'ดิเรก'ร่ายยาว4 ปมร้อนรธน.ผิดหลักการ

'ดิเรก'ร่ายยาว4 ปมร้อนรธน.ผิดหลักการ

"ดิเรก"ร่ายยาว"4 ปมร้อนรธน. "ทุกคนพูดถึงอำนาจของประชาชน แต่กลับไม่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้ปกครองของเขาเอง จึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ

หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราจำนวนทั้งสิ้น 315 มาตราเสร็จสิ้นเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมจัดส่งรัฐธรรมนูญร่างแรกให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ภายในวันที่ 17 เม.ย.นี้

หลังจากนั้นคงต้องติดตามการอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ของสมาชิกสปช.ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย. โดยเฉพาะการอภิปรายใน "4 ประเด็นร้อน" ที่มีสมาชิกจองกฐินกันไว้มาก นั่นคือ
1.การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอก
2.ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมนี
3.การให้ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง
และ 4.การได้มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช.ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง และอดีตส.ว.นนทบุรี เป็นคนหนึ่งที่เตรียมแสดงความเห็นคัดค้าน และจะขอให้มีการแก้ไขใน 4 ประเด็นหลักดังกล่าว

เปิดช่องนายกฯคนนอก"ผิดหลักการ"

โดยประเด็นเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอกได้ นายดิเรก เห็นว่า ผิดหลักการ และระบบการเมืองทั้งโลกที่มีอยู่ 3 ระบบคือ 1.ระบบควบอำนาจ 2.ระบบแบ่งแยกอำนาจ และ 3.ระบบผสม ซึ่งทุกระบบให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชน เพราะประชาชนมีหน้าที่ที่ต้องเลือกผู้ปกครองของเขาเอง

เมื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่ได้เลือกมาเอง แล้วเราไปบอกว่าเราให้อำนาจประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ทุกฉบับในมาตรา 2 ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 3 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

ฉะนั้นทุกคนพูดถึงอำนาจของประชาชน แต่กลับไม่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้ปกครองของเขาเองจึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ เพราะอำนาจในกระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมี 2 อย่างคือ 1.เลือกผู้ปกครองเอง และ 2.เมื่อเลือกแล้วมีสิทธิถอดถอน

ส่วนเหตุผลที่ว่าการเขียนบทบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันหากเกิดสถานการณ์ไปไม่ปกติ เช่น สถานการณ์ทางการเมือง เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการตามเดิมคือมาจากการเลือกตั้ง แต่อาจจะไปเพิ่มในมาตราใดมาตราหนึ่งอาทิ ในมาตรา 7 ที่เราอ้างมาตลอด เช่นเพิ่มว่า ในกรณีที่บ้านเมืองไม่ปกติ ไม่มีนายกรัฐมนตรี หรือมีนายกรัฐมนตรีแต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ให้รัฐสภาเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง

ดังนั้นในประเด็นนี้ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เราต้องการให้ระบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง ถ้าระบบรัฐสภาเข้มแข็งเราก็จะสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาตามที่กมธ.ยกร่างฯ ได้เขียนไว้ สิ่งที่เรากลัวอย่างยิ่งคือ "ความขัดแย้งจะเริ่มต้นใหม่" เหมือนดังเช่นที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เกิดขึ้นมาจนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งเราไม่อยากเห็นอีก เพราะถ้าออกมาเป็นเช่นนี้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยก็ต้องมีการแก้ไข และมีผู้ออกมาขัดขวางอีก

ระบบเยอรมนี-แก้ซื้อเสียงไม่ได้

ประเด็นถัดมาคือระบบเลือกตั้งที่ให้ใช้สัดส่วนผสมแบบประเทศเยอรมนี นายดิเรก ตั้งคำถามว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอะไร มีการพูดกันว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขาดคุณภาพ

"การแก้ระบบซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ได้แก้ที่การมาสร้างระบบนั้นระบบนี้ เพราะแก้ไม่ได้ เรื่องนี้เกิดจากตัวคน ดังนั้นจึงต้องแก้ที่คน เมื่อเราไม่พัฒนาคน ไม่สร้างองค์กรหลักที่จะให้คนเป็นไปในกรอบที่ถูกต้องได้ เราจะเอาระบบอะไรมาใช้ก็แก้การทุจริตขายเสียงไม่ได้"

การที่เรานำระบบเยอรมนีมาใช้เราต้องการแก้ปัญหาอะไร ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ระบบนี้คงแก้การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เกิดจากตัวคน ฉนั้นต้องแก้ที่คน ยิ่งเอาระบบเยอรมนีมาใช้ยิ่งไปกันใหญ่

ขอถามว่ามีคนรู้เรื่องนี้กี่คน ในสปช.มีคนรู้เรื่องนี้กี่คน และอะไรที่เป็นระบบที่ยุ่งยากคนไทยก็จะไม่รับ ดังนั้นวิธีการเลือกตั้งต้องทำให้เป็นเรื่องที่ง่าย ชัดเจน ไม่ต้องคลุมเครือ ดังนั้นการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงจะต้องแก้ที่คน

การที่ให้มีรัฐบาลผสมจะทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าผิดหลักการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหลักการร่างรัฐธรรมนูญในข้อที่ 3 ระบุว่า ต้องสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการเมืองให้แก่รัฐบาล ที่ผ่านมาเราเคยมีรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม แต่ก็ไปไม่รอด

ส.ส.ไม่สังกัดพรรค-ยิ่งซื้อเสียงมากขึ้น

ในประเด็นนี้เมื่อบวกกับประเด็นที่ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค หรือไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคจะยิ่งไปกันใหญ่ พัฒนาการของพรรคการเมืองนั้น เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มที่ไปรวมตัวกันทางการเมือง มารวมกันเป็นพรรคการเมือง

แต่ขณะนี้กลับร่างขึ้นมาเพื่อให้มีกลุ่มคนที่สามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ทำให้ย้อนถอยหลังกลับไป ซึ่งทำให้ระบบพรรคการเมืองเสีย ดังนั้นจึงควรจะปล่อยให้พรรคการเมืองเดินไปด้วยความเข้มแข็ง ขอถามว่าการให้ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นกลับจะยิ่งทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น

ส.ว.ทางอ้อมไม่ควรมีอำนาจถอดถอน

สำหรับประเด็นที่มาส.ว.ที่ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั้น นายดิเรก ระบุว่า ตามที่เคยยืนยันมาโดยตลอด อำนาจของประชาชนคืออะไร ฉะนั้นเมื่ออำนาจของประชาชนคืออำนาจในการเลือกผู้ปกครอง ก็มีอำนาจในการถอดถอน ดังนั้นถ้าวุฒิสมาชิกมีอำนาจในการถอดถอนรัฐบาล หรือบุคคลอื่นๆ ทั้งที่มาจากการสรรหาของคนไม่กี่คน ถามว่าถูกหรือไม่

การใช้คำว่า "เลือกตั้งทางอ้อม" เห็นว่าการเลือกตั้งก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือก การใช้อำนาจเหล่านี้ไปถอดถอนคนที่ประชาชนเลือก เป็นเรื่องที่ถูกหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะมีส.ว.สรรหาไม่ได้ แต่เมื่อมีแล้วก็ไม่ควรให้ใช้อำนาจไปถอดถอนใครเช่นนี้ แต่การมีส.ว.สรรหาก็ควรให้ดูเรื่องกฎหมาย หรือเป็นที่ปรึกษาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้มาโดยตลอด

"เวลานี้ประเด็นหลักๆ ตามที่พูดมา เป็นประเด็นที่สังคมมอง และเสนอแนวคิดไม่เห็นด้วย ก็อยากให้รับฟังบ้าง เพราะทุกอย่างเราอ้างประชาชนฉะนั้นก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่รับฟังและปล่อยไปเฉยๆ แบบนั้นก็ไม่ถูก ดังนั้นต้องฟังแล้วแก้ไขกันไป ถ้าออกรัฐธรรมนูญแล้วไม่เป็นที่ยอมรับในเบื้องต้นสังคมก็จะเดินไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคม"

กรอบรธน.ไม่ถูกต้องเพิ่มความขัดแย้ง

ส่วนที่มีการพูดถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเห็นได้จากการให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีคณะกรรมการในสัดส่วนมาจากสมาชิก สปช.และสมาชิกสนช.รวมอยู่ด้วย นายดิเรก ขอออกตัวไม่วิจารณ์ในเรื่องการสืบทอดหรือไม่สืบทอดอำนาจ แต่เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ออกไปในกรอบของความไม่ถูกต้อง จะเพิ่มความขัดแย้งขึ้นมา และจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่อยากให้เกิดวัฏจักรแห่งการปฏิวัติรัฐประหารอีก

"ร่างรัฐธรรมนูญผมเห็นว่ายังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอีกหลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่มาของอำนาจทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นงานหลักของการเมืองการปกครองประเทศ อย่างไรก็ดีหลังจากการพิจาณาของสปช. ร่างรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่การรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องรับฟังความเห็นเขาบ้าง ไม่ใช่เราบอกว่าเราจะให้อำนาจประชาชน แต่ในประเด็นหลักๆ เรากลับไม่ให้อำนาจเขา"

หนุนประชามติรธน.ฟังความเห็นปชช.

นายดิเรก ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการ"ทำ-ไม่ทำ"ประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าเรื่องทำประชามติเราเห็นด้วยมาแต่ต้นแล้วว่า ถ้าจะให้สมบูรณ์เมื่อร่างแล้วควรให้ประชาชนลงประชามติ แต่ก็มีผู้ออกมาให้เหตุผลว่า ต้องดำเนินการตามโรดแมพ โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งถ้าเราต้องการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และไม่ทำประชามติก็ควรทำประชาพิจารณ์โดยเฉพาะในประเด็นหลักๆ ซึ่งต้องทำให้ชัดเจน และฟังเสียงประชาชน

"ฉะนั้นเวลานี้ผมก็ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับฟังความเห็นประชาชน ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ก็ควรจะต้องทำประชามติเพื่อถามความเห็นว่า คนทั้งประเทศมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร"

ส่องเจตนารมณ์ "4 ประเด็นร้อนรธน."

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ และขณะมีสมาชิก สปช.หลายคน โดยเฉพาะ "กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง" ที่จัด "เวิร์คช็อป" เตรียม"ชำแหละ"ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ 4 ประเด็นร้อนที่ไม่เห็นด้วยกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นแรก คือ การเปิดโอกาสให้มี "นายรัฐมนตรีคนนอก" โดยเจตนารมณ์ของกมธ.ยกร่างฯ คือ ต้องการแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมาเช่น สถานการณ์การเมืองครั้งล่าสุดที่รัฐบาลประกาศยุบสภา แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จนมีการเรียกร้องให้มีการนำ "มาตรา 7" ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มาใช้

ทั้งนี้หากมีนายกฯ มาจากคนนอก จะต้องเกิดสถานการณ์พิเศษ หรือวิกฤติที่หาทางออกไม่ได้ แต่กระนั้นยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนนั่นคือ การกำหนดนิยามคำว่า "วิกฤติที่หาทางออกไม่ได้" ว่าจะต้องเป็นสถานการณ์ใด

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ บอกว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ อาจใช้วิธีกำหนดให้นายกฯ คนนอก มีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 หรือ 3 ปี

ประเด็นที่สอง การใช้ระบบเลือกตั้งแบบ "เยอรมันโมเดล" หรือ ระบบสัดส่วนผสม คือ การให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคแล้วคิดคะแนนทั้งประเทศเป็นเปอร์เซ็นต์ ก่อนนำมาคำนวณสัดส่วนจำนวนส.ส.ที่พรรคจะได้รับ กมธ.ยกร่างให้เหตุผลว่า หากใช้ระบบนี้จะได้รัฐบาลผสมที่มาจากหลายหลายพรรคการเมือง และจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและขนาดกลางมีโอกาสมากขึ้นต่างจากเดิมคือ ให้สิทธิพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล

กมธ.ยกร่างฯ บอกว่า ข้อดีของระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามความนิยมของประชาชาชน อีกทั้งระบบนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากเกินไป จนไม่สามารถตรวจสอบได้
ส่วนประเด็นถัดมาคือ การเปิดช่องให้ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งต่างจากเดิมที่ก่อนจะสมัครส.ส.ได้ต้องสังกัดพรรคเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วันถึงลงเลือกตั้งได้ 

กมธ.ยกร่างฯ ให้เหตุผลว่า การที่ส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะทำให้ส.ส.มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และการออกเสียงในสภา หรือเสนอกฎหมายโดยปราศจากการควบคุมหรือรอมติจากพรรค

ขณะที่มุมมองทางฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้นั้น หากย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่กมธ.ยกร่างฯ ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคเข้าให้ความเห็น ทุกพรรคต่างเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การที่ส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะส่งผลให้เกิดการซื้อตัวส.ส.ในลงมติในประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาส.ส.ถูกบังคับโดยมติพรรค ก็ควรมีการกำหนดให้ส.ส.แสดงสิทธิอิสระในการลงมติ หรือเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องรอมติพรรค

ประเด็นที่สี่ "ส.ว.ทางอ้อม" จำนวน 200 คน โดยมีที่มาจากคณะบุคคลอาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ข้าราชการ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยใช้วิธีเลือกกันเอง

การได้มาซึ่งส.ว.เช่นนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "ส.ว.ลากตั้ง" จนทำให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า การคัดเลือกส.ว.ประเภทนี้ไม่ใช่ส.ว.ลากตั้ง เพราะจะมาจากบุคคลที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง การบริหารราชการแผนดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงด้านสังคม ชาติพันธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน และจะต้องผ่านการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ก่อนที่จะนำเสนอบัญชีรายชื่อให้สมัชชาพลเมืองพิจารณาคัดเลือก

ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนานิช โฆษกกมธ.ยกร่าง เคยออกมาแถลงถึงประเด็นส.ว.ทางอ้อมว่า การเลือกตั้งโดยตรงไม่จำเป็นต้องเป็นฐานของประชาธิปไตยเสมอไป การเลือกตั้งทางอ้อมโดยวิธีอื่นอย่างของอังกฤษหรือ แคนาดา ก็ใช้วิธีการสรรหาหรือแต่งตั้ง แต่เราคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตามในความเห็นอีกมุมหนึ่งกลับมองว่า การได้มาซึ่งส.ว.เช่นนี้จะไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะนำรายชื่อให้สมัชชาพลเมืองพิจารณา แต่ที่มาของส.ว.ประเภทนี้ก็ยังมาจากการคัดเลือกของบุคคลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้การได้มาซึ่งส.ว.เช่นนี้จะเป็นการลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจอดีตข้าราชการของรัฐเข้ามาในสัดส่วนของ ส.ว.สรรหา

นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาเกี่ยวกับอำนาจในการถอดถอนว่า การให้ส.ว.ที่มีจากการสรรหาของคณะบุคคลบางกลุ่มมีอำนาจในการถอดถอนส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
จากนี้ไปคงต้องรอติดตามการอภิปรายของสมาชิก สปช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เม.ย. และจับตาดูว่าหลังจากนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในประเด็นใดบ้างหรือไม่