'ปชป.-แกนนำแดง'รุมค้านม.44 แทนอัยการศึก

'ปชป.-แกนนำแดง'รุมค้านม.44 แทนอัยการศึก

"สนช.-สปช."หนุนเลิกกฎอัยการศึก ระบุถือเป็นการใช้กฎหมายตามปกติ พร้อมช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้านรองโฆษกประจำสำนักนายกฯเมินเสียงวิจารณ์แนวคิด

ที่ศาลากลาง จ.อุตรดิตถ์ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมยกเลิกกฎอัยการศึก และใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทน ว่า เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช. เพราะ คสช. ถือเป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการกดดันของต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และอีกส่วนหนึ่ง คสช. ก็คงมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ควรใช้มาตรการใดในการบริหารประเทศ ตนคิดว่า เป็นการลดระดับการบังคับใช้มาตราการทางกฎหมาย จากกฎอัยการศึกที่สูงสุดลงมา แสดงว่าปัญหาเริ่มคลี่คลาย และท้ายที่สุด คสช. ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ตนเข้าใจและเห็นใจคสช.ที่ต้องแบกรับหน้าที่นี้

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกจะเป็นผลดี หากสามารถควบคุมความสงบได้ เพราะมาตรการนี้จะมีความแตกต่างจากการบังคับใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดีขึ้น ซึ่งในมุมมองของตนที่รับผิดชอบด้านกฎหมาย และได้ลงพื้นที่พบประชาชน ยืนยันว่า ประชาชนในพื้นที่ตลอดจนภาคเอกชน ไม่มีเสียงสะท้อนออกมาว่า ได้รับผลกระทบจากกฎอัยการศึกเลย มีแต่เพียงเสียงท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการใช้กฎหมายตามปกติ เหมือนที่เรามี คสช. ครม. สนช. สปช. คณะกรรมาธิการ​(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

"วันชัย"แนะเลิกอัยการศึกได้มากกว่าเสีย

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิปสปช.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วย เพราะการมีกฎอัยการศึกทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวต่างชาติคิดว่าบ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่สงบและมีปัญหา เมื่อยกเลิกก็จะทำให้เขามองเราดีขึ้น ว่าบ้านเมืองเราเริ่มเข้าที่เข้าทาง พวกเขาก็กล้าที่จะมาท่องเที่ยวและลงทุน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ประชาชนก็จะมีกินมีสุขมากกว่าเดิม บรรยากาศความขัดแย้งก็จะลดลงได้ การตัดสินใจของนายกฯทำได้ถูกต้องแล้ว จะได้มากกว่าเสียแน่นอน และหากมีปัญหาด้านความมั่นคงนายกฯก็ยังมีอำนาจใช้มาตรา 44ควบคุมและแก้ปัญหาได้ทันที

พล.ต.สรรเสริญ"เมินเสียงวิจารณ์ชี้เป็นเรื่องปกติ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับแนวคิดใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนประกาศกฎอัยการศึกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ชี้แจงกับสื่อไปแล้ว คิดว่าการพิจารณากำหนดแนวทาง นายกฯคงจะหารือกับหลายฝ่ายแต่ยังไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ดังนั้นในการประชุมครม.นอกสถานที่ เมื่อวันที่ 27มี.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือสั่งการใดๆ เพิ่มเติม ส่วนจะพิจารณาข้อกำหนดมาบังคับใช้นั้นถือเป็นอำนาจนายกฯตนไม่ใช่โฆษกประจำตัว คงไปตอบแทนไม่ได้

"รัฐบาลไม่กังวล เพราะประเทศไทยเป็นสังคมชอบวิจารณ์อยู่แล้ว ถามว่าถ้าไม่มีการใช้กฎหมายพิเศษ เหตุระเบิดหน้าศาลอาญา จะขยายผลจับกุมคนร้ายได้ในเวลาอันสั้นหรือไม่ เมื่อมีการพูดถึงกฎอัยการศึกกว้าวขวาง นายกฯก็พยายามหาแนวทางปรับโดยที่เจ้าหน้าที่ต้องทำงานได้ แต่ยังมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังวิจารณ์โดยไม่รับฟังอะไร" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

"ปณิธาน"ยอมรับเห็นควรใช้ม.44

ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า สำหรับแนวคิดในการใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว แทนกฏอัยการศึกนั้น คสช. ได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้นปี 2558 แต่ปรากฏว่าในเวลาดังกล่าวเกิดเหตุระเบิดซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองขึ้น จึงต้องใช้กฏอัยการศึกไปก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลเห็นว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น จึงเห็นควรนำมาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน และต้องรอดูว่าเมื่อใช้มาตรา 44 แทนกฏอัยการศึกจะมีการร่างระเบียบหรือออกเป็นประกาศของ คสช.อย่างไร เพราะในมาตรา 44 จำเป็นต้องมีระเบียบหรือประกาศเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ครอบคลุมเหมือนกฏอัยการศึก และคิดว่า คสช.คงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฏหมายเป็นผู้ดูแล

"นิพิฏฐ์"ชี้ม.44รุนแรงกว่าอัยการศึก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีมา 101 ปี เป็นของเก่า แต่มาตรา 44 เราไม่ค่อยใช้ แต่มีศักดิ์สูงกว่ากฎอัยการศึก และอำนาจของมาตรา 44 มีมากกว่า กฎอัยการศึก เพราะสามารถตัดสินจำคุกสั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาล โดยไม่ต้องขึ้นศาล แต่กฎอัยการศึกตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราว โดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งกฎอัยการศึก ต่างชาติไม่เข้าใจ และรังเกลียด แต่หากจะยกเลิกกฎอัยการศึก คิดว่า ต้องมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง ตามมาตรา 44 ออกมารองรับเสียก่อน เพราะยากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างเดียวโดยไม่นำมาดัดแปลงเป็นคำสั่งอะไรรองรับเสียก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อบ้านเมืองปกติแล้วถ้าจะยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ต้องออกเป็นพ.ร.บ.ยกเลิกเท่านั้น เพราะมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นกฎหมาย หากจะยกเลิกก็ต้องยกเลิกด้วยกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้นมาตรา 44 จึงมีอำนาจเด็ดขาด รุนแรงกว่ากฎอัยการศึก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนไม่เข้าใจมากกว่า

"เอกนัฏ"เชื่อใช้ม.44มีเจตนาผ่อนปรนสถานการณ์

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกปปส. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของรัฐบาลซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็คงเห็นว่าหากใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตนก็เชื่อว่า นายกฯมีเจตนาที่จะผ่อนปรนการควบคุม เพราะต่างประเทศและคนไทยบางกลุ่มอาจมองว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนหรือไม่ทั้งนี้คิดว่า ภาพรวมประชาชนก็เข้าใจว่า ทำไมที่ผ่านมาจะต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพราะยังมีขบวนการสร้างความไม่สงบอยู่ เห็นได้จากการวางระเบิดที่สยามพารากอนและการปาระเบิดที่ศาลอาญา ดังนั้นรัฐบาลก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมสถานการณ์อยู่ การที่รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้อำนาจมาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการควบคุมความสงบเรียบร้อยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

“จตุพร”ชี้ใช้ม.44เหมือนหนีเสือปะจระเข้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงคำว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และระบอบการปกครองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กฎอัยการศึกเรามองว่ามีปัญหาก็จริง แต่ยังเห็นตัวตน มีเนื้อหาที่ชัดเจน และประกาศใช้มาตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่มาตรา44 นั้นจะขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจและอารมณ์ของผู้ใช้อำนาจเท่านั้น ถือว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพียงคนเดียวเหนืออำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จะไม่มีหลักประกันใดๆ ที่ประชาชนสามารถล่วงรู้ล่วงหน้าได้เลย ทั้งนี้ตนคิดว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกทาง หากรัฐบาลคิดว่าจะลดความกดดันจากนานาชาติแล้วไปใช้มาตรา 44 จะยิ่งไม่เป็นผลดีทั้งกับประชาชนในฐานะผู้ถูกใช้อำนาจ และหัวหน้าคสช.ผู้ใช้อำนาจเอง อาจจะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่า หนีเสือปะจระเข้

“ณัฐวุฒิ”ห่วงม.44เพิ่มความกังวลนานาชาติ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย แต่การที่จะใช้มาตรา 44 แทนนั้นดูแล้วน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เนื่องจากกฎอัยการศึกนั้นแม้ว่าจะเป็นกฎหมายโบราณนับร้อยปี ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ก็ยังมีลายลักษณ์อักษรกำหนดขอบเขตชัดเจน ขณะที่มาตรา 44 ครอบจักรวาล ไม่มีบทบัญญัติตายตัว ขยายอำนาจรัฐได้ตลอดเวลาไม่มีขีดจำกัด

ดังนั้นขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้รัฐบาลพิจารณาว่า ที่ต้องการลดแรงกดดันจากต่างประเทศนั้น ไม่แน่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะความหมายโดยนัยของมาตรา 44 นั้นก็เท่ากับตัวบุคคลคือกฎหมาย อาจทำให้สภาพแบบนี้เพิ่มความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการกฎหมายพิเศษไว้คุมสถานการณ์ ควรลองดูกฎหมายที่ดีกรีน้อยกว่าแต่สาระชัดเจน อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะดีกว่าหรือไม่