เลี้ยงเดี่ยว ไม่เดียวดาย

เลี้ยงเดี่ยว ไม่เดียวดาย

จากการใกล้ชิดหนูๆ ตัวน้อยนานนับสิบปี ส่งผลให้ผู้หญิงคนนี้ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ เพื่อเด็กๆ ที่โตใน 'บ้านเลี้ยงเดี่ยว'

เพราะส่วนตัว เคยสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ทั้งไทย.. อเมริกา จนถึงอิสราเอล และพบว่า จะเป็นเด็กชาติไหน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการหย่าร้างแทบทั้งสิ้น

แน่นอนว่า การแต่งแล้วหย่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่การหย่าโดยไม่จัดการหรือสนใจความรู้สึกของเด็กนั่นต่างหาก ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรประเมินสิ่งที่ตัวเองทำเสียใหม่ ว่าได้สร้างบาดแผลอะไรไว้ในใจเด็กๆ บ้าง

"ตอนเด็กๆ เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน เราก็รู้สึกว่า จะมาทะเลาะกันทำไม เลยบอกให้ไปหย่ากันเลย" นั่นคือ คำพูดจากความทรงจำของ ศรีสมร โซเฟร นักเขียนเจ้าของนามปากกา 'สองขา' ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในอิสราเอลกับสามี โดยนอกจากเป็นภรรยาของสามี.. เป็นแม่ของลูก.. และเป็นคุณครูของเด็กๆ แล้ว เธอยังเป็น "นักเขียน" ที่ผลิตงานหนังสือเพื่อเด็กอย่างสม่ำเสมอ

ล่าสุดกับโปรเจคหนังสือ 'บ้านเลี้ยงเดี่ยว' ที่เริ่มต้นขึ้นจากทุนศูนย์บาท โดยเธอ ในฐานะผู้เขียน และทีมงาน afterword.co เครือข่ายสวนกระแสธุรกิจหนังสือ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้หนังสือคุณภาพที่อาจจะเป็นตลาดเฉพาะเจาะจง ซึ่งสำนักพิมพ์ทั่วไปไม่กล้าพิมพ์ โดยเปิดให้จองซื้อล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยง ภายใต้เงื่อนไข คือ หากยอดสั่งซื้อไม่ถึงเป้าหนังสือก็ไม่สามารถพิมพ์ได้ และ 'บ้านเลี้ยงเดี่ยว' ก็เป็นหนึ่งในโปรเจคที่ afterword เข้ามาดูแล โดยเนื้อหาของหนังสือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ 'เด็กหญิงไก่' ผู้ที่ไม่อยากไปโรงเรียนในวันพ่อ และไม่เข้าใจว่าทำไมครอบครัวของไก่มีแต่แม่

'เด็กหญิงไก่' เป็นตัวแทนเด็กนักเรียนชั้นประถมที่เริ่มสงสัยว่า ทำไมเพื่อนๆ ที่โรงเรียนต่างก็มีพ่อ พาพ่อมางานวันพ่อได้ แต่ไก่ไม่ได้อยู่กับพ่อ แล้วพ่อของไก่ไปไหน ?.. เมื่อไก่แสดงออกถึงความสงสัยและไม่สบายใจให้คุณแม่ฟัง สองแม่ลูกจึงเปิดใจพูดคุยกันถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ไก่ได้รับรู้เหตุผลและการตัดสินใจของผู้ใหญ่ และรู้สึกได้ถึงความรักที่คุณพ่อยังมีให้กับเธอแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน โดยทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาให้มีเนื้อหาอ่านง่าย ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กยิ่งอ่านดี

ศรีสมร เล่าว่า สมัยเป็นครูสอนเด็กเล็กที่อเมริกา บทสนทนาที่ทำเอาผู้ใหญ่เธอถึงกับอึ้ง เพราะลูกศิษย์ตัวน้อยถามเธอว่า.. วันนี้จะไปนอนบ้านไหน บ้านพ่อ หรือบ้านแม่?

