'อานันท์' ชี้รัฐธรรมนูญเขียนดี 'กินไม่ได้'

'อานันท์' ชี้รัฐธรรมนูญเขียนดี 'กินไม่ได้'

(รายงาน) "อานันท์" ชี้รัฐธรรมนูญเขียนดี "กินไม่ได้" แนะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

วานนี้ (25 มี.ค.) งานเสวนา "ธุรกิจโลกใหม่กำไรบนความยั่งยืน คือ กำไรสูงสุด" จัดโดยบริษัทกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ มีประเด็นดังนี้


นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาว่า ความเคลื่อนไหวของประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีใครปฏิเสธการปกครองระบบประชาธิปไตย แต่ต้องตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเป้าหมาย การนำไปสู่เป้าหมายแต่ละประเทศจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน ไม่มีบรรทัดฐานว่าใช้เวลาเท่าไร ต้องขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตความรู้ประชาชน


มีการพูดถึงกันมากการเลือกตั้ง แน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่นำประเทศทางไปสู่ประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งไม่ใช้ประชาธิปไตยอย่างเดียวเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่น ทั้งรัฐธรรมนูญ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในประเทศไทย เวลาไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่างจังหวัดในการร่างรัฐธรรมนูญ มักจะมีการตั้งคำถามแบบง่ายๆ ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเขียนเสร็จกินได้หรือไม่ หรือให้ประโยชน์กับประชาชนอย่างใดบ้าง และจะช่วยให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่


"ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญต่อให้เขียนดีเท่าไรก็กินไม่ได้ และอาจไม่พอเพียงกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาสู่ประชาธิปไตย ในสายตาของผมสิ่งที่สำคัญคือร่างรัฐธรรมนูญต้องมีระบบธรรมาภิบาล ต้องนำไปสู่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนมีส่วนใหญ่มีร่วมในการตัดสินใจ การเปิดเผยข้อมูลที่ทันท่วงที การเข้าถึงข้อมูลที่ทันต้องเหตุการณ์ มีระบบยุติธรรมทั้งศาล อัยการ ตำรวจ ที่โปร่งใสเป็นอิสระยึดถือธรรมะในการทำหน้าที่"


อีกทั้งมีสถาบันสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระเป็นนายของตัวเอง มีความคิดอ่านของตัวเอง ไม่หวังพึ่งผลกำไรการค้าอย่างเดียว เปิดพื้นที่ทุกฝ่ายออกความเห็นและไม่รับใช้ผลประโยชน์ทางการเมือง การค้าและธุรกิจ การมีธรรมาภิบาลที่ดีจะแก้การผูกขาดอำนาจด้านการเมืองการค้า การมีธรรมาภิบาลผลที่ออกมาประชาชนจะจับต้องได้
ในสังคมทุกสังคมมีข้อบกพร่อง แต่เราต้องไม่ท้อแท้ ขอให้เรามุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในเชิงอำนาจ รายได้โอกาส นำไปสู่การแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศ การที่ทะเลาะกันแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ผ่านมา เพราะเราไม่สามารถทนความคิดต่างได้ ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นของระบอบประชาธิปไตยและการมีธรรมาภิบาล ทุกคนในประเทศต้องมีสิทธิในการรวมตัว การสนทนาต้องเปิดกว้างให้ทุกความคิดแสดงออกได้ เสียงข้างมากต้องมีประโยชน์บนพื้นฐานส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัวหรือกลุ่มการค้า


เมื่อความเห็นของคนหมู่มากนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่มาบังคับใช้ ต้องแน่ใจว่าจะมีประโยชน์คนข้างมากและคนข้างน้อยด้วย คนไทยต้องมีขันติกับความเห็นต่างมากกว่าในอดีต รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพมีความเป็นเอกภาพพอสมควร มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลจากประชาชน ภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ไม่ใช้หวังแต่องค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่


สำหรับภาคเอกชนที่ผ่านมาการตอบรับเรื่องการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมในระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น โดยบริษัทที่มีกำไรจากการค้าขายแลกเปลี่ยน บริษัทที่ดูแลผลประโยชน์เข้าของผู้ถือหุ้นพนักงานบริษัท จะต้องไปคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์บริษัทด้วย


ที่ผ่านมามีหลายบริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญ ที่หันมาทำภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม บริษัทขนาดเล็กเริ่มให้ความสำคัญ ซึ่งการรับผิดชอบต่อสังคมเป็นคนละเรื่องกับการดำเนินการกิจการ


