เช็ค อาการ โรคไข้กาฬหลังแอ่น

เช็ค อาการ โรคไข้กาฬหลังแอ่น

การระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทยพบได้โดยเฉลี่ย 20-50 รายต่อปี

จากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย จนมีผู้เสียชีวิต ทำให้หลายฝ่าย รวมไปถึงประชาชนหันมาสนใจโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเทศไทยพบได้โดยเฉลี่ย 20-50 รายต่อปี

นพ. อมร แซ่เล้า อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Neisseria meningitidis) ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) เกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (meningococcemia) ซึ่งเป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอายุประมาณ 5-19 ปี การระบาด
มักพบในชุมชนกึ่งปิดที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่น สถานเลี้ยงเด็ก ค่ายทหารเกณฑ์ โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่จะพบการระบาดในทวีฟอาฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา ช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น จะพบว่ามี 2-10% ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสูงถึง 70% ในผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดการติดต่อและกลไกการเกิดโรค นพ. อมร กล่าวถึงการติดต่อของโรคว่า การติดเชื้อจะเกิดเฉพาะจากคนสู่คน โดยการหายใจเอาละอองฝอยของน้ำมูก เสมหะ น้ำลาย จากการไอ แพร่เชื้อไปให้แก่ผู้ที่ใกล้ชิด เชื้อโรคจะมีระยะฟักตัวอยู่ในร่างกาย ประมาณ 2-10 วัน (เฉลี่ยประมาณ 3-4 วัน) ซึ่งมีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงแคปซูลของเชื้อแบคทีเรีย และความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การขาดคอมพลีเมนต์( complement defiency) ทำให้เชื้อ สามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิตหรือระบบประสาทส่วนกลางได้ ฉะนั้นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นมักมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยมากถึง 400 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปๆที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ลักษณะอาการของโรค

สำหรับอาการสำคัญของโรคมี 3 อย่าง คือ 1. มีไข้ มีผื่นและมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดโดยเริ่มจากการเจ็บคอ ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อตามด้วย ซึ่งอาการของเยื่อ หุ้มสมองอักเสบ คือ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็ง และมีอาการซึม โดยอาการจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะพบผื่น และมีเลือดออกในผิวหนังหรือเยื่อบุ (pethichiae) ส่วนมากพบบริเวณลำตัว ขา และบริเวณที่มีแรงกด เช่น รอยขอบกางเกง ถ้าเป็นมากขึ้น จะมีผื่นที่มีลักษณะรวมเป็นจุดจ้ำเลือด (echimosis) และในรายที่รุนแรงจะมีภาวะช็อค ซึ่งเกิดจากภาวะเลือดแข็งตัวใน หลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC) รวมถึงมีเลือดออกในอวัยวะภายในและอวัยวะล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิต

การวินิจฉัยและการรักษา

นพ. อมร กล่าวด้วยว่า การตรวจวินิจฉัยจะตรวจด้วยการเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง รวมไปถึงสามารถเพาะเชื้อจากผื่นเลือดออกในผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ และการตรวจด้วยวิธีหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (PCR) ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลเร็วและมีประโยชน์ในกรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน ส่วนการรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และยาที่แพทย์มักจะเลือกใช้คือ กลุ่ม penicillin หรือ cepharosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคองอาการ เช่น การให้สารน้ำและเกลือแร่ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ ช่วยรักษาสมดุลเกลือแร่ ความเป็นกรดด่างในร่างกาย รวมถึงการให้ส่วนประกอบของเลือด ด้วย

ทั้งนี้ การป้องกันโรค มี 2 วิธีหลักๆ คือ การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย ทหารในค่าย เดียวกัน โดยการใช้ยานั้นจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และอีกวิธีคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งแนะนำให้นักเรียน นักศึกษาที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป และ ผู้ที่จะเดินทางในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ (meningococcal belt) เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งก่อนหน้านี้วัคซีนจะครอบคลุมเพียงบางสายพันธุ์ที่ระบาดบ่อยๆ ได้แก่ สายพันธุ์ A, C, Yและ W-135 ส่วนสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย อย่าง สายพันธุ์ B นั้นยังไม่มีวัคซีนครอบคลุม แต่ในปัจจุบันเพิ่งมีการรับรองวัคซีนสำหรับสายพันธ์ B เรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา