แจงเวทีเผยแพร่ความรู้ร่างรธน.ใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจ

แจงเวทีเผยแพร่ความรู้ร่างรธน.ใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจ

“ถวิลวดี” แจงเวทีเผยแพร่ความรู้ ร่างรธน.ใหม่ ที่เชียงใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจ พร้อมต้อนรับกลุ่มการเมืองในพื้นที่ร่วมเวที

นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุ กรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการจัดเวทีสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 3 – 4 เม.ย. นี้ ว่า เวทีดังกล่าวจะมีผู้ที่เข้าร่วมเวทีประมาณ 200 คน มาจากการคัดเลือกทางสถิติ อย่างมีกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มของภาคประชาชน, หอการค้าจังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ โดยในเวทีดังกล่าวจะมีความเข้มข้นมากกว่าเวทีประชาเสวนาทางออกเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ทั้ง 10 เวทีที่ทำมาก่อนหน้านั้น เพราะจะเน้นการให้ความรู้และรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ 4 เจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญ, รายละเอียดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน, ภาค2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง, ภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ ภาค 4 การปฏิรูและการสร้างความปรองดองมีอะไรบ้าง นอกจากนั้น ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจะมีอะไรใหม่บ้าง เพื่อให้ประชาชนมีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมการมีส่วนร่วม และประเด็นสำคัญ เพื่อนำความเห็นของประชาชนไปพิจารณาทบทวนบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่เกี่ยวข้องต่อไป

“การทำเวทีเผยแพร่ความรู้จะมีการจัดกลุ่มเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนในแต่ละประเด็น เป็นกลุ่มๆ โดยกระบวนการนั้นจะมีการเตรียมพร้อมและกระบวนการเพื่อไม่ให้การนำเสนอความนั้นเป็นภาพของการทะเลาะ หรือตอบโต้กันไปมาจนทำให้เสียเวลาของบุคคลอื่นในการแสดงความเห็น ขณะที่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยอมรับว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มการเมืองและมีความเห็นต่าง หากกลุ่มการเมืองใดจะเข้าร่วม ทางคณะทำงานไม่ปิดกั้น แต่ต้องปฏิบัติตามกติกาที่คณะทำงานได้จัดไว้ รวมไปถึงต้องมองประเด็นที่ทำให้เกิดทางออกและแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ใช่ไม่มองข้ามประเด็นที่เกิดขึ้นผ่านๆ มา” นางถวิลวดี กล่าว

ด้าน พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในเนื้อหาควรเน้นประเด็นของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก นอกจากนั้นควรเปิดให้มีการแสดงความเห็นได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าวหากตนมีโอกาสจะขอเข้าร่วมเวทีด้วย