คน ตลอดจนเทรนด์ที่ต่างชาติกำลังนิยม สีที่มองหา และความต้องการที่อยากได้รับการตอบสนอง

บนจุดยืนของการออกแบบ คือ Contemporary ร่วมสมัย, Artistic ความเป็นศิลปะ, Simple เรียบง่าย และ Handicraft ใช้ฝีมือ

“ผมจะไม่ทำอะไรนอกเหนือจากนี้ เวลากำหนดเป้าหมายตรงนี้ชัด ลูกค้าที่ชอบแนวนี้ คือ ชอบในศิลปะ ชอบสีสัน ไม่จำเจ และต้องการอะไรใหม่ๆ เขาจะเข้ามาหาเราเอง”

ขณะการทำสินค้าแฟชั่น เขาย้ำว่า ต้องมีทั้งคาแรคเตอร์และเรื่องเล่า เพราะแฟชั่นไม่ใช่แค่ฟังก์ชั่น แต่เกี่ยวกับ “อารมณ์” ด้วย ก็ในเมื่ออารมณ์ของแบรนด์ต่างกัน กลุ่มลูกค้าก็จะต่างกัน และนั่นเองที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ

เป็นศิลปิน ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจ แต่ทุกประโยคที่คนหนุ่มเล่า ไม่ได้มีอารมณ์เพ้อๆ เวิ่นเว้ออย่างศิลปิน ว่ากันตามตรง กลับตอบโจทย์ธุรกิจได้กระจ่าง

เขาบอกว่า เมื่อไม่รู้ก็พยายามเติมเต็มความรู้ ด้วยการไปลงเรียนคอร์สการเป็นผู้ประกอบการ อบรมที่ไหนก็ไปฟังเพื่อให้รู้ ไม่ใช่ปิดตัวเองอยู่กับแค่การผลิตผลงาน เวลาเดียวกับที่ ต้องเปิดหูเปิดตา เพื่อให้ทันต่อโลก ทันต่อเหตุการณ์ ขยันอัพเดทตัวเอง ผ่านทางสื่อโซเชียลบ้าง นิตยสารต่างชาติบ้าง ตลอดจน ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อให้ได้ “ข้อมูล” มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่โดนใจตลาดโลก

“ถามว่าเก่งไหม ไม่เก่งหรอก แค่พอรู้ อย่างธุรกิจก็พอรู้เรื่อง การติดต่อธนาคาร บริหารคน การตลาด ทำบัญชี พวกนี้บ้าง ผมเป็นศิลปินก็จริง แต่พอเริ่มมีลูกน้อง ก็ต้องมองคนข้างหลังด้วย ก็ถ้าเราขายไม่ได้ แล้วลูกน้องจะอยู่อย่างไร เลยทำให้ต้องพยายามปรับตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด” เขาบอก

ตั้งแต่ยังเป็นก้อนความฝันเมื่อสมัยเรียน ถึงวันนี้ “ยอดโยโกะ” ถือกำเนิดมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว มีวางขายในไทย คือที่ พารากอน เอ็มโพเรียม และ คิง พาวเวอร์ กับออเดอร์จากลูกค้าต่างชาติ ที่ได้จากการไปออกงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เป้าหมาย ในอีก 5 ปี คือจะแตกไลน์สู่ “สินค้าไลฟ์สไตล์” ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า เพื่อให้ศิลปะได้เข้าไปอยู่ในทุกแฟชั่น ตามความฝันแต่แรกของเขา

จากผ้าเพ้นท์ราคาถูกของรุ่นพ่อ กลายมาเป็นแบรนด์แฟชั่นที่ขายกันในราคาหลักหมื่นบาท ขณะที่แบรนด์ “ยอดโยโกะ” ก็เป็นที่รู้จักของคนรักศิลปะและแฟชั่น ทั้งในไทยและต่างประเทศ

เมื่อถามถึงหัวใจของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เขาบอกว่า ต้องมุ่งมั่น ขยัน และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะที่การทำงานทุกกระบวนการ ขอให้ใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” แต่อย่าคิดให้ยาก ต้องคิดให้สนุก ไม่เครียด แต่มีความสุข เราถึงจะอยู่กับมันไปได้ตลอด

เขาย้ำแค่ เริ่มต้นธุรกิจ “คิดบวก” ดีที่สุด

และนั่นก็คือแรงผลักที่ทำให้ศิลปินอย่างเขา ปลุกปั้น “ยอดโยโกะ” จนเฉิดฉายอย่างในวันนี้

..............................
Key to success
โดดเด่นแบบ “ยอดโยโกะ”
๐ ใช้ผ้าไหมไทย มาเป็นจุดขาย
๐ เอางานศิลปะมาผสมกับแฟชั่น
๐ ดีไซเนอร์ระดับมือรางวัล
๐ จับกลุ่ม คนรักศิลปะ ชอบสีสัน ต้องการอะไรใหม่ๆ
๐ เป็นศิลปิน แต่เข้าใจเรื่องธุรกิจ
๐ วางแผนแตกไลน์ไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์