ดาวมิชลินแห่งฮ่องกง

ดาวมิชลินแห่งฮ่องกง

ตามรอย 4 ร้านอาหารรางวัล 'มิชลิน สตาร์' แห่งเกาะฮ่องกง : Lung King Heen : Sun Tung Lok : Spoon by Alain Ducasse : Yung Kee

เกาะ ฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติอาหาร ทั้งชนิดของวัตถุดิบ เครื่องปรุง สมุนไพร สูตรอาหารและกรรมวิธีการทำที่มีตำรับเฉพาะตัว มิชลินส่งทีมตรวจสอบร้านอาหารมายังฮ่องกงและมอบดาวมิชลินพร้อมใส่รายชื่อร้านอาหารไว้ในคู่มือมิชลินครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.2008

# Lung King Heen : มิชลินสามดาวแห่งแรกของฮ่องกง
หากคิดจะชิมอาหารจีนระดับมิชลินสามดาวในฮ่องกง นักชิมตัวจริงต้องมีชื่อภัตตาคารจีน Lung King Heen (ลุง คิง ฮีน) จดไว้ในสมุด

ลุง คิง ฮีน เป็นห้องอาหารจีนระดับ 'ไฟน์ ไดนิ่ง' ของโรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ ฮ่องกง ตั้งอยู่บนฝั่งเกาลูน ผนังด้านหนึ่งของร้านกรุกระจกใสทั้งหมด มองเห็นอ่าววิคตอเรียแบบพานอรามา สมชื่อร้านที่แปลว่า 'ภูมิทัศน์แห่งมังกร' เพราะด้านหลังอ่าววิคตอเรียก็คือสันเขา 'วิคตอเรีย พีค' อันสูงสง่า

ความโด่งดังของ 'ลุง คิง ฮีน' ถึงกับมีคำกล่าวกันว่า "มีเงินใช่ว่าจะกินได้" สันติ ลีลาทิพย์กุล กูรูอาหารในฮ่องกง กล่าว

ไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากขาย แต่เป็นเพราะโต๊ะอาหารถูกจองล่วงหน้า ซึ่งต้องรอคิวกันยาวเป็นเดือนมานานแล้ว นักชิมต่างถิ่นต้องจองตั๋วเครื่องบินตามคิวที่ได้จากร้านอาหารกันเลยทีเดียว

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของห้องอาหารแห่งนี้คือ หัวหน้าพ่อครัวใหญ่ เชฟชัน ยัน ตั๊ก (Chan Yan Tak) ผู้มีฝีมือร่ำลือในการเลือกสรรวัตถุดิบ ขณะเดียวกันก็สร้างสมดุลระหว่างรสชาติและเนื้อสัมผัสอาหาร เพื่อให้อาหารจานนั้นมอบรสชาติสุนทรีย์ที่สุดให้กับผู้ชิม แม้แต่ผู้มีรสนิยมสูงของการเป็นนักชิมก็ยังต้องพึงใจ

ยกตัวอย่างเซตมื้อกลางวัน เริ่มด้วย 'ชุดติ่มซำเรียกน้ำย่อย' ที่ประกอบด้วย ขนมจีบล็อบสเตอร์และหอยเชลล์ (Steamed Lobster and scallop dumpling) ตัวขนมจีบได้ความหนึบและรสชาติหวานของเนื้อล็อบสเตอร์คลุกเคล้ากับหอยเชลล์ เรียกความสนใจตั้งแต่แรกเห็นด้วยการวางกุ้งตัวโตไว้บนหน้าขนมจีบ เนื้อกุ้งกรอบเด้ง เพิ่มเนื้อสัมผัสให้กับความหวาน-นุ่มของล็อบสเตอร์และหอยเชลล์, ฮะเก๋าผัก (Steamed assorted mushroom dumpling with celery) อยากยกให้เป็น 'ฮะเก๋าไหม' ด้วยความที่ตัวแป้งที่ใช้ห่อมีความนุ่มเหนียว-บาง-ใส มองเห็นเนื้อในที่อัดแน่นด้วยผักหลายชนิดหั่นชิ้นเล็กๆ ปรุงรสกำลังพอดี เคล้ากับเห็ด เพิ่มความหอมด้วยเซเลอรี่, และ เสี่ยวหลงเปาเซี่ยงไฮ้ (Steamed Shanghainese pork dumpling with scallop baked whole) นอกจากเสิร์ฟมาในเข่งไม้ไผ่ที่รัดด้วยวัสดุคล้ายกำไลเงินฉลุลาย สวยงามสะอาดตา ยังเพิ่มความน่ารักด้วยการวางเสี่ยงหลงเปามาบนแผ่นไม้วงกลมติดหูหิ้วคล้ายกระเช้า

ปิดท้าย 'ชุดติ่มซำเรียกน้ำย่อย' ด้วยจานของทอดและอบ 3 ชนิด คือ พายเป๋าฮื้อ (Abalone puff with diced chicken baked) เป็นครั้งแรกที่ได้ชิมการนำเป๋าฮื้อทั้งตัวมาอบกับแป้งพัฟฟ์ เชฟจัดวางเหมือนขนม รสชาติดีเลย ไม่แปลกแยก ยังคงได้กลิ่นหอมแบบเป๋าฮื้อ เพียงแต่เนื้อสัมผัสไม่เหนียวเท่าที่เคยชิมเป็นอาหารจานหลัก ใช้ช้อนตัดเป๋าฮื้อก็ขาดเป็นคำเล็กๆ ได้, ขนมปังนุ่มไส้หมูแดงและไพน์นัท (Barbecued pork bun with pine nut) สร้างสรรค์ให้แตกต่างกว่าการเสิร์ฟซาลาเปา, ปอเปี๊ยะไส้ปู-ทรัฟเฟิลดำ (Crispy spring roll with crab meat and black truffle) เมนูพิเศษที่มีเฉพาะระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงฤดูของเห็ดทรัฟเฟิล

ถัดมาเป็น ซุปปลิงทะเลตุ๋น (Double-Boiled Sea Cucumber with Jin Hua ham and brassica) ปลิงทะเลเป็นหนึ่งในของดีแปดอย่างที่ใช้ปรุงเมนู 'พระกระโดดกำแพง' อันลือลั่น เชฟตั๊กนำมาตุ๋นจนนุ่ม คล้ายเอ็นอุ๋นแต่นุ่มกว่า ตุ๋นร่วมกับแฮมจินหัวและผักกาดขาว น้ำซุปหอม-รสชาติกลมกล่อม ไม่เค็มให้รู้สึก

เมนูพิสูจน์ฝีมือ เป็ดปักกิ่ง (Roast Peking Duck) สไตล์ของที่นี่จะสไลซ์หนังเป็ดโดยติดเนื้อเป็ดมากกว่าร้านอาหารจีนในไทย ส่วนเนื้อเป็ดนำไปสับ คั่วในกระทะกับสมุนไพรจีนบางอย่าง จัดวางมาในผักกาดหอมห่อ ทำเป็นเมี่ยง (Stir-fried minced duck in lettuce wraps) รสชาติกลางๆ ไม่เผ็ด ไม่หวาน ไม่เค็ม

ชิมกันต่อด้วย ผัดโต้วเหมี่ยว (Sauteed pea sprouts with garlic) ผักประจำฤดูหนาวของจีน บ้านเรามีกินเฉพาะต้นอ่อน-ใบเล็กๆ แต่ที่นี่ได้กินเต็มปากเต็มคำเต็มรสชาติกับโต้วเหมี่ยวใบใหญ่ แค่ผัดน้ำมันใส่กระเทียมสดก็เพียงพอแล้ว

อย่าลืมเหลือท้องไว้ชิมของหวาน สาคูครีมมะม่วง (Chilled mango and sago cream with pomelo) ครีมมะม่วงเนื้อเนียน ใส่เม็ดสาคูตัดรส กับกลีบส้มโอ เพิ่มความสดชื่นหลังมื้ออาหาร

เซตอาหารกลางวันมื้อนี้ ราคาเซตละ 2,200+10% ดอลลาร์ฮ่องกง(HKD, 10% คือค่าบริการ) เป็นรายการอาหารที่เชฟตั๊กเลือกสรรเมนูให้กับกิจกรรม The Gastronomy Trip in Hong Kong ซึ่ง ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดให้กับลูกค้าบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด

ห้องอาหาร 'ลุง คิง ฮีน' ถือเป็น ร้านอาหารจีนร้านแรกของฮ่องกงที่ได้รับดาวมิชลิน 3 ดวง โดยได้มาตั้งแต่ปีค.ศ.2008 ที่มิชลินเริ่มมีครั้งแรกที่ฮ่องกง และยังคงมาตรฐานมิชลินสามดวงติดต่อกันทุกปีจนถึงปีนี้

บริกรแต่งกายเนี้ยบ-สบายตาตั้งแต่ทรงผมลงไปถึงรองเท้า เวลาเสิร์ฟเข่งติ่มซำที่มีฝาปิด บริกรจะรอจนเพื่อนทุกคนวางเข่งบนโต๊ะเรียบร้อย ยืนอยู่ในท่านิ่งเหมือนรอกรรมการยิมนาสติกให้คะแนน เมื่อมองว่าทุกคนพร้อมแล้วจึงเปิดฝาเข่งขึ้นพร้อมกัน เป็นภาพที่น่าชมมาก รวมทั้งเดินมารินน้ำชาไม่ให้มีเวลาพร่องถ้วยนานเลย ไม่จำเป็นต้องยกมือส่งสัญญาณเรียกแล้วเรียกอีก สุภาพสตรีซึ่งมีกระเป๋าถือมาด้วย บริกรก็จะนำเก้าอี้พับทรงเตี้ยสำหรับวางกระเป๋าถือมากางให้ข้างที่นั่งโดยอัตโนมัติ เป็นรายละเอียดที่น่าประทับใจ

มิชลินยอมรับว่าได้ติดตามการทำงานของเชฟตั๊กมาหลายปีแล้วตั้งแต่ที่เชฟเข้าร่วมงานกับโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ และส่งนักตรวจสอบไปรับประทานอาหารที่ห้องอาหารแห่งนี้รวม 12 ครั้งด้วยกันก่อนจัดทำและเปิดตัวคู่มือร้านอาหารมิชลินฮ่องกงครั้งแรกในปีค.ศ.2008 แต่เชฟตั๊กมักพูดเสมอว่า 'ดาวมิชลิน' เป็นของสมาชิกเชฟทุกคนในทีม ซึ่งทำงานเคียงข้างเขามาเป็นเวลาหลายปี (เว็บไซต์ taste.fourseasons.com)

ห้องอาหาร 'ลุง คิง ฮีน' ตั้งอยู่บนชั้น 4 ของโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ฮ่องกง จำเป็นต้องสำรองโต๊ะล่วงหน้า คลิก www.fourseasons.com/hongkong/dining/restaurants/lung_king_heen

# Sun Tung Lok : กวางตุ้งไร้เทียมทาน
ภัตตาคารอาหารจีน Sun Tung Lok (ซัน ทง ลก) ก่อตั้งโดยตระกูลหยวนเมื่อปีค.ศ.1969 ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมาบริการอาหารจีนตำรับกวางตุ้งด้วยคุณภาพระดับสูงสุดทั้งวัตถุดิบและกรรมวิธีการปรุงซึ่งเป็นตำรับของตระกูล ได้รับการยอมรับในคุณภาพด้วยรางวัลมิชลินสตาร์ ระดับ 3 ดาว ในปีค.ศ.2011 (ปัจจุบัน 2 ดาวมิชลิน) และถือเป็นภัตตาคารอาหารจีนระดับมิชลินสตาร์สามดาวร้านแรกซึ่งตั้งอยู่นอกโรงแรม และเป็นภัตตาคารอาหารจีนร้านที่สองในฮ่องกงที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ ระดับ 3 ดาว (ร้านแรกคือ ลุง คิง ฮีน)

ซัน ทง ลก ได้รับฉายาในหมู่นักชิมว่า 'กวางตุ้งไร้เทียมทาน' สันติ กล่าวว่า

เมนูไม่ควรพลาดชิมคือ เสี่ยวหลงเปา (Steamed Minced Pork Dumpling, 200 ดอลลาร์ฮ่องกง/เข่ง) หรือซาลาเปาผิวบางไส้น้ำซุป สูตรของที่นี่เป็นหมูสับผสมเนื้อปูขนปรุงรสตำรับกวางตุ้งกับซอสไข่เค็มแดง เรียกน้ำย่อยได้ดีมาก กินง่าย เพียงแต่ระวังน้ำซุปร้อนๆ ในซาลาเปาทำลิ้นชาจนชิมเมนูอื่นไม่รู้รสเท่านั้นเอง

เมนูซิกเนเจอร์ ซี่โครงวัวตุ๋น (Braised prime rib of beef with House gravy) พ่อครัวตุ๋นได้เปื่อยนุ่มมาก เพียงใช้ปลายมีดสะกิด เนื้อก็หลุดจากซี่โครง รสชาติเกรวี่คล้ายพะโล้แต่เข้มข้นกว่ามาก

อีกหนึ่งเมนูซิกเนเจอร์ เนื้อปูอบในกระดอง (Baked stuffed crab shell with crab meat and mushroom, 200 HKD) ผู้เขียนตั้งชื่อเองตามลักษณะภายนอก เมนูนี้รูปลักษณ์และวิธีทำคล้าย 'ปูจ๋า' บ้านเรา คือนำเนื้อปูผสมกับเนื้อหมูสับและเห็ด คลุกเคล้ากับซอสสูตรเฉพาะของร้าน จัดวางใส่กลับลงไปในกระดองปู ต่างกันตรงปรุงสุกด้วยวิธีอบ เนื้อข้างในจึงยังคงนิ่มและผิวนอกตึงตัวเป็นอีกเท็กซ์เจอร์

เมนู เป๋าฮื้อ ร้านนำเสนอ Crown brand superlative dry abalone, 39pc/catty, from Yoshihama, with Shitake mushroom(680 HKD) เป๋าฮื้อแห้งจากญี่ปุ่น ตุ๋นนาน 2 วัน เสิร์ฟกับเห็ดชิตาเกะ รสชาติออกแนวเจี๋ยนน้ำแดง, ขนมยอดนิยม เค้กเกาลัด (Bake water chestnut cake) แป้งอบไส้เกาลัดบด, กับเครื่องดื่ม น้ำอัลมอนด์ (Sweetened almond cr?me, 50 HKD) อัลมอนด์บดจนได้น้ำนมสีขาว ปรุงรสด้วยน้ำตาลนิดหน่อย ไม่หวานมาก กลิ่นหอมชื่นใจ ใครไม่ชินกับกลิ่นอัลมอนด์บดเป็นน้ำ อาจรู้สึกต่างออกไป

โดยส่วนตัวผู้เขียน เมนูอาหารที่ได้ชิมส่วนใหญ่ รสเค็มนำไปนิด คิดถึงข้าวสวยร้อนๆ อย่างช่วยไม่ได้

ร้าน ซัน ทง ลก ตั้งอยู่ที่ มิรามา ชอปปิง เซ็นเตอร์ ชั้น 4 ถนนนาธาน (จิมซาจุ่ย) เปิดทุกวัน 11.30- 15.00 น. และ 18.00-22.30 น. คลิก www.suntunglok.com.hk ควรสำรองโต๊ะล่วงหน้า

# Spoon by Alain Ducasse : ตำรับฝรั่งเศสคลาสสิก
อีกหนึ่งร้านอาหารดาวมิชลินแห่งฮ่องกง Spoon by Alain Ducasse (สปูน บาย อแลง ดูแคส) คือ 1 ในจำนวนร้านอาหาร 38 แห่งของ อแลง ดูแคส เชฟมิชลินระดับปรมาจารย์ ซึ่งทุกร้านของเขาล้วนเป็นร้านอาหารมิชลินระดับเวิลด์คลาส

เชฟอแลงประดับเพดานร้านด้วย 'ช้อนเงิน' นับร้อยๆ คัน ตกแต่งโถงทางเข้าเป็นห้องเก็บไวน์ขนาดมหึมา บ่งบอกถึงความเป็นภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสเต็มที่ และมอบหมายให้ เชฟสเตฟาน กอร์ตินา (Stephane Gortina) ทำหน้าที่เอ็กเซคคูทีฟเชฟ ดูแลมาตรฐานอาหารให้กับสปูน

ค่ำนั้นเชฟสเตฟานจัดเซตเมนูพิเศษ 7 คอร์ส ให้กับสมาชิกบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด สยามพารากอน ที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม The Gastronomy Trip in Hong Kong ทุกคอร์สเสิร์ฟคู่ไวน์ที่คัดสรรไว้แล้วโดยเชฟอแลง เริ่มด้วย อาหารเรียกน้ำย่อยสไตล์ฝรั่งเศส (Amuse-bouche) เป็นเมนูที่เชฟสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในแต่ละวันเพื่อให้ลูกค้าชิมเป็นจานแรก ก่อนจะได้ชิมเมนูแรกจริงๆ เชฟสเตฟานเลือกทำปาเตตับห่าน บดจนมีลักษณะเป็นครีมเนื้อเนียนนุ่ม โรยหน้านิดหน่อยด้วยแผ่นสาหร่ายหั่นเป็นเส้นสี่เหลี่ยมยาวชิ้นเล็กๆ จานนี้เสิร์ฟคู่แชมเปญที่เชฟอแลงขอให้ไร่องุ่นในฝรั่งเศสทำพิเศษให้กับร้านมิชลินของเขาเท่านั้น

สัดส่วนอาหารเริ่มมากขึ้นด้วย ซุปข้นกุ้งแลงกูสตีน (Delicate Langoustine bisque, pan-seared ravioli) กุ้งในตระกูลล็อบสเตอร์ของนอร์เวย์ ปรุงเป็นซุปข้นกินกับเกี๊ยวอิตาลี, ต่อด้วย ตับห่าน (Traditional preserved duck foie-gras, figs-grapes) ปรุงแบบเทอรีน ซึ่งเชฟต้องเลาะเส้นเลือดในตับห่านออกทั้งหมดเพื่อให้ได้เทอรีนเนื้อนุ่ม เสิร์ฟกับมะเดื่อเชื่อม ช่วยตัดรสซึ่งกันและกันได้อย่างดี

จานต่อมา ล็อบสเตอร์ (Roasted Blue Lobster salsify and chestnuts) เนื้อล็อบสเตอร์อบเสิร์ฟกับรากพืชชนิดหนึ่งแถบเมดิเตอร์เรเนียน, แล้วก็มาถึงอาหารจานหลัก สันในกวาง (Fillet and rack of Venison, pumpkin-cranberries) เสิร์ฟทั้งสันในและเนื้อติดซี่โครง ปรุงแบบสเต็ก ผิวด้านนอกสุกกำลังดี เนื้อในนุ่มชุ่มฉ่ำ ชูรสด้วยเกรวี่ผสมแครนเบอร์รี แนมกับฟักทองหวานอบ, ผ่อนคลายด้วย ชีสฝรั่งเศส (Seasonal matured cheese) และเรียกความสดชื่นหลังอาหารมื้่อใหญ่ด้วย ซอร์เบต์ส้ม (Frosty Clementine, reduced jus) ทำจากส้มผลเล็กของฝรั่งเศส รสชาติเปรี้ยวนำ ก่อนจบด้วยของหวานซึ่งล้วนแล้วแต่ทำด้วย ช็อกโกแลต (Chocolate) จากโรงงานในปารีส เซตเมนูนี้ราคา 1,700 HKD+10%

สปูน บาย อแลง ดูแคส ตั้งอยู่ ณ ชั้นล็อบบี้ของโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล บนฝั่งเกาลูน เอื้อให้นักชิมนั่งชมการแสดงไฟประดับตึกสูงบนฝั่งฮ่องกงได้โดยไม่มีสิ่งใดบดบัง แต่ไม่ว่าจะมีการแสดงไฟหรือไม่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสำรองโต๊ะล่วงหน้า คลิก www.hongkong-ic.intercontinental.com/dining/spoon.php

# Yung Kee : ห่านย่างบินได้
ภัตตาคารห่านย่างอันดับหนึ่งฮ่องกง Yung Kee (หย่ง เก) ความอร่อยมีตำนานโด่งดังมานานกว่าครึ่งศตวรรษ คุณสันติ ลีลาทิพย์กุล เล่าว่า ห่านย่างหย่งเกคืออาหารจานเด็ดที่รัฐบาลอังกฤษ(สมัยฮ่องกงขึ้นอยู่กับสหราชอาณาจักร) และข้าราชการใหญ่ๆ ต้องสั่งไปเลี้ยงรับรองแขกคนสำคัญซึ่งมาเยือนฮ่องกง สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกก็เคยสั่งห่านย่างหย่งเกขึ้นบริการผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาส ส่วนที่ร้านเองก็เคยถวายการต้อนรับบุคคลในราชวงศ์มาแล้วหลายประเทศ

หย่งเกจำหน่ายห่านย่างราคาตัวละ 480-500 ดอลลาร์ฮ่องกง รวมทั้งให้บริการแบบเซตเมนูโต๊ะจีน 10 คน เช่นเซตนี้ที่เริ่มด้วย ไข่เยี่ยวม้า (preserved eggs) ที่ได้ชื่อว่าหาความอร่อยในเมืองไทยเทียบเท่าได้ยาก เสิร์ฟกับขิงดอง, ต่อด้วย ห่านย่าง 1 ตัว (signature roasted goose) หั่นมาให้เรียบร้อย ใครเคยชิมแล้วคงรู้ซึ้งถึงความอร่อยของหนังห่านที่บางเฉียบแต่กรอบได้ใจและมีรสชาติชุ่มฉ่ำ, จานถัดมา หมูแดง (barbecued pork) หมักเครื่องเทศตำรับฮ่องกง เนื้อหมูย่างชิ้นหนานุ่มและรสชาติเข้าเนื้อ, เพิ่มความคล่องคอด้วย ซุปกระเพาะปลา (double boiled pork soup with fish maw & medlar seed) ตุ๋นกับเมล็ดเก๋ากี้

อลังการงานสร้างกับ ล็อบสเตอร์สไตล์ฮ่องกง (sauteed lobster in spring onion & ginger) เลือกใช้ล็อบสเตอร์ขนาดตัวละ 3 กิโลกรัม หั่นชิ้นโตๆ ผัดแห้งแบบจีนรวมกับปูม้าตัวใหญ่, ตามติดด้วย ปลาเก๋านึ่งซอส (steamed fresh Garoupa) หนึ่งในอาหารพื้นบ้านของมณฑลกวางตุ้ง ความอร่อยอาศัยความสดของปลากับซอสถั่วเหลืองของจีน, จานต่อมา กุ้งลายเสือทอด (deep-fried prawn with mini crab roe), คะน้าฮ่องกงน้ำมันหอย (poached Kale in oyster sauce) จบด้วยของหวาน งาดำบด (black sesame sweet soup) เพื่อสุขภาพ รวมเซตนี้ราคา 1,200 HKD+10% (รวมข้าวสวย)

คุณสันติเล่าด้วยว่า อย่างน้อยมีคนจีน 300 ล้านคนในมณฑลกวางตุ้งที่รู้จักภัตตาคารหย่งเก ความอร่อยของห่านย่างทำให้นักชิมมักซื้อติดมือกลับบ้าน ห่านย่างหย่งเกขึ้นเครื่องบินตามผู้ซื้อไปในหลายประเทศ จนได้รับฉายา Flying Roast Goose

ภัตตาคารหย่งเก ตั้งอยู่บนถนนเวลลิงตัน ฝั่งฮ่องกง เคยเป็นร้านอาหาร 1 ดาวมิชลินสามปีซ้อน และเป็นร้านอาหารมิชลินที่มีที่นั่งมากที่สุดในโลกคือ 732 ที่นั่ง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ปัจจุบันมิชลินได้ปลดดาวหนึ่งดวงนั้นออกแล้ว แต่ไม่อาจทำให้ความอร่อยของห่านย่างเสื่อมคลาย

