กมธ.ยกร่างฯเตรียมถกสรุปมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

กมธ.ยกร่างฯเตรียมถกสรุปมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

"คำนูณ"เผยกมธ.ยกร่างฯ เตรียมถกหาข้อสรุปมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เตรียมคุยปมนายกฯ-ส.ว.อีก ไม่หวั่น สปช.ขู่ แซงก์ชั่น

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ช่วงระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 2 เมษายน ทางกมธ.ยกร่างฯจะดำเนินการพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราที่ยังไม่ได้ข้อยุติให้แล้วเสร็จ โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกกมธ.ยกร่างฯ แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง โดยเฉพาะมาตราหรือประเด็นใด ที่ยังรู้สึกติดใจก็สามารถเปิดใจพูดคุยกันได้ เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ทางกมธ.ยกร่างฯได้อนุมัติไปบางมาตราก็พบว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาทั้งทางบวกและทางลบ ดังนั้น คงจะมีการนำความเห็นต่างๆมาประกอบการพิจารณา โดยรูปแบบการพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้มีวาระที่ชัดเจนหรือตายตัวว่าจะพูดถึงมาตราใดหรือประเด็นใดเป็นพิเศษ แต่จะเปิดโอกาสให้กมธ.ยกร่างฯได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่มากกว่า

นายคำนูณ กล่าวว่า โดยหลักการเข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการพิจารณาครั้งใหญ่หลังจากฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)และได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าหากประเด็นใดที่ไม่ใช่เรื่องที่ควรแก้ไขทันทีก็อาจจะมาดำเนินการในช่วง 60 วันสุดท้าย ยกเว้นประเด็นที่ตกผลึกและพร้อมจะปรับแก้ไข ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯออกมาแสดงความเห็นว่าอาจจะมีการปรับแก้ไขประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและที่มาของวุฒิสภา(ส.ว.)นั้นก็มองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกัน โดยประเด็นนายกรัฐมนตรีเรากำหนดไว้โดยไม่บังคับว่าต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งสมาชิกกมธ.ยกร่างฯทุกคนก็เห็นพร้องต้องกัน แต่ก็มีความเห็นว่าแทนที่จะเขียนเปิดกว้างไว้เฉยๆ ก็ควรจะมีการเขียนเงื่อนไขกำกับไว้ด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากส.ส.ก็ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสั้นกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากส.ส. อาจจะเป็น 1-2 ปี

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีสปช.ออกมาเสนอให้สมาชิกสปช.ใช้มาตรการแซงก์ชั่นหากกมธ.ยกร่างฯไม่มีการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยืนยันว่าไม่กดดัน เพราะเราทำตามหน้าที่ ขณะนี้กระบวนการยกร่างฯเดินมาครึ่งทางแล้ว โดยครึ่งทางหลังที่เหลือนั้นมีความสำคัญมากเพราะต้องนำความเห็นและคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากส่วนต่างๆ มาพิจารณา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ หากกมธ.ยกร่างฯพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสปช.ว่าจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่