"ตอนนั้นเด็กที่สอนมีทั้งหมด 22 คน แต่มีแค่คนเดียวที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน ถามว่า ตกใจไหม.. ยอมรับว่าตกใจนะ แต่พอมองย้อนกลับไปสมัยที่สอนเด็กกะเหรี่ยงที่สังขละบุรี เด็กๆ ที่นั่นก็มาจากครอบครัวหย่าร้างเยอะ แล้วเขาก็อยู่กันได้ดีนะ แต่ทำไมตัวเองตอนเด็กๆ ถึงรู้สึกแย่ หรือเด็กบางคนก็โกรธแม่ ว่าแม่ทำตัวไม่ดี พ่อเลยทิ้ง บางบ้านพ่อแม่ก็จำใจอยู่ด้วยกันเพราะเห็นแก่ลูก แต่ก็ทะเลาะกันบ่อยๆ ให้ลูกเห็น คือ อยากจะบอกว่า การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องผิดนะ มันไม่ได้แย่ แต่ต้องมีวิธีจัดการที่ดีกว่านี้"

แน่นอนว่า... ไม่มีใครแต่งงานเพื่อจะหย่า แต่ท้ายที่สุด ถ้ามันจะเกิด ก็ต้องเกิด และต้องมีวิธี "จัดการ" โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นแต่กลับต้องมารับแรงกระแทกระหว่างความขัดแย้ง

"อย่างในอเมริกา มีหลักสูตรการพูดคุยเรื่องความหลากหลายของสังคม มีแผลก็ต้องเปิดออก จะสบายใจกว่า ในหลายๆ ประเทศเขาก็มีบริการให้คำปรึกษา พ่อแม่ก่อนจะหย่ากันก็มาปรึกษา หรือเด็กๆ ที่พ่อแม่หย่ากันก็เข้ามาปรึกษาได้ แต่บ้านเรามันไม่มีใครให้คุย หรือมีให้คุย คนก็ไม่เข้าไปคุย เพราะไม่อยากยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา ทั้งๆ ที่เรื่องการหย่าร้างมันคือเรื่องปกติ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหลากหลาย"

ขณะเดียวกัน สังคมก็ไม่มีอะไร่ที่เอื้อต่อ 'คนกลุ่มน้อย' ที่กำลังจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในอีกไม่ช้า เพราะอัตราการหย่าร้างในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีแต่จะสูงขึ้น

"ต้องยอมรับว่า ไม่มีหนังสือแนวนี้ในเมืองไทย หนังสือส่วนมากก็จะเน้นให้เป็นเด็กดี กตัญญู ให้เด็กทำโน่น ให้เด็กทำนี่ โลกหนังสือเด็กในเมืองไทยมันก็วนอยู่ในกรอบนี้ แต่ไม่มีหนังสือที่คุยกับเด็กๆ เรื่องพ่อแม่หย่ากัน ให้เด็กรู้สึกว่า เรื่องนี้มันความความปกติหนึ่งของครอบครัว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หมอนต้องการสื่อสารออกไป อย่างตัวละครในเรื่อง คือ 'น้องไก่' ที่ไม่อยากไปงานวันพ่อ ไม่อยากให้มีวันพ่อ ซึ่งรู้ไหมว่า มีเด็กหลายคนไม่อยากไปงานวันพ่อ งานวันแม่ อันนี้มันเป็นเรื่องเซนซิทีฟนะ เพราะมันไม่ได้กดดันแค่เด็กๆ ตัวพ่อแม่เองก็กดดัน"

นั่นเป็นแค่ปลายปัญหา คือ การไม่ยอมรับ และรู้สึกแปลกแยกไปจากสังคมนิยมครอบครัวเพอร์เฟค แต่หากจะทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เธอบอกว่า... ก็ต้องมองว่า มันไม่ใช่ปัญหา

"เมื่อเราไม่เปิดใจคุยกัน พอเด็กยิ่งโตขึ้น ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำไมไม่เลือกที่จะเผชิญหน้ากับความจริงตั้งแต่แรก มองเสียว่า มันคือเรื่องธรรมดา ต้องบอกเขาว่า มันไม่ใช่เรื่องโลกแตก หรือล่มสลายอะไร อย่าลืมว่า เวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน ควมกดดันจะมาลงที่เด็ก บางคู่ก็ไม่สนใจลูก บางทีก็โยนความผิดกันไปมา เด็กก็สับสน ทำตัวไม่ถูก โอเคว่า พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ ก็ต้องมีอารมณ์ แต่พ่อแม่ก็เป็นผู้ใหญ่ ต้องสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ขณะที่เด็กเขายังทำไม่ได้ นั่นคือ หน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องสื่อสารกับเขาให้เข้าใจ บางเคส พ่อแม่มีครอบครัวใหม่เร็วไป หรือยิ่งกว่านั้นคือมีลูกใหม่เร็วด้วย เด็กก็อาจสับสน"

นอกจากนี้ ศรีสมร ยังยกเคสเด็กชายอายุ 5 ขวบที่เธอเคยสอนที่แคลิฟอร์เนียว่า ถือเป็นเคสที่น่าเรียนรู้...

"น้องทิม.. พ่อแม่เป็นคนจีนและมาตั้งรกรากที่อเมริกา ทีนี้ เขาทะเลาะกัน แล้วก็หย่ากัน เด็กอยู่กับพ่อ ส่วนแม่ย้ายไปอยู่แคนาดา ซึ่งตัวพ่อเขาก็ต้องทำงานหนักมาก ก็เลยให้ญาติๆ กันที่เป็นคนจีนมาช่วยเลี้ยงลูก เด็กก็ยิ่งรู้สึกว้าเหว่ เพราะหนึ่งคือ เขาติดแม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อแม่ไม่อยู่ พ่อก็ยังไม่ได้มีเวลาดูแล จากเด็กสดใส ก็กลายเป็นเด็กเงียบ หยุดพูด ไม่ยิ้ม ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงความรู้สึกใดๆ"
เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทีมงานในโรงเรียนก็มาร่วมประชุมเพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหา มีทั้งครู, ครูผู้ช่วย, พยาบาล, นักจิตวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรม, ครูพละ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 10 คน ที่มาทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้เด็กกลับมา 'ยิ้ม' ได้อีกครั้ง"

"ก็มานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้น้องกลับมาเป็นคนเดิม ก็มีทั้งการนำกิจกรรมเข้าไปเสริม ชวนทำคุ้กกี้ แล้วก็ให้เด็กหญิงที่โตกว่าเขามาเป็นบัดดี้ไปไหนไปด้วยกัน คอยชวนให้น้องทิมพูดคุย ซึ่งเราต้องใช้เวลานาน 5 เดือน กว่าที่เขาจะกลับมามี 'ยิ้มแรก' ได้" ศรีสมรบอก

อย่างที่เอ่ยไว้ตั้งแต่ต้น ประเด็นสำคัญ คือ ต้องยอมรับว่า การหย่าร้าง "ไม่ใช่ปัญหา" แต่มันคือเรื่องที่จัดการได้

"เวลาผู้ใหญ่ทะเลาะกัน คนชอบบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เด็กยังไม่รู้เรื่องหรอก นี่ผิดเลยนะ.. เพราะ บ้าน คือ โลกทั้งใบของเด็ก เมื่อเกิดปัญหาในบ้าน ไม่มีทางที่เขาจะไม่รับรู้ แล้วเด็กในวัน 2-4 ขวบ เขาจะเริ่มมีความจำที่ฝังใจ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ ที่จะให้เขาจำเรื่องอะไร บางคนจำได้ว่าเดินเล่น ไปตกปลา บางคนจำได้ว่าทำแก้วแตก และนั่นก็คือ หน้าที่ของพ่อแม่ที่จะทำอย่างไรให้ทุกซีนในชีวิตมันดีกับลูก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า เด็กจะเลือกจำฉากไหน"

เมื่อการหย่าร้างไม่ใช่ความผิด การอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ได้หมายถึงครอบครัวแสนสุขเสมอไปเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ 

เกี่ยวกับผู้เขียน : “สองขา” ศรีสมร โซเฟร

เจ้าของผลงานเขียนหนังสือรางวัลมติชน รางวัลหนังสือดีเด่น สพฐ. รางวัลรักลูก รางวัลพานแว่นฟ้าและอื่นๆ โดยมีหนังสือ 11 เล่มได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศไต้หวัน จีน และเวียดนาม มีผลงานออกสู่สาธารณะกว่า 62 เล่ม

สองขา เคยทำงานเป็นครูสอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไทย และอิสราเอลกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนเด็กพิเศษและได้รับเลือกให้เป็น Teacher of The Year ปี 2002 – 2003 (Special Day Class) ที่ Montclaire Elementary School, Cupertino Union District, California :

โครงการจัดพิมพ์หนังสือ 'บ้านเลี้ยงเดี่ยว'ตั้งเป้าหมายระดมทุนทั้งสิ้น 110,000 บาท ราคาเริ่มต้นที่ 120 บาทสำหรับหนังสือ 1 เล่ม หมดเขตร่วมระดมทุนวันที่ 27 มีนาคม 2558 ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://afterword.co/campaigns/single-parent-home