ชื่อเสียงและยอดขายของห่านย่างหย่งเก ทำให้ร้านอาหารแห่งนี้ในรูป 'บริษัท' สามารถจดทะเบียนเข้าไปซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็ง

ใครคิดเป็นเจ้าของภัตตาคารหย่งเก ต้องใช้เงินหลายพันล้านเหรียญฮ่องกง

หมายเหตุ :

เรื่องราวของ ดาวมิชลิน (Michelin Star) เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1900 เมื่อสองพี่น้องเจ้าของบริษัทผลิตยางรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส มร.อังเดร (Andre) และ มร.เอดเวิร์ด มิชลิน (Edouard Michelin) ต้องการกระตุ้นยอดขายยางรถยนต์

ในช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสมีรถยนต์ไม่ถึง 3,000 คัน เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสเดินทางมากขึ้น สองพี่น้องตระกูลมิชลินจึงคิดวิธีออกหนังสือคู่มือเล่มเล็กๆ รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้รถยนต์ เช่น แผนที่ คู่มือซ่อมและเปลี่ยนยางรถยนต์ รายชื่ออู่ซ่อมรถ โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน โดยหวังว่าเมื่อความต้องการใช้รถมีมากขึ้น ความต้องการ 'ยางรถยนต์' ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย โดยแจกฟรีไปเกือบ 35,000 ฉบับ

ผลตอบรับดีเกินคาด การใช้รถยนต์มีมากขึ้น ความต้องการ 'คู่มือมิชลิน' ก็มากขึ้นตามไปด้วย

ปีค.ศ.1907 คู่มือมิชลินไปไกลถึงประเทศแอลจีเรีย ตูนิเซีย ปีต่อมาคนขับรถในอิตาลี(ตอนเหนือ) สวิตเซอร์แลนด์ บาวาเรีย เนเธอร์แลนด์ ก็ได้รับแจกคู่มือนี้ ปีรุ่งขึ้นก็แพร่เข้าไปในประเทศเยอรมนี สเปน และโปรตุเกส ในที่สุดคู่มือมิชลินฉบับภาษาอังกฤษก็ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ.1909

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังปีค.ศ.1920 เมื่อสองพี่น้องมิชลินปรับปรุงข้อมูลในคู่มือด้วยการเพิ่มรายชื่อ ภัตตาคาร ที่มีความพิเศษจริงๆ พวกเขาระดมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจัดการภัตตาคารระดับคุณภาพอย่างรอบด้าน มีความชำนาญและรอบรู้ในรสชาติอาหาร เป็นผู้มีรสนิยม ตั้งเป็นทีม แล้วส่งออกไปตรวจสอบและเขียนบทวิจารณ์ภัตตาคารเหล่านั้นลงในคู่มือ ทำให้คนซึ่งตามไปชิมมั่นใจได้ว่าจะได้ลิ้มรสชาติอาหารและบริการที่ดี

การให้รางวัล 'ดาวมิชลิน' เพื่อรับรองมาตรฐาน เริ่มต้นในปีค.ศ.1926 จากดาวดวงเดียวที่หมายถึง Very good cuisine (ร้านอาหารระดับดีมาก) เพิ่มความเข้มข้นเป็นดาวสองดวง หมายถึง Excellent cuisine, worth a detour (ร้านอาหารดีเลิศ) และสูงสุดสามดวง หมายถึง Exceptional cuisine, worth a special journey (ร้านอาหารที่มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร) ในปีค.ศ.1931 พร้อมกับเปลี่ยนสีปกคู่มือมิชลินจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง

'คู่มือและดาวมิชลิน' กลายเป็นมาตรฐานของนักชิมทั่วโลก ใครๆ ก็อยากลองชิมอาหารจากร้านอาหาร 3 ดาวจากมิชลินสักครั้งในชีวิต