วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 31 มีนาคม 2015

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 31 มีนาคม 2015

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงเล็กน้อย หลังโอกาสบรรลุการเจรจาปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน มีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น



-/+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสกลับมาปิดระดับลดลงเล็กน้อย หลังจากปรับลดลงมากกว่า 2% เนื่องจากปัญหาความกังวลเรื่องการเจรจาปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่าน และชาติมหาอำนาจทั้ง 6 จะสามารถบรรลุข้อตกลงขั้นแรกได้ตามกำหนดการในวันที่ 31 มี.ค. นี้ ซึ่งส่งผลให้อิหร่านสามารถจะส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น สร้างความกดดันต่อตลาดในปัจจุบันที่มีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างมาก ล่าสุดนั้นพบว่าการประชุมมีความก้าวหน้า และเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของสหรัฐนั้น โอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงได้มีโอกาส 50-50 เท่านั้น เนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียงแค่ 1 วัน ในการบรรลุข้อตกลง หรือแม้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นได้ ยังมีประเด็นในทางเทคนิคอีกหลายประเด็นที่จะพิจารณาก่อนการบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 เช่น ประเด็นของปริมาณแร่ Uranium

- ตลาดยังคงถูกกดดันโดยอุปทานส่วนเกิน ซึ่งจากการคาดการณ์โดย Reuters พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น

- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของลิเบีย เปิดเผยว่า กลุ่มกบฎได้ถอนกำลังทหารออกไปจากท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider กลับไปยังเมือง Sirte แล้ว หลังจากท่าเรือทั้ง 2 ปิดดำเนินการไปตั้งแต่เดือนธ.ค.57 นอกจากนั้นยังได้แจ้งไปยังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียให้เตรียมตัวกลับมาผลิตน้ำมันในเร็วนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของบริษัทน้ำมันเปิดเผยว่า ยังคงจำเป็นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบก่อน โดยปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอยู่ที่ประมาณ 0.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสามารถกลับมาเปิดดำเนินการท่าเรือทั้ง 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวันได้ จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียกลับมาเพิ่มขึ้น

- ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ Reuters คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค.58 จะปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับ 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 12 ติดต่อกัน สำหรับปริมาณน้ำมันเบนซิน และดีเซลคงคลังคาดว่าจะปรับลดลงเท่ากับ 0.9 และ 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ 


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าอุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดจะค่อนข้างตึงตัวหลังจากอยู่ในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค ประกอบกับอุปสงค์จากสหรัฐ ที่ค่อนข้างอยู่ในระดับสูงเนื่องจากเข้าใกล้ฤดูกาลขับขี่ นอกจากนั้นอุปทานที่สหรัฐ ยังคงไม่กลับมาสู่ระดับปกติ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐ ยังกลับมาดำเนินการผลิตไม่เต็มที่หลังจากปิดซ่อมบำรุงไปช่วงก่อน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค และยังมีอุปสงค์จากปากีสถาน ศรีลังกา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีปัจจัยกดดันจากการเริ่มทยอยส่งออกน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นในตะวันออกกลาง เข้ามาตลาดมากขึ้น

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 56-61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฎฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมน ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฎดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการสู้รบนี้จะขยายวงกว้าง และอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคได้ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร

- จับตาเศรษฐกิจกรีซ และยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้าน ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค.นี้

- จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุ กรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

- อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือนเม.ย. และพ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้





ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999