'สมชัย' วิพากษ์ระบบโอเพ่นลิสต์ หลักการดี-วิธีปฏิบัติยุ่งยาก

'สมชัย' วิพากษ์ระบบโอเพ่นลิสต์ หลักการดี-วิธีปฏิบัติยุ่งยาก

(รายงาน) “สมชัย”วิพากษ์“ระบบโอเพ่นลิสต์” หลักการดี-วิธีปฏิบัติยุ่งยาก

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แสดงความเห็นถึงการเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ตนเองอยากให้เป็นส.ส. หรือ “โอเพ่นลิสต์” ว่า ตนพยายามดูว่าในโลกนี้มีประเทศไหนทำรูปแบบนี้บ้าง เท่าที่สืบค้นดูพบว่าไม่มี ฉะนั้นถือว่าเป็นการคิดค้นใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นนวัตกรรมใหม่ เพราะปกติแล้วระบบบัญชีรายชื่อเคยเห็นแต่การให้เลือกคน แต่ให้เลือกรายชื่อในบัญชีรายชื่ออีกครั้ง ยังไม่เคยเห็น ดังนั้นเมื่อคนไทยไปใช้สิทธิจะรับบัตร 2 ใบ และเลือก 3 อย่าง ในอนาคตอาจต้องเลือกมากกว่า 3 อย่างเพราะจะมีเรื่องการถอดถอนนักการเมืองเข้ามาด้วย


ดังนั้นถ้าถามว่าจะทำให้ประชาชนเป็นภาระหรือการเลือกหลายๆอย่างคราวเดียวกันทำให้ไม่เหมาะสมหรือไม่ ตนคิดว่าเราต้องคิดข้ามไป ถ้าหากเสียงของประชาชนมีความหมายที่สุด ก็ให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเรื่องต่างๆในวันเลือกตั้ง ถือเป็นแนวทางที่พอเป็นไปได้ในประเทศไทย


โดยหลักการโอเพ่นลิสต์ถือว่าเป็นหลักการที่ดี เพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการเลือกคนในบัญชีรายชื่อได้เอง เข้าใจว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมองจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตคือการจัดลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไม่ได้จัดตามความรู้ความสามารถ แต่เป็นการจัดตามอำนาจอิทธิพลเงิน เป็นญาติหัวหน้าพรรคหรือบทบาทความสำคัญที่มีผลต่อหัวหน้าพรรคที่คิดจะเลือกใครก็จับใส่ได้ ไม่เกรงใจประชาชน บางครั้งไม่ได้คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง สาเหตุทำโอเพ่นลิสต์คงมาจากสิ่งนี้เป็นหลัก ดังนั้นการทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกลำดับบัญชีรายชื่อเอง คือการเพิ่มอำนาจในประชาชน นี่คือหลักการ แต่จุดอ่อนคือประชาชนจะรู้หรือไม่ว่าในบัญชีรายชื่อคนไหนดี คนไหนน่าเลือก ซึ่งพรรคการเมืองต้องแก้เองว่าทำอย่างไร จึงจะคัดคนที่ประชาชนรู้จัก มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ


"ต้องยอมรับว่าถ้าจัดแบบโอเพ่นลิสต์ก็ทำให้เกิดปัญหากับกกต.ในเรื่องการจัดรูปแบบการเลือกตั้ง การนับคะแนน ในทางเทคนิค ถ้ากมธ.ยกร่างฯ ยืนยันใช้โอเพ่นลิสต์ เป็นหลักการดี แต่ทางเทคนิคยุ่งยาก แต่อยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ต้องยอมรับว่าจะเกิดปัญหาเกิดขึ้น ส่วนการนับคะแนนต้องเพิ่มกระบวนการนับมากขึ้น จากเดิมนับ2 อย่าง ก็ต้องไปนับ 3 อย่าง เท่ากับว่าเราจำเป็นต้องมีเวลาให้กกต.ในการนับคะแนนมากขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้การนับคะแนนล่าช้าไปอีกเป็นวันสองวัน และทราบมาว่าการนับคะแนนครั้งใหม่จะใช้แบบรวมกันไม่ใช่นับที่หน่วย ดังนั้นการได้มาซึ่งผลการเลือกตั้งให้ทำใจเผื่อไว้ 2-3 วันกว่าการนับคะแนนจะเสร็จสิ้นลง อย่างไรตามถ้าหากดำเนินการก็เป็นหลักการดี แต่ในทางปฏิบัติมีปัญหาจึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯคิดให้ทะลุว่าถ้าจะดำเนินการบัตรเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร การนับคะแนนเป็นอย่างไร แต่ทุกอย่างกกต.ทำให้ได้ไม่มีปัญหา” ส่วนข้อเสนอเรื่องให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง(กจต.)เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทนกกต.นั้น ไม่รู้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีการทบทวนหรือไม่ ก็อยากให้คิดดีๆ ว่า การเลือกตั้งหลังจากนี้จะมีรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองเข้ามากำกับดูแลกระทรวงต่างๆ และเมื่อ กจต.มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวงนั้น จะมีการแทรกแซงจากนักการเมืองเพื่อให้มีการเอื้อประโยชน์ในผลการเลือกตั้งหรือไม่ แต่หากมั่นใจว่าการให้ กจต.จัดการเลือกตั้งจะไม่ถูกแทรกแซงก็ดำเนินการได้ แต่หากเกิดการแทรกแซงและทำให้เกิดผลเสียขึ้น คนที่ออกแบบก็ต้องรับผิดชอบ


"ความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับฝ่ายการเมือง เป็นเส้นแบ่งที่ไม่เคยได้ผล จะออกแบบกลไกกติกายังไง ท้ายสุดราชการที่มุ่งความก้าวหน้าก็จะวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมือง เพื่ออิงอำนาจ อย่าไปคิดว่าช่วงเลือกตั้งปลัดกระทรวงรักษาการแล้วปลัดจะอิสระปลอดการเมือง ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งก็มีข้าราชการประจำหลายคนที่เล็งแล้วว่าพรรคไหนจะชนะ ช่วงที่รักษาการก็ต้องคิดแน่ ความเกรงออกเกรงใจ การดำเนินการที่เอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่งก็อาจยังเกิดขึ้นได้ เวลานักการเมืองเดินไปไหน มีปลัดกระทรวงเดินตามกี่คน อยากให้ไปคิดทบทวน ไม่ใช่หวงอำนาจ เพราะจริง ๆ กกต.ทำงานง่ายขึ้น แต่เพราะเราคิดบนผลประโยชน์ชาติ และการเลือกตั้งที่เป็นํธรรมเป็นหลัก” นายสมชัย ระบุ