นักวิชาการ มช. ชี้มาตรา44 เป็นบ่วงรัดขาผู้นำ

นักวิชาการ มช. ชี้มาตรา44 เป็นบ่วงรัดขาผู้นำ

"ศ.ดร.อรรถจักร์" ชี้มาตรการ 44 เป็นกระบองกลวงโบ๋ให้ผู้นำถือขู่เท่านั้น เชื่อจะเป็นบ่วงรัดขาผู้นำให้เดินได้ลำบากขึ้น

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯขอยกเลิกประกาศใช้กฏอัยการศึกและเตรียมนำมาตรา 44 มาบังคับใช้ ซึ่งเป็นการออกมาโดยการคาดการณ์ว่าการใช้กฎอัยการศึกในระยะยาวต่อไปน่าจะก่อปัญหาการต่อต้าน อีกด้านหนึ่ง คือ ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ในระยะยาวอาจจะต้องอยู่ในอำนาจนาน ดังนั้นออกมาตรา 44 มาเพื่อทำให้ผู้นำสามารถยืดการใช้อำนาจออกไปได้


สำหรับมาตรา 44 จะให้อำนาจต่อผู้นำในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เนื่องจากแม้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจสูงมาก แต่พระองค์ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จขนาดที่ระบุไว้ในมาตรา 44 กฎหมายฉบับนี้จะทำให้บุคคลหนึ่งมีอำนาจมากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติผู้นำต่างทราบดีว่าแม้มีอำนาจที่สามารถบังคับใช้เต็มที่ แต่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับกฎหมายประกอบตัวอื่นด้วย ท้ายที่สุด มาตรา 44 กลับจะเป็นบ่วงรัดขาที่จะทำให้ผู้นำเดินได้ลำบากมากขึ้น


“ในความคิดส่วนตัว มาตรา 44 คือกระบองกลวงโบ๋ ที่ผู้ถือกระบองเองก็รู้ว่าใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้น้อยมาก เมื่อรู้อยู่แล้วว่าใช้ไม่ได้จะถือไว้ทำไม หรือเพียงเพื่อถือไว้ขู่คนที่เข้ามา แต่จะกล้าใช้หรือไม่ อยากจะใช้พล.อ.ประยุทธลองใช้ เช่นให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ท้าว่ากล้ามั๊ย ถ้ากล้าออกเลย 44 ทำได้ คุณคิดว่าสังคมจะยอมให้คุณใช้อำนาจโดยขัดกับกฎหมายที่มีมาหรือไม่ ไม่มีทาง ดังนั้นคำถามคือ คนที่ถือกระบองกลวงโบ๋ที่ตีใครก็แตก จะถือไว้ทำไม”ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าว


ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกฎอัยการศึก กับมาตรา44 ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากว่า แต่ในทางปฏิบัติอำนาจในมาตรา 44 ลดลงไปมาก ซึ่งกฎอัยการศึกการที่จะเข้าระงับเหตุ หรือจับกุมจะต้องเหตุที่เกิดขึ้นมาตามลำดับ แต่การใช้มาตรา 44 จะต้องไปอิงกฎหมายอีกหลายตัวที่จะต้องดูประกอบคู่กันไป แต่เป็นการดีที่มีการทูลเกล้าฯ ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อมาใช้มาตรา 44 ซึ่งในทางปฏิบัติจะดำเนินการได้ยากกว่า