โอนย้ายดีเอสไอควบรวมอัยการ ต้องป้องกันการเมืองแทรก

โอนย้ายดีเอสไอควบรวมอัยการ ต้องป้องกันการเมืองแทรก

ผลศึกษาสปช.เสนอโอนย้ายดีเอสไอไปควบรวมอัยการ ระบุป้องกันการเมืองแทรก รองปลัดยธ.-อธิบดีดีเอสไอ ยอมรับแนวคิดปฏิรูปงานสืบสวนสอบสวนทั้งระบบ

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงผลการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โอนย้ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไปเป็นสำนักการสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอัยการสูงสุดว่า กระทรวงยุติธรรมเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะปรับปรุงงานสืบสวนสอบสวนทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยกับพนักงานอัยการ หรือต้องทำงานสืบสวนสอบสวนร่วมกันภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องร่วมกันในเชิงโครงสร้าง

สำหรับกลุ่มงานพัฒนาพฤตินิสัยทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อเสนอให้โอนย้ายไปสังกัดศาลยุติธรรมนั้น มิติใหม่ของงานยุติธรรมเห็นว่าฝ่ายบริหารทุกกระทรวงต้องร่วมมือกับศาลในการฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยกระทรวงยุติธรรมจะเป็นข้อกลางเชื่อมฝ่ายบริหารทุกกระทรวงให้ทำงานร่วมกับศาล

ด้านนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ข้อเสนอให้โอนย้ายดีเอสไอไปสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเพียงแนวคิดจากการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ในขั้นตอนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งดีเอสไอต้องรับมาศึกษาถึงผลกระทบและข้อดีข้อเสีย โดยดีเอสไอพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับปรุงองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากที่สุด
สำหรับดีเอสไอถูกมองว่าบุคลากรภายในมีคนของนักการเมืองเก่าแฝงอยู่ ส่งผลให้มีการเมืองแทรกแซงงานสอบสวนคดี โดยผลการศึกษาของสปช. มีรายละเอียดดังนี้

1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปลี่ยนเป็นสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษ มีผู้บัญชาการการเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่ออัยการสูงสุด 2.มีคณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ (ก.พ.ศ.) โครงสร้างคล้ายคลึงกับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ทำหน้าที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 3.กำหนดเงินเดือน ค่าตอบแทน ของผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ เทียบเท่าปลัดกระทรวง แยกสำนักงานคดีพิเศษ เป็น 10 สำนักงาน มีอธิบดีการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชา 4.คดีพิเศษทุกคดีต้องมีพนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวน

5.คดีความผิดอาญานอกราชอาณาจักร อาชญากรรมข้ามชาติ คดีความผิดที่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญ และคดีความผิดอาญาสามัญในพื้นที่ซึ่งอธิบดีอัยการ และอธิบดีสอบสวนคดีพิเศษเห็นควรให้มีการสืบสวน สอบสวน เป็นคดีพิเศษ 6.ให้คงอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ เช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษด้วย ​7.คณะกรรมการอัยการ ทำหน้าที่คณะกรรมการการสอบสวนคดีพิเศษ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอธิบดีสำนักงานการสอบสวนคดีพิเศษกลาง รักษาการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการการสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนคดีที่ค้างการสืบสวนสอบสวน ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้จนกว่าการสอบสวนเสร็จสิ้น และ ​8.มีการตรวจสอบ จริยธรรม จรรยาบรรณ ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ

ทั้งนี้การรวมองค์กรดังกล่าว ​จะทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีผลดี ดังนี้ 1.อำนวยความยุติธรรมในชั้นสอบสวนได้มากขึ้น 2.เข้าทำการสอบสวนคดีสำคัญ ซึ่งอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด เต็มศักยภาพ 3.ไม่ต้องจัดหางบประมาณ อัตรากำลังเพิ่มให้แก่สำนักงานอัยการสูงสุดในภาระงานดังกล่าว 4.สามารถสอบสวน ตรวจสอบ นักการเมือง ผู้มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ แม้แต่ฝ่ายตุลาการได้ หากมีมูลสงสัยโดยไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร 5.นักการเมือง ฝ่ายบริหาร ไม่อาจใช้กระบวนการยุติธรรม ที่เป็นอำนาจมิชอบในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม หรือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้สุจริตได้
ปัดข้อเสนอจำกัดวาระนายกฯคนนอกปีเดียว

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ให้มีการแก้ไขบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ ที่มานายกฯ คนนอกที่ต้องจำกัดเฉพาะสถานการณ์วิกฤต ยืนยันว่าไม่สามารถบัญญัติคำว่าสถานการณ์วิกฤตไว้ได้ เพราะอาจเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตได้ ขณะที่มีผู้เสนอให้จำกัดวาระของนายกฯ คนนอกเพียง 1 ปีนั้น คงทำไม่ได้ ทั้งนี้ตนมองว่าควรกำหนดให้ใช้เสียงลงมติ 2 ใน 3 เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่น อย่าให้ความระแวงจนเกินหรือ โอเว่อร์เกินไป ขณะที่ข้อเสนอให้ปรับที่มา ส.ว. เบื้องต้นจะปรับให้คนที่ต้องการเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. สมัครตามกลุ่มที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้ในกลุ่มต่างๆ นั้นสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม