บอร์ดปฏิรูปการศึกษา สั่งยกเลิกการสอบ las

บอร์ดปฏิรูปการศึกษา สั่งยกเลิกการสอบ las

บอร์ดปฏิรูปการศึกษา สั่งยกเลิกการสอบlas หรือการจัดสอบประเมินภายในของเขตพื้นที่การศึกษา ชี้ไม่มีความจำเป็น แถมซ้ำซ้อนกับการประเมินของโรงเรียน

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสภาปฏิรูปการศึกษา (สปช.) ได้เสนอให้ยกเลิกการจัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการสอบ NT ( National Test )สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งจัดประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รวมถึง เสนอให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่ หรือการสอบ LAS (Local Assessment System)สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2,4,5,และ ม.1,2,และม.5 ซึ่งเป็นการประเมินภายใน จัดโดนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องนี้ก็มีการถกกันอย่างกว้างขวางและได้ข้อสรุปว่าในการสอบ NT เด็ก ป.3 ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นการทดสอบครั้งแรกในการเข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล เมื่อถึงชั้นป.3 ควรต้องมีการประเมินเพื่อให้ทราบว่าเด็กอ่อนหรือแข็งวิชาใดบ้าง จะได้วางแผนพัฒนาปรับปรุงเด็กได้เหมาะสม แต่สำหรับการสอบ Las นั้น น่าจะไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะเป็นการประเมินภายในของเขตพื้นที่การศึกษา และโดยปกติ โรงเรียนก็มีการทดสอบนักเรียนในช่วงชั้นดังกล่าวอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะยกเลิกการสอบ Las ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 นี้ อย่างไรก็ตามทางเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนก็ต้องไปพัฒนาปรับปรุงประเมินนักเรียนให้ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

“นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดถึงการทำกิจกรรมของนักเรียน ที่ปกติแต่ละปีเด็กจะมีเวลาเรียน 200 วัน แต่พบว่าที่ผ่านมาเวลาเรียนของเด็กจะถูกนำไปทำกิจกรรมอื่นถึง 82 วัน ทั้งที่ตามหลักแล้วนักเรียนไม่ควรใช้เวลาเรียนไปทำกิจกรรมอื่นเกินร้อยละ 10 หรือ 20วัน และการที่เด็กต้องออกไปทำกิจกรรมมาก ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลการเรียนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อกิจกรรมเยอะเกินไปก็ทำให้เด็กเสียเวลาเรียนหนังสือ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าในปีการศึกษาหน้ากิจกรรมเหล่านี้จะต้องลดลงโดยให้กำหนดเป็นนโยบายไปว่า การทำกิจกรรมของนักเรียนจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 หรือไม่เกิน 20 วันต่อปีการศึกษา และให้สพฐ.สั่งการไปยังโรงเรียนและพื้นที่การศึกษาทั้งหมด รวมถึงให้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้พิจารณาเกณฑ์การประเมินการได้มาของวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์(ว.13)ที่ ให้นำผลงานของครูมาเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนไปล่ารางวัลเพื่อมาทำวิทยฐานะ และในการประชุมก.ค.ศ.ที่ผ่านมาได้พิจารณาเห็นชอบเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ใหม่โดยให้ประเมินวิทยะฐานะจากผลการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน ซึ่งในการประชุมก.ค.ศ.ต้นเดือนเม.ย.นี้จะนำหลักเกณฑ์ใหม่มาพิจารณา หากที่ประชุมก.ค.ศ.พิจารณาเห็นชอบแล้วก็จะประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ และยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมทันที อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ส่งผลงานมาก่อนประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ก็ยังคงใช้ ว.13 พิจารณาเหมือนเดิม แต่ผู้ที่ขอวิทยฐานะมาใหม่ก็ต้องนำหลักเกณฑ์ใหม่มาใช้