เคาะที่มาส.ว.-นายกฯคนนอก

เคาะที่มาส.ว.-นายกฯคนนอก

เคาะที่มาส.ว.-นายกฯคนนอก จะมีการแก้ไขในเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่!

ในวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้ จะนำมาตราที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงของคณะกรรมาธิการมาพิจารณาอีกครั้ง เบื้องต้นมี 13 ประเด็น ได้แก่

1. มาตรา 67 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติ ที่ยังถกเถียงในเกณฑ์เสียงข้างมากของการทำประชามติ ระหว่างจะใช้เกณฑ์ตัดสินใด ระหว่างข้างมากของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงหรือเสียงข้างมากของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ

2. มาตรา 121 ว่าด้วยที่มาของวุฒิสภา ที่กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม แต่มีเสียงส่วนใหญ่ท้วงติงและขอให้แก้ไข โดยสาระสำคัญต้องยึดการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ครบทุกจังหวัด โดยประเด็นดังกล่าวนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยระบุว่าอาจให้มีการเลือกตั้งจาก 77 จังหวัดก็ได้หากมีวิธีที่เหมาะสมและไม่ซ้ำซ้อนกับการเลือกตั้ง ส.ส.

3. มาตรา 128 ว่าด้วยการสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ว. ที่มีผู้เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติว่าเป็นบุคคลที่เสมือนไร้ความสามารถ เพราะเคยเกิดกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติป่วยเรื้อรังจนไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้

4. มาตรา 166 ว่าด้วยการสิ้นสุดของสภา เมื่อมีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่มีผู้เสนอให้ตัดออก เพราะไม่เป็นธรรมกับส.ส.

5. มาตรา 171 ที่ว่าด้วยที่มาของ นายกฯ ที่ในบทบัญญัติไม่ได้เขียนคุณสมบัติต้องมาจาก ส.ส. และในเจตนารมณ์ไม่ได้ระบุเงื่อนไขของบุคคลภายนอกที่จะได้รับการเลือกเป็น นายกฯ ทำให้ที่ประชุมทักท้วงว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่สรุปร่วมกันว่านายกฯ คนนอกต้องมาเฉพาะสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น

6. มาตรา 175 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ในส่วน(5)ที่ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมได้ถกเถียงว่าเคยต้องคำพิพากษานั้นจะต้องถูกจำคุกมาแล้ว หรือรวมถึงบุคคลที่ต้องคำพิพากษาแต่รอการลงโทษไว้ก่อน

7. มาตรา 178 ว่าด้วยการกำหนดให้นายกฯและรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมสภาฯ วุฒิสภา และรัฐสภา มีผู้ที่ทักท้วงว่า เมื่อมีข้อกำหนดห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรีแล้วการเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ซึ่งอาจมีประชุม 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้กระทบต่อการบริหารราชการได้

8. มาตรา 215 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนต่อการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น

9. มาตรา 216 ในส่วนการตั้งกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรม

10. มาตรา 222 ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น

11. มาตรา 271 ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีประเด็นพิจารณาเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของประธาน ป.ป.ช. ที่ควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น 3 ปี เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนและป้องกันการใช้อำนาจของประธานที่มิชอบ

12. มาตรา 274 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

 13. มาตรา 308 ว่าด้วยวาระเริ่มแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ใน(2)กำหนดให้สมาคมที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และประสงค์จะเป็นกลุ่มการเมืองเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องจดแจ้งเปลี่ยนวัตถุประสงค์ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีผู้ท้วงติงว่าไม่ถือเป็นการเปิดกว้างให้กลุ่มการเมืองเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง เพราะกลุ่มการเมืองที่จะส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งต้องไปจดแจ้งเป็นสมาคมก่อน

 ต้องจับตาว่า ในประเด็นร้อนๆ เช่นที่มา ส.ว. และ นายกฯคนนอก จะมีการแก้ไขในเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่!