ทนาย'เสี่ยเจียง'ย้ำชัด'จา พนม'ผิดสัญญา

ทนาย'เสี่ยเจียง'ย้ำชัด'จา พนม'ผิดสัญญา

ทนาย "เสี่ยเจียง" หอบหลักฐานย้ำชัด "จา พนม" ผิดสัญญา วอนเห็นใจงดฉายหนัง ฟาสต์ 7

วานนี้ ที่ สำนักงานกฎหมายอรุณอัมรินทร์ ซ.รัชดาภิเษก 32 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ และนายมนตรี อมรรุ่งโรจน์วรวุฒิ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกันแถลงกรณีฟ้อง นายพนม หรือทัชชกร ยีรัมย์ หรือจา พนม อายุ 38 ปี จำเลยที่ 1 ข้อหาผิดสัญญา, ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง เร็ว แรง ทะลุนรก 7 หรือ ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7 จำเลยที่ 2 และบริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด หรือยูไอพี ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่าย จำเลยที่ 3 ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย จึงมีผลให้ระงับการฉายภาพยนตร์เรื่อง “ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7” ในประเทศไทยชั่วคราว

นายมนตรี กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนสหมงคลฟิล์มฯ กราบขอโทษแฟนหนัง “ฟาสต์ฯ 7” ว่าสหมงคลฟิล์มฯ เข้าใจดีว่าการระงับฉายมีผลกระทบกับแฟนภาพยนต์อยู่บ้าง ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้อยากให้หนังถูกระงับ แต่ไม่มีทางอื่นที่จะปกป้องสิทธิ์ที่ดีไปกว่าการกระทำดังกล่าว 

นายสุวัตร กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องเกี่ยวกับคดีไว้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. สำนวนคดีดำหมายเลขที่ พ 1268/2558 ในข้อหาว่าผิดสัญญาซึ่งหมายถึงคุณจา-พนม และละเมิดเรียกค่าเสียหายคือบริษัท ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ผู้สร้างภาพยนตร์ กับ บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนเชั่นแนล พิคเจอร์ส ฟาร์อิสต์ หรือ ยูไอพี ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย ส่วนมูลเหตุเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคุณจาเป็นนักแสดงในสังกัดสหมงคลฟิล์มฯ โดยเซ็นสัญญาว่าจ้างฉบับแรกลงวันที่ 25 ก.ค.2546 ซึ่งในเนื้อหามีข้อหนึ่งระบุไว้ชัดว่าเมื่อเป็นนักแสดงในสังกัดแล้วจะทำการแสดงหรือขับร้อง หรือกระทำการอื่นใดเกี่ยวกับการแสดงหรือตามสัญญาให้กับบริษัทหรือตามที่บริษัทเห็นสมควรจะกำหนดเท่านั้น และจะไม่รับแสดงหรือกระทำการดังกล่าวให้กับบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก และไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าจากบริษัท ซึ่งระยะเวลาของสัญญาได้กำหนดไว้ว่า สัญญาฉบับนี้มีผลผูกพันกับบริษัท กับ นักแสดง ครูฝึก และผู้ควบคุม เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 25 ก.ค.2546 ถึง วันที่ 24 ก.ค.2556 และในกรณีที่บริษัทมีความประสงค์จะต่อสัญญาออกไป บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยังนักแสดง ครูฝึก และผู้ควบคุม ทราบล่วงหน้าก่อนครบกำหนดอายุสัญญาไม่น้อยกว่า 2 เดือน เมื่อบริษัทได้แจ้งความประสงค์ดังกล่าวแล้วให้ถือว่ามีการต่ออายุสัญญานี้ออกไปตามความประสงค์ของบริษัททันที

กระทั่งสัญญาครบ 10 ปี ในวันที่ 24 ก.ค.2556 ก่อนครบกำหนดทางเสี่ยเจียงได้ส่งจดหมายแจ้งต่ออายุสัญญานักแสดงในสังกัด ลงวันที่ 14 พ.ค.2556 ประสงค์ที่จะต่อสัญญาออกไปอีก 10 ปี โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปที่บ้านของคุณจาตามสำเนาบัตรประชาชนและตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญาทางไปรษณีย์ตอบรับซึ่งมีพี่เป็นคนเซ็นรับถือว่าการต่อสัญญาสมบูรณ์แล้ว และมีผลต่อไปอีก 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.2556 ถึง วันที่ 24 ก.ค.2566 