"10ปี ที่ผ่านมา ผมพยายามผลักดันการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ผมดีใจที่ได้เห็นองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์กรอื่นๆ ให้ความร่วมมือ ทิศทางดังกล่าวกระจายไปยังทั่วประเทศบริษัทขนาดเล็กเอสเอ็มอี หากแนวคิดทำประโยชน์ให้สังคมจากกำไรของบริษัท และมีการตั้งเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือสังคม มีกว่า 50 บริษัทเข้าร่วม สิ่งเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุดและต้องดำเนินต่อไป"


อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามว่าทำไมถึงเราต้องรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเราต้องตระหนักว่า ในโลกปัจจุบันภาระรัฐบาลมากมายเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะดูแลประเทศได้ทั่วถึง รัฐบาลไม่มีขีดความสามารถทั้งงบประมาณและบุคลากรรวมถึงความตั้งใจการทำประโยชน์ต่อสังคม 100% และไม่ยุติธรรมที่ทุกเรื่องรัฐบาลต้องทำแต่ เอกชนนิ่งเฉย สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถึงความพอเพียงกับการใช้เหตุผลรวมถึงการศึกษาเพื่อสร้างภูมิป้องกันให้ตัวเอง และเมื่อหันดูประเทศไทย ทั้งสังคมเศรษฐกิจและผลประโยชน์ขิงสังคม ต้องมีหน้าที่ด้านการเมืองด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน


นางสาวสุฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่าการไม่รับผิดชอบต่อสังคมจะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคธุรกิจในอนาคต โดยที่ผ่านมามีความเชื่อมโยงของปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ส่งผลกับแรงงานในขั้นต้นที่จะโดนกดขี่มากขึ้น


ในประเทศไทยที่ผ่านมามีการทำลายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก กรุงเทพฯมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูง มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน มีปัญหาเชิงโครงสร้างสูงมาก ภาคธุรกิจต้องมาช่วยแก้ ที่ผ่านมาบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมากนัก

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่าประเทศไทยแม้มีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมแม้จะทำให้คนจนลดลงแต่ความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยยังคงห่างกันเท่าเดิม โดย 20 ปีที่ผ่านมารายได้ของคนทั้ง2กลุ่มห่างกัน 12 เท่า ต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาเศรษฐกิจมีจำนวนมาก และปัญหายังไม่หมดสิ้น ภาคเอกชนและธุรกิจ ต้องมีบทบาทการแก้ไขปัญหา ต้องเชื่อมภาคการเงินและการรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันแต่ในขณะเดียวกันไม่ทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นถัดไป


ภาคเอกชนพยายามเชื่อมการตอบแทนจากภาคการเงินการลงทุนไปยังการตอบแทนกับสิ่งแวดล้อม ต้องทำกำไรและมีธรรมาภิบาลควบคู่กัน กระแสการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้น ส่งผลดีต่อการสิ่งแวดล้อม ตลาดหลักทรัพย์จึงตั้งหลักเกณฑ์ความยั่งยืนของประเทศไทยเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีโอกาสเข้ามาอยู่ในธรรมเนียมบริษัทที่มีความยั่งยืนได้


นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่าการมีธรรมาภิบาลที่ดีนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ หากเราอยากให้ธุรกิจยั่งยืน ต้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ยอมรับการทำธุรกิจของเราให้ต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน


แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีที่ ภาคธุรกิจในโลกมีการเปลี่ยนแปลงคือมองในระยะยาวมากขึ้น และมีความต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันไปในระยะยาว ประชากรโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง คนหนุ่มสาว มีทัศนะคติอยากทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น และผู้บริโภคจะมีการคัดเลือกสินค้ามากขึ้น เริ่มหันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจจึงปรับตัวเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเขา ที่ผ่านมาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มเล็งเห็นการรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น กดดันไปผู้ผลิตที่ต้องปรับตัวถือว่าเป็นทิศทางที่ดี


นายวิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ กล่าวว่าที่ผ่านมาในภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม ภาคธุรกิจมีทรัพยากรในหลายด้าน มีเครือข่ายในสินค้าและอุปโภคบริโภค นำทรัพยากรมาใช้ในการตอบแทนสังคมทำการลงทุนให้มีความยั่งยืน


"ตัวอย่างการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ตั้งกองทุนคนไทยใจดี เพื่อลงทุนในบริษัทต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน มีกฎเกณฑ์กติกาชัดเจนและแบ่งเงิน 0.8%เข้าไปช่วยพัฒนาประเทศไทย มีการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน มีเม็ดเงินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง"