ปั่นกระบี่...ไร้เทียมทาน (ตอนที่ 1)

ปั่นกระบี่...ไร้เทียมทาน (ตอนที่ 1)

ในอดีตหากมีคนบอกว่าจะไปปั่นจักรยานที่ต่างจังหวัดไกลๆ นั่นหมายถึงเขาจะต้องปั่นจักรยานไป

 หรือไม่ก็ต้องขนจักรยานขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางไปอีกหลายชั่วโมง การปั่นจักรยานที่ต่างจังหวัดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...


แต่ในปัจจุบันสายการบินหลายแห่งขานรับกระแสจักรยานที่ 'บูมวันบูมคืน' โดยยินดีให้ผู้โดยสารขนจักรยานขึ้นเครื่องบินได้อย่างสะดวกสบาย บางสายการบินถึงกับให้เข็นไปเช็คอินได้เลยทั้งคัน


นกแอร์ก็เช่นกัน ที่เอาใจนักปั่น ทั้งอำนวยความสะดวกเมื่อนักปั่นต้องการนำจักรยานขึ้นเครื่องง่ายๆ เพียงปล่อยลมยางให้เรียบร้อย จับจักรยานคันโปรดใส่กล่องหรือถุงสำหรับใส่จักรยาน แล้วนำไปเช็คอินได้ที่จุดเช็คอินของนกแอร์ได้เลย...ง่ายจริงๆ


ด้วยความง่ายแบบนี้เองทำให้ผมต้องทดลองใช้บริการสักหน่อย ประจวบเหมาะกับสายการบินนี้ร่วมกับโรงแรมไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง และสโมสรจักรยานเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่จัดทริปพิเศษ 'บินสบาย นอนสนิท ปั่นสนุก บุกกระบี่-ลันตา' ที่จะพาผู้ร่วมทริปไปสัมผัสกลิ่นไอเมืองกระบี่และเกาะลันตา


...ว่าแล้วก็ไปกันเลย...


เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ลำสีเหลืองสดใสพาผมบินจากดอนเมืองข้ามทะเลอันดามันมาลงที่กระบี่ด้วยเวลาเพียงอึดใจ นี่ถ้าขับรถมาเองยังไม่รู้เลยว่าจะพ้นรถติดในกรุงเทพฯแล้วหรือยัง ที่สำคัญผมอาจไม่เหลือเรี่ยวแรงมาปั่นจักรยานท่ามกลางไอร้อนของคิมหันตฤดูก็เป็นได้


หลังจากรับจักรยานและสัมภาระเรียบร้อยก็มุ่งหน้าสู่อ่าวนางเพื่อนำทุกสิ่งอย่างไปเก็บที่โรงแรมไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง พอไปถึงโรงแรมจากที่อยากออกไปปั่นใจจะขาดก็กลายเป็นว่าขอพักที่นี่สักประเดี๋ยวแล้วกัน เพราะด้วยโลเคชั่นเท่ๆ คือ มีฉากหลังเป็นภูเขาเขียวครึ้ม มีสระว่ายน้ำกลางแจ้งที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติชนิด "แหงนหน้าเจอฟ้า...หันข้างเจอเขา...เหลือบมาเจอเรา...กำลังแอบมองฝรั่งว่ายน้ำ (ฮา)"


แต่นอกจากบรรยากาศดีๆ แล้ว ที่น่าจะถูกใจนักปั่นคือที่นี่มีจักรยานให้เช่า และสำหรับสายแข็งที่นำจักรยานมาเองก็มีห้องหับสำหรับเก็บจักรยาน มีคนดูแลอย่างดี ไม่ต้องขนจักรยานเข้าไปเบียดกันในห้องนอนซึ่งมีขนาดกระทัดรัดอยู่แล้ว


จากที่จะชิลล์แป๊บเดียว เข็มนาฬิกาคล้ายแกล้งเดินเร็ว เพราะรู้สึกตัวอีกทีก็ปาเข้าไปบ่ายสี่โมงแล้ว ถึงเวลาปั่นแล้วสินะ (ไม่งั้นคงอดปั่น)


ที่หน้ารูปหล่อองค์จตุคามรามเทพ บริเวณหน้าอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองกระบี่วันนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีนักปั่นจากทริปนกแอร์และนักปั่นเจ้าถิ่นมากันคับคั่ง นี่ขนาดทางสโมสรจักรยานกระบี่ไม่ได้แจ้งสมาชิกเพราะเกรงว่าจะมากันล้นหลามเกินไป ก็ยังหนาตาทีเดียว


ยืดเส้นยืดสายกันไปพร้อมๆ กับกราบขอพรองค์จตุคามรามเทพ เหมือนกับได้อบอุ่นร่างกายไปด้วย เพราะแดดที่กระบี่ไร้เทียมทานไม่แพ้แดดที่อื่น

ขนาดว่าจวนจะเย็นย่ำแล้วก็ยังร้อนระอุ แต่ขณะที่ผมกำลังเผชิญกับความร้อนก็หันไปเจอเด็กเจ้าถิ่นนั่งคร่อมจักรยานยิ้มแป้นให้...ไอแดดทำร้ายคนอยากปั่นจักรยานไม่ได้จริงๆ อย่างนี้สิ มีกำลังใจปั่นขึ้นมาหน่อย


ราวห้าโมงขบวนจักรยานค่อยๆ เคลื่อนไปตามถนน จากทั้งคำบอกเล่าและเท่าที่สังเกต คนกระบี่ค่อนข้างมีทัศนคติดีต่อจักรยาน อาจเพราะคนที่นี่ก็นิยมปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะขับรถยนต์ก็ยังเคารพกันและกัน นี่แหละหนาคำว่า 'ใจเขาใจเรา'


ปั่นมาได้ครู่เดียวก็ถึงศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมและหอศิลป์อันดามัน สำหรับนักปั่นที่มาเองก็ควรเดินหาทำเลดีๆ เพื่อจอดจักรยานแล้วล็อคให้แน่นหนา เพราะที่นี่ไม่มีที่จอดจักรยานเป็นกิจลักษณะ อีกอย่างถ้าเข้าไปในนี้แล้วอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อเดินชมสิ่งต่างๆ ดังนั้นจอดให้ดี ล็อคให้ดี


ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นที่รวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอันดามันไว้อย่างน่าสนใจ คือจัดแสดงได้อย่างมีลูกเล่น กอปรกับเรื่องราวหลักๆ เกี่ยวกับลูกปัดโบราณซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ สีสันของลูกปัด และการจัดนิทรรศการแบบ 'มีอะไร' ทำให้เดินชมได้ไม่เบื่อ


ยิ่งเป็นนักปั่นที่ต้องเพิ่งตากแดดมาด้วย เจอแอร์เย็นๆ ในห้องนิทรรศการก็แทบจะขออยู่ยาวกันเลยทีเดียว...


ด้วยเวลากระชั้นชิด จึงต้องออกจากศูนย์การเรียนรู้ฯไวสักหน่อย พวกเราปั่นมุ่งหน้าสู่สิ่งที่เรียกว่ากำแพงประวัติศาสตร์ แต่ด้วยเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบัน พอปั่นผ่านอะไรก็แวะตลอด และคงไม่แวะไม่ได้เพราะประติมากรรมรูปนกตัวใหญ่กำลังสยายปีกดึงดูดให้ผมลงจากอานจักรยานแล้วเข้าไปทำความรู้จักกับเจ้านกตัวนี้ทันที


นี่คือรูปปั้นนกออก หรือนกอินทรีทะเลท้องขาว นอกออกตัวจริงมีขนาดใหญ่ประมาณ 60-69 เซนติเมตร ตามคอ ลำตัวด้านล่าง และหางเป็นสีขาว ปีกด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา หากินในเวลากลางวัน บริเวณชายทะเล สำหรับในเมืองกระบี่มีนกออก 1 คู่ อาศัยอยู่ที่เขาขนาบน้ำ


นอกจากเป็นประติมากรรมรูปนกออกสุดเท่ ยังเป็นหลักกิโลที่ 0 ของกระบี่ด้วย ซึ่งเทศบาลสร้างเป็นรูปนกออกเพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ ความรอบรู้ กว้างไกล มีความพอเพียง ไม่รังแกผู้อื่น และรับผิดชอบตัวเอง ดั่งคำที่ว่า "บินให้สูง มองให้ไกล ไปให้ถึง"


อย่างที่เขาว่า มองให้ไกล แต่เรายังไปไม่ถึงไหน ผมจึงเร่งฝีเท้าปั่นตามกลุ่มที่รุดหน้าไปก่อนแล้ว และไม่นานก็มาทันกลุ่มที่จอดกันที่กำแพงประวัติศาสตร์พอดิบพอดี


ทีแรกที่ได้ยินคำว่ากำแพงประวัติศาสตร์ ผมเข้าใจว่าเป็นกำแพงเก่าสมัยหลายร้อยปีก่อน ที่เป็นดั่งประวัติศาสตร์ของเมืองกระบี่ให้ลูกหลานได้มาระลึกถึง แต่ผิดถนัด เพราะที่เห็นคือกำแพงสภาพดี ทอดยาวอยู่ริมถนนเจ้าฟ้า อำเภอเมือง กระบี่


บนกำแพงตีเป็นกรอบ 28 กรอบ แต่ละกรอบมีทั้งภาพและตัวอักษรภาษาไทยและอังกฤษ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่กระบี่ยุคแรกจนถึงยุคที่เจริญแล้ว แม้แต่เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 ก็ถูกบันทึกไว้บนกำแพงประวัติศาสตร์นี้ด้วย


ยอมรับว่าทีแรกผมผิดหวังกับคำว่ากำแพงประวัติศาสตร์ ทว่าเมื่อได้เห็นกำแพงใหม่ๆ กำลังเล่าเรื่องเมืองกระบี่ ความผิดหวังก็มลายหายไปแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและชื่นชมในที่สุด เพราะนอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกระบี่ มันยังทำหน้าที่บันทึกและบอกต่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่านอกจากมีทะเล มีภูเขา มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย กระบี่ยังมีประวัติศาสตร์ยาวนานซึ่งควรค่าแก่การเรียนรู้


ใกล้ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของประติมากรรมสามัคคีรวมใจ สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมกระบี่ อย่างสามัคคีกลมเกลียวที่สื่อผ่านรูปปั้นเด็กๆ ทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม ชาวจีน และเด็กต่างชาติ ประสานมือแนบแน่นใบหน้าแย้มยิ้ม


แสงแดดที่ตอนแรกเหมือนจะเผาพวกเราให้กลายเป็นจุณ บัดนี้เริ่มหมดฤทธิ์แล้ว แต่นั่นก็เป็นสัญญาณให้ทุกคนเร่งความเร็วเพื่อไปถึงเรือรบหลวงลันตาให้ทันพระอาทิตย์ตก เพราะว่ากันว่าแสงสุดท้ายที่นั่นสวยเหลือเกิน


ไม่รอช้า ผมอัดเต็มสปีดอย่างไม่คิดชีวิต เพราะด้วยระยะทางที่ปั่นน้อยมากราว 7 กิโลเมตร หากไม่ได้เห็นแสงสุดท้ายงามๆ คงรู้สึกไม่อิ่ม และจะพาลนอนไม่หลับได้


และแล้วก็มาถึงเรือรบหลวงลันตา เรือรบที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2513 โดยนำเอาชื่อเกาะลันตาของจังหวัดกระบี่มาตั้งเป็นชื่อเรือ เรือลำนี้เป็นเรือรบของกองทัพสหรัฐอเมริกา เคยผ่านสมรภูมิมากมายทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมรภูมิอื่นๆ ภายหลังกองทัพเรือได้รับอนุเคราะห์เรือลำนี้จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2513 และปลดระวางประจำการเมื่อปี 2552 อบจ.กระบี่จึงขอเรือลำนี้มาเพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงลันตา ณ ปากแม่น้ำกระบี่

ผมมาทันแสงสุดท้ายพอดี จึงรีบขึ้นไปบนเรือเพื่อชื่นชมแสงสุดท้ายและความเข้มขลังของเรือรบหลวงลันตาลำนี้ไปพร้อมกัน


ไม่บ่อยนักที่ระยะเวลากระชั้นและระยะทางสั้นๆ จะทำให้ผมอิ่มเอมได้ แต่ถนนสายประวัติศาสตร์ของกระบี่สายนี้ทำได้...อย่างน้อยผมก็นอนหลับสนิท