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2556 คุณจาเดินทางมาพบเสี่ยเจียงตามภาพหลักฐานจากกล้องวิดีโอที่ตนถ่ายเป็นเอกสารมาให้ดู โดยบอกว่าไม่ไปไหนจะอยู่กับเสี่ยเจียง โดยขอให้ตัวเองได้สร้างภาพยนตร์ “ไอ้หนุ่มกังนัม” ต่อไป กระทั่งวันที่ 13 ก.ย.2556 เสี่ยเจียงทราบข่าวว่าคุณจาจะไปแสดงหนังในต่างประเทศ โดยมีคนชื่อ ไมเคิล ดี. เซลบีย์ เป็นคนพาไปโดยไม่ขออนุญาตจากสหมงคลฟิล์ม ทางฝ่ายกฎหมายจึงมีจดหมายฉบับลงวันที่ 13 ก.ย.2556 แจ้งไปถึงยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง “ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7” ทั้งหมดว่าคุณจายังมีสัญญากับสหมงคลฟิล์มฯ ซึ่งต่อมายูนิเวอร์แซลฯ ได้รับจดหมายฉบับนี้แล้วจึงส่งอีเมล์กลับมาบอกว่า “อ้างถึงจดหมายของท่าน ฉบับวันที่ 13 ก.ย. และ 10 ต.ค.2556 ถึง ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส และท่านอื่นๆ เราได้กล่าวถึงการติดต่อโดยจดหมายของท่านต่อที่ปรึกษาของคุณจาเพื่อดำเนินการแล้ว และยูนิเวอร์แซลจะไม่โต้ตอบอีก อย่างไรก็ตาม เราขอสงวนสิทธิ์ การแก้ไขความเสียหาย และ ความคุ้มครองของเราทั้งปวง” ลงชื่อ เดวิด แอล. เบิร์ค รองประธานอาวุโส, ฝ่ายคดี เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล ซึ่งหมายความว่าเขามีสัญญากับคุณจา จึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีกับคุณจา

เอกสารนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าคุณจารับรู้ว่ามีสัญญาอยู่กับสหมงคลฟิล์มฯและยูนิเวอร์แซลฯ รู้แล้วว่าคุณจามีสัญญากับสหมงคลฟิล์มฯ เช่นกัน แต่ยูนิเวอร์แซลฯ ไม่หยุดในการสร้างภาพยนตร์ “ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7” ทั้งที่ต่อมา พอล วอล์กเกอร์ พระเอกของเรื่องได้เสียชีวิต ในตอนนั้นทางสหมงคลฟิล์มฯ เข้าใจว่าเมื่อพระเอกเสียชีวิตทางยูนิเวอร์แซลฯ อาจจะแก้บทเอาคุณจาออกเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิ์ของสหมลคลฟิล์มฯ ปรากฏว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่กลับดึงดันที่จะสร้างภาพยนตร์เสร็จ แล้วเอาออกโฆษณาทั้งในภาพยนตร์ตัวอย่างและใบปิดพบว่ามีคุณจาร่วมแสดง แปลว่ายูนิเวอร์แซลฯ ไม่ได้ถอดคุณจาออกตามที่ทางสหมงคลฟิล์มฯ ร้องขอ เมื่อเป็นเช่นนี้โดยทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องในการละเมิดดังกล่าว  

นายสุวัตร กล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้ถ้าฟ้องคุณจาคนเดียวในข้อหาผิดสัญญา ถามว่าจะบังคับยึดทรัพย์อะไรจากคุณจา ซึ่งตนคิดว่าไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะให้ยึดเพียงพอที่จะชำระค่าเสียหายได้ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้นมีส่วนร่วมในการทำละเมิดและเป็นนิติบุคคลต่างประเทศเพราะยูนิเวอร์แซลฯ จดทะเบียนในประเทศสหรัฐฯ ส่วนยูไอพีจดทะเบียนในเกาะฮ่องกง จึงไม่มีรถ บ้าน หรืออะไรที่จะยึดได้ ดังนั้งทางเลือกสุดท้ายในข้อกฎหมายจำต้องฟ้องเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิดกันแน่ระหว่างคุณจากับเสี่ยเจียงเมื่อทำการไต่สวนแล้วจนศาลมองเห็นว่าคุณจากระทำผิดสัญญากับสหมงคลฟิล์ม ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ไปร่วมกระทำละเมิดกับคุณจา ศาลจึงมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว แต่เนื่องจากเป็นคำสั่งของศาลไทยมีอำนาจในประเทศไทยเท่านั้น จึงห้ามได้แค่ในประเทศไทย ด้วยเหตุอย่างนี้จึงเป็นที่มาของคำสั่งให้ระงับการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในไทยชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

“ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่าเสี่ยเจียงได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะติดต่อคุณจาให้พูดคุยแต่เมื่อติดต่อกันไม่ได้เลยมีความจำเป็นต้องฟ้องคดี ทั้งที่เสี่ยเจียงรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฟีดแบ๊กอาจจะกลับมาไม่ดี แต่เพื่อรักษาสิทธิ์ของคนไทย ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าคุณจา จำเลยที่ 2 และ3 มาแก้ไขในสิ่งผิดข้อตกลง ทุกสิ่งทุกอย่างประนีประนอมกันได้ ซึ่งทางเสี่ยเจียงยินดีอย่างมาก แต่ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครติดต่อมา” ทนายสุวัตรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการระงับการฉายจะรวมถึงภาพยนตร์ “Skin Trade” และ “SPL 2” ที่ ‘จา-พนม’ ร่วมแสดงด้วยหรือเปล่า นายสุวัตรกล่าวว่า ทุกเรื่องที่คุณจาไปร่วมแสดง หากไม่มีการเจรจากัน ตนจะตามฟ้องทั้งหมดหากพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ตัดคุณจาออกจากภาพยนตร์ ถามว่าทำไมถึงฟ้องละเมิดตอนนี้เลยไม่ได้ เนื่องจากตนไม่รู้ว่าในภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องจะมีคุณจาร่วมแสดงจริงหรือไม่เพราะตัวอย่างภาพยนตร์ยังไม่ได้ออก 

ต่อข้อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทาง “ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 7” ยื่นขอเสนอที่จะตัด ‘จา-พนม’ ออกจากภาพยนตร์ เพื่อให้ได้เข้าฉายในเมืองไทย ทนายคนเดิมกล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะคงเดาใจเขาไม่ได้ ตอนนี้มี 2 ทางเลือก หนึ่งคือทางภาพยนตร์จะเข้ามาเจรจาโดยพาคุณจามาด้วย เพื่อที่ตนจะได้สอบถามถึงภาพยนตร์ “ไอ้หนุ่มกังนัม” ที่คุณจาเอาเงินไปแล้ว 26 ล้านบาทแต่ยังทำไม่สำเร็จว่าจะคืนเงินมาให้แล้วเลิกสัญญากันหรืออย่างไร รวมถึงค่าเสียหายที่สหมงคลฟิล์มฯ เรียกไปจำนวน 1,640,441,475.75 บาท จะเอาอย่างไร สองคือตัดบทแสดงของคุณจาออกจากภาพยนตร์ และสามคือเข้าสู้คดี ซึ่งทั้งนี้ศาลยังไม่ได้นัดไกล่เกลี่ย แต่นัดชี้สองสถาน ในเวลา 09.00 น. วันที่ 16 มิ.ย.2558 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสสังคมที่ออกมาค่อนข้างไม่พอใจ ‘เสี่ยเจียง-สมศักดิ์’ เนื่องจากคนส่วนใหญ่อยากดูภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะนักแสดงนำอย่าง พอล วอล์กเกอร์ และ วิน ดีเซล มากกว่าจะดู จา-พนม เรื่องนี้นายสุวัตรกล่าวว่า สหมงคลฟิล์มฯ ไม่ใช่เจ้าของภาพยนตร์จึงไปแตะอะไรไม่ได้ แต่ที่ต้องทำเพราะสหมงคลฟิล์มฯ ถูกละเมิดโดยทุนข้ามชาติซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเตือนไปแล้ว โดยหลักของกฎหมายต้องนึกถึงเหยื่อคือผู้เสียหายกับผู้กระทำ เมื่อถามว่าจะมีผลกระทบกับทางสหมงคลฟิล์มฯ ไหม ตรงนี้จึงอยากขอร้องว่าคนไทยอย่าเกลียดสหมงคลฟิล์มฯ ในการที่ออกมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง

ต่อข้อถามว่า ‘เสี่ยเจียง-สมศักดิ์’ มีความกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ทนายสุวัตรเผยว่า เสี่ยเจียงค่อนข้างมีความกังวลว่าฟีดแบ๊กกลับมาจะไม่ดี และไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของบริษัทว่าอยู่ๆ ทำไมถึงไประงับภาพยนตร์ บางคนถึงขั้นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายลงในสื่อออนไลน์

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากทางเจ้าของภาพยนตร์อาศัยกระแสสังคมกดดันให้สหมงคลฟิล์มฯเปลี่ยนใจถอนฟ้องเพื่อไม่ให้ภาพยนตร์ถูกระงับ ทนายคนเดิมกล่าวว่า กดดันสหมงคลฟิล์มฯ อาจจะทำได้ แต่กดดันตนไม่มีทาง อาชีพทนายความจำเป็นต้องหาความยุติธรรมให้กับลูกความ จะให้ตนไปเห็นใจผู้ที่กระทำละเมิดไม่ได้ เมื่อรู้ว่าใครเป็นเหยื่อและใครเป็นผู้กระทำ เมื่อนั้นก็จะแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
ด้าน เอ๋-อวิกา เตชะรัตนประเสริฐ รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาด บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เผยว่า ตอนนี้เรื่องต่างๆ อยู่ที่ทนายความ บริษัทเราได้ให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่แรก คำตอบจากทนายความชัดเจนที่สุด ซึ่งถ้าหากเราพูดอะไรออกไป อาจจะมีผลกระทบต่อรูปคดี