บนวิถีของ (เน็ต) ไอดอล

บนวิถีของ (เน็ต) ไอดอล

เมื่อถูกยกให้เป็น ‘เน็ต ไอดอล’ ต่อให้อยากรับไว้หรือไม่ แต่ที่เหล่าไอดอลทั้งหลายต้องยอมรับให้ได้ นั่นคือ ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แค่มีนามสกุลเป็นเน็ตไอดอล ไม่ว่าจะคนอื่นตั้งให้ หรือจะสถาปนาตัวเอง เชื่อว่า ‘ด่านแรก’ ที่ต้องผ่านให้ได้ คือ ‘ขี้ปาก’ ไหนจะคำติ ไม่เห็นจะสวย บลาๆๆ แถมรูปที่โพสต์ขึ้นไป ยังแทบจะถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสารพัดแอปฯ เบื้องหลังภาพสุดจิ้น

ที่สำคัญ กว่าจะได้เป็นเน็ตไอดอล มันไม่ง่ายแค่ผ่านแอปฯ แต่ละคนต้องมีสไตล์เป็นของตัวเอง ต้องมีรูปขึ้นนิวส์ฟีดให้คนติดตามเห็นบ่อยๆ พอเป็นเน็ตไอดอลแล้ว ก็ไม่ได้ง่ายอีกเหมือนกัน เพราะต้องพร้อมเสมอกับบรรดา Photo Hunter นิรนามที่มีอยู่ทุกที่ที่มีมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ก็ “เน็ตไอดอลไทยสวยจริงหรือสวยหลอก” กลายเป็นเรื่องท็อปที่อยู่ในความสนใจมาระยะหนึ่งไปแล้ว ตั้งแต่มี “ชาวเน็ต” จับผิดว่า สาวหน้าเรียว ตัวเล็ก บางคนใช้แอปพลิเคชันบีบจนบ้านเบี้ยว รั้วเบี้ยวไปก็มี

ยิ่งตอนนี้ หลังมีภาพ “น้องอลิซ” เน็ตไอดอล ที่มีผู้ติดตามร่วมแสนคนในอินสตาแกรมและกว่าสามแสนคนในเฟซบุ๊คในลุคเซ็กซี่ สดใส หุ่นดี แบบที่ใครๆ (?) มองว่า นี่แหละคือสาวในฝัน! ออกมาในแบบที่รูปร่างใหญ่ผิดไปจากภาพที่เธอโพสต์เอง ชาวเน็ตก็ยิ่งพากันดรามาว่า ผิดหวังกับหุ่นเธอบ้าง ทำไมเธอต้องหลอกลวงบ้าง (?) จนถึงขนาดเป็นประเด็นถกเถียงกันลามไปถึงข้อดีของคนอ้วน คนผอม

 

โลก เสมือนจริง

"เขา (เน็ตไอดอล) ค่อนข้างจะมี space ของตัวเอง ในบัญญัติศัพท์ทั่วไป อาจจะเรียกว่า โลกส่วนตัวก็ได้ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นภาพมโนของตัวเอง อยู่กับความคิดครึ่งนึง อยู่กับโลก visual ครึ่งนึง” หฤหรรษ์ แอร์รี่ นพวรรณ ช่างภาพคนดัง และที่ปรึกษาด้านสื่อสังคมออนไลน์ที่สัมผัสกับบรรดาเน็ตไอดอลมาทุกรูปแบบเล่าจากประสบการณ์ตัวเอง

“เราก็เคยทำงานกับเน็ตไอดอลที่หน้าในรูปกับหน้าตัวจริงไม่เหมือนกัน ตัวจริงก็ดำๆ ตัวเล็กๆ แกร็นๆ แบรนด์ก็อยากได้คนนี้มาก เพราะเขามี followers เยอะ แต่เขาก็เรื่องมาก ไม่ยอมมาสักที conditions เยอะ แต่ว่าสุดท้ายก็พบความจริงว่า เขาก็ไม่ได้ดูดีเหมือนในรูป เขาห่วงว่า ถ้าถ่ายออกมาแล้วเขาจะไม่เหมือนในรูป” แอร์รี่เล่า

จากการประมาณของแอร์รี่ ตอนนี้มีเน็ตไอดอลผู้แสดงตัวตนผ่านโลกโซเชียลในหลักพัน มีทั้งคนที่มีคาแรคเตอร์ มีความสามารถเฉพาะตัว เช่น รู้เรื่องไอที เรื่องความงาม หรือคนที่หน้าตาดีอย่างเดียวก็มี โดยจะเข้าขั้นเน็ตไอดอลได้ ต้องมีผู้ติดตามขั้นต่ำในหลักหมื่น ซึ่งสินค้าหลายชนิดก็จะใช้พลังของเน็ตไอดอลตรงนี้ในการส่งข้อความไปหาลูกค้าแบบใกล้ชิดที่สุด

แม้สถานะ เน็ตไอดอล จะเป็นความฝันของใครหลายคน แต่สำหรับบางคนที่เกิดดังบนโลกออนไลน์ขึ้นมา และไม่อยากถูกจัดหมวดเป็นเน็ตไอดอลก็มี

“อยากให้มองเราเหมือนเพื่อนเดินทางสักคน เวลาเราอัพโหลดรูปต่างๆ ก็เหมือนได้เที่ยวไปด้วยกันมากกว่า ไม่อยากให้มองเป็นไอดอล เป็นบุคคลที่น่ายกย่องอะไรมาก เพราะเราใช้ชีวิตธรรมดา ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่นค่ะ” พิมฐา-ฐานิดา มานะเลิศเรืองกุล สาวสวยลุคสดใสที่มีคนติดตามเกือบเก้าแสนคนบอก

สำหรับเธออินสตาแกรมเป็นเหมือนไดอารี่ที่เธอไม่กลัวที่จะเล่า หรือใช้แสดงตัวตนที่แท้จริงมากกว่าเป็นพื้นที่ที่จะให้ใครมาชื่นชม

เช่นเดียวกับ นพรรต นพปศักดิ์ หรือ อุ้ม เจ้าของอินสตาแกรมที่มีคนตามกว่าสี่แสนคนก็ยืนยันว่า เธอไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเน็ตไอดอล แต่คนอาจตามเธอจากความสนใจเรื่องอาหาร

“เน็ตไอดอลสำหรับเราอาจจะดังมาจากไอจี เฟซบุ๊ค นู่นนั่นนี่ เขาจะต้องมีอะไรพิเศษทางด้านนึงที่มันชัดเจนไปเลย อุ้มก็ไม่อยากเรียกตัวเองเป็นเน็ตไอดอล แต่ด้วยคำมันคือต้องดังมาจากสื่ออินเทอร์เน็ต” อุ้มบอก โดยเวลาที่เธอถ่ายรูปลงไอจีก็ไม่ได้ใช้แอปฯ แต่งรูปที่ทำให้ตัวเองดูเปลี่ยนแปลงไปจากตัวจริงเลย

“เราชอบทำอาหาร รูปที่ลงก็จะมีทั้งรูปส่วนตัวและรูปอาหาร” อุ้มบอก

หลังฉากไอดอล

"รูปทุกรูปที่เลือกมาลง เราก็อยากให้ภาพออกมาสวยๆ อยู่แล้ว” ณัฐพงศ์ ชินโสภณทรัพย์ หรือ โบ๊ท เจ้าของไอจีดังที่โพสต์รูปคู่กับนิวเยียร์ แฟนหนุ่ม จนกลายเป็นคู่จิ้นในโลกโซเชียลบอก

แม้ไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็น แต่โบ๊ทก็ยอมรับว่า วันนี้ เขา คือ เน็ตไอดอล โดยจำนวนผู้ติดตามของโบ๊ทในช่วงสามปีที่แล้ว เริ่มจากหลักร้อยเหมือนคนทั่วไปจนขยับเป็นเกือบห้าแสนคนในตอนนี้

“มันไม่ถึงกับว่าต้องเตรียมการ ถ้าเราไปไหนก็จะถ่ายไว้ ตรงนี้สวยก็อยากถ่ายคู่กัน ประมาณนั้นมากกว่า ตอนนั้นไปอังกฤษ อากาศหนาว ลมมันตี กว่าจะได้รูปคู่ที่มีทรงผมปกติมันยากมาก บางทีคนนี้ได้ อีกคนไม่ได้” โบ๊ทยืนยันว่า ทุกรูปที่เขาลงไม่ได้เป็นการ “สร้าง” เบื้องหลังรูปที่โพสต์นั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนธรรมดาที่อยากจะลงรูปเลย

“มีบ่อยที่กว่าจะได้รูปที่ถูกใจก็มีการลงแรงกันหน่อย เช่น ล่าสุดไปร้านกาแฟกับเพื่อนๆ อยากถ่ายรูปกาแฟสวยๆ ก็เดินก้มเก็บลูกสน กิ่งไม้สวยๆ หรือยกถาดกาแฟเพื่อนไปวางโต๊ะอื่นก็มีค่ะ” พิมฐาเล่าในเชิงเดียวกัน

แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เมื่อมี นามสกุล เน็ตไอดอล พ่วงท้าย ก็ส่งผลให้เขาและเธอต้องดูแลตัวเองมากขึ้นทั้งในโลกโซเชียลและโลกแห่งความเป็นจริง

อุ้มบอกว่า พอเริ่มมีคนติดตามมากขึ้น ก็จะคิดมากขึ้นก่อนจะลงรูปหรือเขียนแคปชัน เพราะคนที่ตามเธออยู่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เธอจึงไม่อยากให้ดูไม่ดีในสายตาคนเหล่านั้น

“ช่วงเราโทรม นอนน้อย พักผ่อนไม่พอ เพิ่งไปกดสิวมา หน้าบางทีอาจจะเยินๆ ก็จะมีกังวลว่า ไม่อยากให้มาถ่ายรูปตอนนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มายด์ เพราะว่าเราเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น กล้องสมัยนี้ มันก็จะมีโหมดที่สว่างขึ้น ขาวขึ้น มันก็อาจจะขาวขึ้นมาหน่อย แต่มันก็ไม่ได้เวอร์... แต่ถ้าวันไหน เราไปกดสิวมา เราก็อาจจะเสียเซลฟ์นิดนึง แต่ว่าก็ไม่ได้อะไร เพราะคนปกติก็ต้องมีช่วงดูดี ช่วงโทรม” โบ๊ทเล่าถึงชีวิตปกติของเขา

ฟาก นิวเยียร์-กิตติวัฒน์ สวัสดิมิลินท์ คู่ขวัญของโบ๊ท ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า ความเป็นเน็ตไอดอล ไม่ได้ทำให้เขาต้องสร้างกระแสอะไร เขามีความสุขที่จะลงรูปไหนก็จะลง แต่อาจจะทำให้ต้องวางตัวให้ดีขึ้นมากกว่า

“ด้วยความที่เป็นคู่รักกัน มันก็มีหลายอารมณ์ อยู่ด้วยกันส่วนใหญ่เป็นคนตลก พี่โบ๊ทก็ชอบแกล้งผม แต่ว่าเวลาเราเจอคนข้างนอกก็เหมือนมีเกราะป้องกันเพื่อให้ภาพของเราออกมาดูดี แต่ไม่ได้สร้างภาพนะ มันเป็นอัตโนมัติที่เรารู้ว่าเราต้องทำออกมาแบบไหน”

 

ดังได้ ขายดี

ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ “ชื่อเสียง” ต่างก็มีมูลค่าของมันอยู่เสมอ อย่างที่เห็นจนชินตาในโลกออนไลน์วันนี้ ใครมีสาวกตามเยอะ ก็มีสินค้าต่างๆ ติดต่อเข้ามาให้โปรโมทสินค้าให้ จนกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ‘ขายของ’ อย่างหนึ่งไปแล้ว

สำหรับเน็ตไอดอลที่จะไต่ระดับให้แบรนด์ตัวเองอยู่ในขั้นที่มีคนควักกระเป๋าจ่ายนั้น ประการแรกที่สำคัญมากคือ “จำนวนแฟนคลับ” โดยสาวเอเยนซีรายหนึ่งที่ต้องดีลงานกับเหล่าเน็ตไอดอล ตลอดจนบล็อกเกอร์คนดังทั้งหลาย โดยเฉพาะ จ้างให้โปรโมทสินค้า เล่าให้ฟังว่า กลุ่มหลักๆ ที่มาแรง ก็มีอยู่สองกลุ่ม คือ แบ๊วๆ ใสๆ กับกลุ่มเซ็กซี่น่ารัก ที่จะมีคนตามเยอะมาก

