'แพร่' ไม่ใช่แค่ผ่าน

'แพร่' ไม่ใช่แค่ผ่าน

เมืองอันเงียบสงบและง่ายงามกับยานพาหนะสองล้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดูจะเป็นสองสิ่งที่เข้ากันดี

หากถามคนปั่นจักรยานว่าสถานที่แบบใดเป็นสถานที่ในฝันและอยากพาเจ้าสองล้อคู่ใจไปปั่น คำตอบที่ได้คงไม่ใช่เมืองแสนวุ่นวายและการจราจรติดขัด เพราะนอกจากจะเสียสุขภาพกายเพราะมลพิษ ยังเสียสุขภาพจิตอีกด้วย


แต่คำถามสุดฟุ้งฝันกลับมีคำตอบอยู่จริง ณ ดินแดนที่เป็นดั่งประตูสู่ภาคเหนือ นั่นคือจังหวัดแพร่...


แม้แพร่จะถูกมองเป็นเมืองผ่าน และแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวใช้แพร่เพื่อข้ามไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ แต่ถ้าได้ลองแวะดื่มด่ำเมืองแพร่สักนิด รับรองว่าทัศนคติจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน...โดยเฉพาะนักปั่นผู้หลงใหลชีวิตแบบ Slow Life แต่ไวกว่าเดิน

ปั่นเนิบเนิบ


ต้องยอมรับว่านาทีนี้จักรยานเป็นกระแสที่มาแรงจริงๆ และจักรยานก็กำลังกลายเป็นยานพาหนะเพื่อการท่องเที่ยวชั้นเยี่ยมอีกด้วย สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งจึงเลือกจักรยานเป็นตัวชูโรง จังหวัดแพร่ก็เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างตรงที่เมืองแพร่เป็นเมืองจักรยานอยู่แล้ว คือชาวแพร่นิยมปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันเป็นทุนเดิม เพราะฉะนั้นคนพื้นที่จึงเข้าใจหัวอกนักปั่นเป็นอย่างดี


ไม่ใช่แค่เรื่อง 'จิตวิญญาณนักปั่น' จะอยู่ในสายเลือดคนแพร่ แต่เมืองนี้ช่างเอื้อต่อชาวสองล้อเสียจริง ทั้งถนนหนทาง อาหารการกิน และสถานที่ท่องเที่ยว เรียกได้ว่าพร้อมสรรพฉบับสมบูรณ์เลยทีเดียว


ยิ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ จัดกิจกรรม 'ปั่น เนิบ เนิบ' ในพื้นที่สามจังหวัด แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ด้วยแล้ว การปั่นจักรยานเที่ยวเมืองแพร่ดูจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเรามาร่วมหาคำตอบว่า 'เมืองแพร่' ไม่ใช่แค่ 'เมืองผ่าน' ไปด้วยการปั่นเนิบเนิบกันเลย...

ชิลล์ชมเมือง


จักรยานก็เหมือนยานพาหนะอื่นที่คนขับขี่จะทำให้เร็วก็เร็ว จะทำให้ช้าก็ช้า แต่สำหรับนักปั่นขาชิลล์คงไม่ต้องเดาเพราะจะเร็วจะช้าไม่สำคัญขอแค่ได้ชิลล์เป็นพอ


สำหรับขาชิลล์ที่ปั่นเนิบเนิบตามคอนเซปต์ เส้นทางในเมือง 'ท่องเวียงเก่าแป้' น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด โดยแนะนำให้เริ่มต้นที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ตั้งอยู่ที่ถนนบ้านใหม่ อ.เมืองแพร่ เพื่อรับทราบข้อมูลและขอเส้นทางปั่นเนิบเนิบได้ที่นี่ และทันทีที่เข้ามาติดต่อก็จะได้รับแผนที่ท่องเที่ยวซึ่งไว้ประทับตราจากแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ร่วมโครงการ เมื่อประทับตราครบก็ส่งคืนททท.เพื่อรับของที่ระลึกได้อีกด้วย


หลังจากรับแผนที่แนะนำให้ปั่นไปตามถนนน้ำคือ ไม่นานนักก็จะมาถึงร้านจินเจอร์เบรดเฮาส์ แกลลอรี่ อยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่ ที่ร้านจินเจอร์เบรดฯนี้เป็นร้านกาแฟที่ขึ้นชื่อทั้งรสชาติกาแฟและรสชาติบรรยากาศ ภายในร้านตกแต่งสวยงามโดยมีทั้งกลิ่นอายล้านนาและความทันสมัยผสมผสานกันอย่างลงตัว ทำให้ที่นี่เป็นจุดพักผ่อนของนักเดินทางมากมาย แม้แต่นักปั่นจักรยานทัวริ่ง (Touring Bike) ชาวต่างชาติก็แวะเวียนมานั่งชิลล์ที่นี่เป็นประจำ


นอกจากเป็นร้านกาแฟ มีขนม มีสินค้าเก๋ๆ ขายแล้ว ด้านบนก็เปิดเป็นแกลลอรี่สมดังชื่อร้าน โดยจะมีงานศิลปะแขนงต่างๆ วนเวียนมาจัดแสดง ซึ่งในวันที่ 5 เมษายนนี้จะมีงานแสดงภาพถ่ายของศิลปินพื้นบ้านชาวแพร่ ถ่ายทอดมุมมองของคนเมืองแพร่อย่างถึงแก่นและงดงาม


สำหรับใครที่ไม่ได้มีจักรยานส่วนตัว ที่ร้านจินเจอร์เบรดฯก็มีจักรยานให้เช่า เป็นจักรยานแม่บ้านญี่ปุ่นคันงาม คิดค่าเช่าเพียงวันละ 60 บาท ครึ่งวัน 30 บาท แต่ถ้านำไปใช้หลายวันแล้วต้องนำไปค้างคืนด้วยจะคิดค่ามัดจำ 1,000 บาท (กรณีเป็นคนไทย)


หลังจากได้เติมคาเฟอีนเข้าร่างกายและได้จักรยานคู่ใจแล้ว แนะนำให้ปั่นไปยังบ้านวงศ์บุรี โดยใช้ถนนร่องซ้อแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนวิชัยราชา จะสังเกตว่าผ่านวัดศรีบุญเรืองซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ จะแวะหรือจะปั่นผ่านก็ได้ เพราะตลอดเส้นทางกว่าจะถึงบ้านวงศ์บุรียังมีหลายที่ที่น่าสนใจ เช่น คุ้มวิชัยราชา (คุ้มเจ้าโว้ง) เป็นบ้านไม้สักอายุกว่า 100 ปี เป็นคุ้มของพญาแสนศรีชวาสืบทอดมาถึงสมัยพระวิชัยราชา เป็นเรือนไม้สักทรงมะลิลาที่ยังคงสภาพและความงามไว้ได้ดี


หรือจะแวะไปทางถนนคุ้มเดิมสักนิดก็จะเจอพิพิธภัณฑ์ไม้สักแสนร่มรื่น อดีตคือโรงเรียนป่าไม้แพร่ เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำไม้และไม้สักซึ่งถือเป็นของขึ้นชื่อของเมืองแพร่เลยทีเดียว หากคนกรุงเทพฯรู้จักเอเชียทีค นั่นแหละคือบริษัทเดียวกับอีสเอเชียติก บริษัทค้าไม้ที่เข้าสัมปทานไม้ในเมืองแพร่ในอดีตกาล


วกเข้ามาที่ถนนคำลือไม่ไกลนักก็จะถึงบ้านวงศ์บุรี หากใครนึกไม่ออก ให้นึกถึงละครเรื่องรอยไหม ที่พำนักของเจ้าหญิงมะณีรินก็คือที่บ้านวงศ์บุรีแห่งนี้นี่เอง


บ้านวงศ์บุรี หรือ บ้านชมพู หรือ คุ้มวงศ์บุรี สร้างเมื่อปี 2440 โดยเจ้าพรหม (หลวงพงษ์พิบูลย์) และเจ้าสุนันทาวงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) เป็นบ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ ฐานอิฐและซีเมนต์สูงจากพื้น 1 เมตร หลังคาสองชั้น มีช่องระบายลมระหว่างชั้นที่สองเพื่อเพิ่มการไหลเวียนอากาศเนื่องจากบ้านหันหน้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จึงมีลมพัดเย็นในฤดูร้อนแบบนี้


ที่บ้านวงศ์บุรีนี้เปิดทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นโดยเสียค่าเข้าชมเพียง 30 บาท ยิ่งได้เข้าไปชมภายในบ้านเงินเพียง 30 บาทนั้นคุ้มแสนคุ้ม เพราะลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียงช่องลม ชายน้ำหน้าต่าง และประตู ล้วนสร้างและตกแต่งอย่างประณีตและยังคงสภาพดีจนได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะประตูด้านหน้าเป็นปูนปั้นรูปแพะซึ่งเป็นตัวแทนของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันทาเพราะเกิดปีมะแม นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลให้เดินชมกันเพลินตาเลยล่ะ


หากยังชมเรือนไม้เก่าๆ สวยๆ ไม่จุใจ ให้รีบขึ้นจักรยานแล้วปั่นไปบนถนนคุ้มเดิมเพียงนิดเดียวก็จะเจอคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อยู่ใกล้ศาลหลักเมืองและจวนผู้ว่าจังหวัดแพร่


คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารโอ่โถ่ง มีประตูหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน และแต่ละบานก็มีชื่อเรียกไม่ซ้ำกัน คุ้มแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่องค์สุดท้าย


นอกจากความเก๋ไก๋ที่ประตูหน้าต่างทุกบานมีชื่อเรียก ลวดลายไม้แกะฉลุก็ยังสวยงามมาก เท่านั้นไม่พอยังมีความมหัศจรรย์ตรงที่ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐ ถือปูนสองชั้น แต่ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็งรองรับฐานเสาทั้งหลัง


หากเดินชมข้างบนเสร็จแล้วต้องปิดท้ายด้วยห้องด้านล่างซึ่งเป็นที่คุมขังทาสบริวาร ห้องกลางจะมืดทึบสำหรับผู้ที่ทำผิดร้ายแรง ส่วนปีกซ้ายและขวาจะไม่มืดนักสำหรับผู้มีความผิดสถานเบา


หากมีเวลาหรืออยากเที่ยวต่อ แค่ปั่นวนไปเวียนมาแถวนี้ก็ยังมีอีกหลายที่ให้แวะชม เช่น วัดพระนอน ศาลหลักเมือง วงเวียนพรหมวิหารสี่ ประตูใหม่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละที่มีเรื่องราวน่าสนใจ และที่สำคัญถนนหนทางที่จะพาไปถึงก็ค่อนข้างดี แม้ขึ้นชื่อว่าตัวเมืองแต่ก็รถราน้อย ไม่ต้องกลัวการจราจรคับคั่งอย่างในเมืองกรุง



ทางสวยของสายแข็ง


แม้ชื่อกิจกรรมปั่นเนิบเนิบจะสอดคล้องกับเส้นทางในเมืองแพร่อย่างยิ่ง แต่ใช่ว่านักปั่นสายแข็งหรือพวกแข้งทองทั้งหลายจะไม่มีที่ปั่น เพราะเส้นทางที่สองนี้สร้างมาเพื่อนักปั่นฮาร์ดคอร์ตัวจริง


'สูดโอโซน @ ช่อแฮ' คือชื่อเส้นทางสายนี้ อย่างที่บอกว่านี่คือเส้นทางของสายแข็งเพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำนักปั่นสายชิลล์มาท้าทาย เพราะอาจต้องเข็นจักรยานกลับ แต่ถ้าอยากชื่นชมเสน่ห์ของเส้นทางนี้ก็ขับรถไปได้สะดวกสบาย


ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยและนับเป็นจุดเริ่มต้นไปพร้อมกันที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง โดยเฉพาะคนเกิดปีขาล (ปีเสือ) ต้องขึ้นไปสักการะพระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เจดีย์องค์นี้เป็นทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาแพร่แล้วไม่ได้มากราบไหว้พระธาตุช่อแฮถือว่ามาไม่ถึง


อิ่มใจแล้วก็ได้เวลาเผาผลาญพลังงานไปกับเส้นทางหฤโหด โดยมุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุดอยเล็งซึ่งห่างไปประมาณ 4.5 กิโลเมตร เส้นทางนี้คดเคี้ยวแต่ไม่ไกลนัก มีเพียงความสูงชันนิดหน่อยที่ท้าทายนักปั่นให้ฝ่าแรงดึงดูดโลกเพื่อขึ้นไปสักการะ เพราะพระธาตุดอยเล็งเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในบรรดาพระธาตุทั้งหมดในจังหวัดแพร่ แต่เมื่อขึ้นไปถึงบนนั้นได้แล้วถือเป็นจุดชมวิวที่สวยมากที่สุดจุดหนึ่งของจังหวัดแพร่ หากอากาศปลอดโปร่งจะมองเห็นได้ถึง 3 อำเภอคือ สูงเม่น, ร้องกวาง และอำเภอเมืองแพร่


ลงจากพระธาตุดอยเล็งแล้วย้อนกลับไปที่ถนนสาย 1022 และปั่นต่อไปตามถนนลาดยางสายนี้โดยจุดหมายของเราคือน้ำตกเชิงทอง ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ที่ ลน.1 แต่ด้วยความสูงชันและคดเคี้ยวทำให้การปั่นจักรยานโดยหวังจะทำความเร็วทั้งที่ไม่ชำนาญทางจึงเป็นเรื่องยาก สองล้อกับสองขาจึงค่อยๆ พากันไปอย่างเนิบเนิบ...สมชื่อโครงการ


แต่สิ่งที่มาทดแทนความเร็วคือสองข้างทางกลับทำให้หายเหนื่อย แม้ระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร แต่แทบทุกกิโลเมตรน่าจอดแวะไปเสียหมด เพราะจุดเด่นของถนนสายนี้คือมีแมกไม้ระรายทาง มีลำธารใสไหลเคียงคู่ไปพร้อมกับพวกเรา


สำหรับนักปั่นที่ต้องการเติมพลังก็มีร้านอาหารอยู่เป็นระยะ แต่ที่สะดุดตาไม่น้อยคือร้านอาหารม่อนนกยูง นอกจากทำเลโดดเด่นแล้วอาหารยังรสชาติดีทีเดียว


ปั่นไปเรื่อยๆ ดันเนินบ้าง ปล่อยไหลบ้าง (บางคนอาจต้องเข็นบ้าง) จนมาถึงอีกจุดที่ต้องแวะคือสวนอาหารชลลชาติ ครัวริมธาร ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพระธาตุช่อแฮประมาณ 7 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้านนาตอง ที่ต้องแวะก็เพราะร้านนี้เป็นอีกจุดประทับตราโครงการปั่นเนิบเนิบ แต่ยิ่งกว่านั้นคือบรรยากาศภายในร้านและหลังร้านช่างเหมาะแก่นักปั่นที่ต้องการพักเหนื่อยไปกับเสียงสายน้ำในลำธารซึ่งไหลมาจากต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน ยิ่งได้จิบกาแฟหรือเครื่องดื่มเย็นๆ ไปด้วย อาจต้องใช้เวลากับที่นี่นานเชียวล่ะ


และจุดเด่นที่ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจก็คือเส้นทางสายนี้คดโค้งไปตามเนินเขา เลียบลำธารน้ำใส จึงมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และที่พักมากมาย แต่สวนอาหารชลลชาติฯ กลับอยู่ในจุดที่นักปั่นจะดันเนินมาจนหมดแรงกันพอดี ที่นี่จึงเป็นที่นิยมมากสำหรับนักปั่นขาแรง...แต่หมดแรง


พักกันพอหอมปากหอมคอ (หอมกลิ่นกาแฟและไอเย็นๆ ของสายน้ำด้วย) ก็เตรียมตัวมุ่งหน้าสู่น้ำตกเชิงทอง ซึ่งห่างไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่เป็นน้ำตกขนาดเล็กอยู่ริมถนน ในฤดูร้อนแบบนี้จึงไม่ค่อยมีน้ำสักเท่าไร แต่ก็ยังมีทัศนียภาพสวยงาม และช่วงฤดูกาลนี้เองที่นักท่องเที่ยวจะน้อย แต่ชาวบ้านได้ใช้สอยอย่างเต็มที่เหมือนเดิม


...


แม้จักรยานจะพาพวกเราไปได้หลายที่ แต่ถ้ามีเวลามากกว่านี้รับรองได้ว่าเมืองแพร่ยังมีอีกหลายแง่มุมให้สองล้อได้ซอกแซกไปถึง คำว่าแพร่เป็นเมืองผ่านอาจต้องเปลี่ยนใหม่เป็นเมืองที่แสนผูกพัน เพราะป่าเขาลำเนาไพรและเมืองแสนสงบแห่งนี้ยังอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติอยู่เสมอ

................


การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ผ่าน จ.นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ รวมระยะทางประมาณ 551 กิโลเมตร


รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟจากกรุงเทพฯไป อ.เด่นชัย ทุกวัน จากนั้นต่อรถประจำทางเข้าตัวเมืองแพร่ ซึ่งห่างจากเด่นชัยประมาณ 24 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690, 0 2220 4444 สถานีเด่นชัย โทร.0 5461 3260 -1 หรือ www.railway.co.th


รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทาง ทั้งรถธรรมดาและปรับอากาศจากกรุงเทพฯมายังจังหวัดแพร่บริการทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีเดินรถสายเหนือ หมอชิต 2 โทร.0 2935 2852 -66 บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดแพร่ โทร.0 5451 1276 หรือ www.transport.co.th


เครื่องบิน แพร่มีสายการบินเปิดบริการได้แก่ สายการบินนกแอร์ เที่ยวบินดอนเมือง-แพร่ โทร.05452 2189 หรือ www.nokair.com