และขยายความต่อว่า... รายดีก็มี แต่รายเยอะก็มาก

“บางคนไม่ได้ดังเท่าไหร่นะ แต่โห.. เรียกทั้งแพง ทั้งเงื่อนไขก็เยอะ”

วิธีการทำงานของเธอคือ เมื่อลูกค้าให้โจทย์มา เธอก็จะเข้าไปค้นหา ว่าตอนนี้ใครมาแรง ใครมีทาร์เก็ตตรงกับแบรนด์ลูกค้า ซึ่งทุกครั้งที่เข้าไปส่อง เธอเป็นได้เห็นหน้าใหม่มาแรงเกิดใหม่เสมอ พร้อมๆ กับหน้าเก่าบางคนที่ห่างหายออกไป

บางคนมาแค่ปีเดียวแล้วหายไปก็มี.. บางคนก็อยู่ยาว ยิ่งถ้าเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์จะอยู่นานกว่า บางคนอยู่มา 7-8 ปีก็มี แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเน็ตไอดอล หรือบล็อกเกอร์ สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ของการอยู่ยาวหรือสั้น คือ วินัย ของการอัพคอนเทนท์ขึ้นไป

“บางคน ดังแล้วก็เริ่มมีงานมาก ไม่มีเวลา ไม่ค่อยได้อัพรูป พอนานๆ ไป คนก็จะลืม จริงๆ ก็ไม่ต่างกับดาราหรอกค่ะ ดาราก็ต้องหมั่นมีงานให้คนเห็นหน้าเรื่อยๆ ไม่งั้นจะถูกลืม หรือต่อให้โพสต์ทุกวัน แต่ถ้าโพสต์แค่วันละรูป ก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะรูปที่โพสต์ขึ้นไป คนไม่ได้เห็นทุกรูป ฉะนั้นอย่างต่ำ 3 ครั้งถือว่าพอไหว”

ส่วนเรื่องที่ว่า ภาพจริงไหม ผ่านมากี่แอปฯ ตัวจริงหน้าตาดูดีหรือเปล่านั้น เอเยนซีสาวรายนี้บอกว่า ไม่ใช่ประเด็น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยใช้บริการเน็ตไอดอลมากไปกว่าการสร้างการรับรู้ ให้ผู้ติดตามเห็นสินค้าของแบรนด์นั้นๆ เป็นแค่สีสันทางการตลาดเท่านั้น

.. จะหน้าจริง หุ่นจริงหรือไม่นั้น ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อแบรนด์

ส่วนเรื่องราคา เธอบอกว่า มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อการโพสต์หนึ่งรูป

“สูงสุดก็จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 หมื่นบาทต่อรูป ซึ่งก็ปนๆ กันนะ ดาราบ้าง เน็ตไอดอลจริงๆ บ้าง”

ด้าน สมยศ ชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธอทฟูล มีเดีย ประเทศไทย ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารการตลาดผ่านเครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะวีดิโอออนไลน์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้เซ็นสัญญาดูแลเหล่าวีดิโอครีเอเตอร์ขวัญใจไซเบอร์รวมๆ แล้วกว่า 300 ราย เล่าถึงทิศทางของเหล่าไอดอล ในส่วนของกลุ่มที่เป็นวีดิโอออนไลน์ว่า

“กลุ่มที่ได้รับความสนใจมากๆ จะอยู่ในกลุ่ม ตลก เกมส์ และความงาม โดยคาแรคเตอร์ที่แหวก ไม่เหมือนใคร มีโอกาสเติบโตสูง และอยู่ได้นาน”

คนดังในออนไลน์ ไม่เหมือนดาราทั่วไป เพราะเขาคือคนจริงๆ เขาเป็นแบบนั้นจริงๆ ขณะที่ ดารา เล่นละคร 3 เรื่อง ก็เล่นเป็น 3 คาแรคเตอร์ได้ แต่เน็ตไอดอลทำไม่ได้ เพราะเขาต้องเป็น ‘ตัวเอง’

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง สมยศ คือ คาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า... เมื่อมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักแล้ว คุณจะไม่ใช่คนที่มีคำว่า “ส่วนตัว” อีกต่อไป

ฉะนั้นเมื่อคิดจะก้าวเข้ามา คุณต้องพร้อมรับเสียงวิจารณ์ และสิ่งที่คุณเป็น