พลิกตำนานศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย

พลิกตำนานศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย

แหกคอก ทำลายศิลปะของชาติ ปลายทางต้องเป็นบ้าเพราะว่า ผิดครู

            ไม่ใช่แค่อดทน ต่อสู้ และพิสูจน์ตนสำหรับคำปรามาส สบประมาท ความไม่เข้าใจนำไปสู่การลอบทำร้ายปางตายขณะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในวัด
             บทเริ่มต้นของศิลปินสาขาศิลปะไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไทยประเพณีร่วมสมัย ขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520 ไม่ต่างอะไรกับหนังชีวิตที่กว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ก็ต้องผ่านบททดสอบที่บีบคั้นอารมณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า
             "เขาบอกว่าพี่เขียนรูปไม่เป็น นำพาศิลปะของชาติไปสู่ความล้มเหลว ผิดเพี้ยน" เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นักศึกษาสาขาศิลปะไทยรุ่นแรก และหัวหอกในการอาสาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวใหม่ขึ้นที่วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนประกาศชื่อ ศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกได้อย่างงดงาม
วันนี้คุณจะยังว่าเขา "บ้า" อยู่อีกหรือไม่ ย้อนกลับไปพลิกตำนานการต่อสู้ของพวกเขาอีกครั้ง แล้วค่อยให้คำตอบภายหลัง

ศิลปะไทยรุ่นที่ 1
       ในนิทรรศการ Thai Neotraditital Art ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Moca) มีการจัดแสดงผลงานของกลุ่มศิลปินที่อยู่ในยุคบุกเบิกของการทำงานในแนวศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย ผู้ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ได้แก่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปัญญา วิจินธนสาร สมภพ บุตราช เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และอลงกรณ์ หล่อวัฒนา 

        โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอวิวัฒนาการของศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย ผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ในคอลเลคชั่นของ บุญชัย เบญจรงคกุล และ หนังสือ Thai Neotraditital Art เขียนโดย Andrew J. West
ผลงานดรออิ้งบนผ้าใบที่เขียนไว้เมื่อ 20 ปีก่อนได้โคจรมาพบกับผู้เขียนอีกครั้ง เช่นเดียวกับภาพ "เทพเจ้าเหยี่ยว" ที่เขียนขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอียิปต์
         " งานดรออิ้งชุดนี้ พี่ชอบนะมันเป็นความรักของพี่ตอนนั้น ไม่เคยเขียนอีกเลยมี 4 รูปเท่านั้น หลังจากกลับจากอียิปต์ก็มาเขียนชุดนี้ คุณบุญชัยไปเห็นที่บ้านเลยซื้อมาแล้วไม่ได้เห็นอีกเลยจนมาเจอกันวันนี้ ดีใจมากที่ได้มาเห็นรูปตัวเองที่เป็นของหายาก" เฉลิมชัย เล่าอย่างอารมณ์ด้วยเสียงดังฟังชัดอันเป็นเอกลักษณ์
         "ตัวพี่เองยังตื่นเต้นเลยที่ได้มาเห็นงานเทพเจ้าอียิปต์ชุดนี้ มันแปลกไง มันเป็นศิลปะไทยไม่ใช่อียิปต์ แต่มันมีฟิลลิ่งของความเป็นไทย คือส่งที่พี่อยากให้คนเห็นว่าแม้จะเขียนที่อียิปต์ยังมีความเป็นไทยอยู่ ความรู้สึกยังเป็นพุทธ ศิลปะไทยไม่จำเป็นต้องมีลายไทย คนคิดถึงว่าต้องมีลายไทยแต่ศิลปะไทยเป็นอารมณ์ที่บอกถึงศิลปะไทย
          ความเป็นไทย ไม่ใช่รูปลักษณ์หรือรูปร่าง อารมณ์นั้นอาจเป็นสี เป็นเส้น รูปทรง พื้นผิว ที่เป็นอารมณ์ไทย ศิลปะนั้นยิ่งใหญ่ มันมีธาตุของศิลปะ ธาตุของศิลปะคือ เส้น รูปทรง สี เทกเจอร์พื้นผิวและองค์ประกอบ สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุทางศิลปะ ดังนั้นศิลปินบางคนจึงนำเสนอเฉพาะ สี หรือ เส้นก็ได้ จะเอาเทกเจอร์มาผสมกับสีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเส้นก็ได้ งานของฝรั่งจึงเอาธาตุของศิลปะมาแสดง มันจึงเป็นนามธรรม"
          เมื่อถามถึงความเป็นศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น มีจุดเริ่มต้นอย่างไร เฉลิมชัย กล่าวว่าต้องย้อนกลับไปที่ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
         "ภาควิชานี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ศิลปินได้มีความคิดในการพัฒนาศิลปกรรมไทยโบราณ อ.ชลูด นิ่มเสมอ จึงมีความคิดว่าถ้าไม่มีภาควิชาศิลปไทยในแนวพัฒนา การปฏิรูป ปฏิวัติรูปแบบศิลปะโบราณมาสู่ความร่วมสมัย ประเทศชาติเสร็จแน่เพราะว่ามันเชยไม่มีหนทางใดที่จะทำให้ศิลปไทยเจริญก้าวหน้าได้เพราะว่ามีข้อจำกัดอยู่กับความเชื่อว่าที่ ต้องเชื่อครู ความเชื่อครูจึงไม่แหกคอก ทำให้ซ้ำซาก เขียนที่ไหนก็เหมือนเดิม นั่นคือปัญหา
           อ.ชลูด จึงพูดกับธนาคารกรุงเทพให้มีการจัดประกวดศิลปกรรมบัวหลวงเพื่อค้นหางานศิลปะไทยที่เป็นสมัยใหม่ การแสดงรูปแรกๆ ยังเป็นงานจิตรกรรมไทยโบราณอยู่ ครั้งที่ 2 ยังเป็นไทยโบราณแต่พัฒนาเรื่องเทคนิคขึ้นมาครั้งที่ 3 คือ พี่ได้รางวัลที่ 1 คือ พี่ได้รับรางวัลแบบแหกคอกเลย รูปไทยที่เคยเป็นสวรรค์ เรื่องพระพุทธเจ้า เทวดา อยู่ดีๆ กลายเป็นคนสมัยใหม่ปัจจุบันนั่งอยู่ในระเบียงโบสถ์ เป็นมุมหนึ่งของชีวิตไทย สังคมช็อกมากรูปเขียนกลายเป็นอย่างนี้มาได้
           สมัยนั้นนะใหม่มาแต่วันนี้มาดูใหม่โคตรเชยเลย เมื่อก่อนคณะกรรมการตกใจทะเลาะแบ่งเป็นสองฝ่าย สุดท้าย ประธานคณะกรรมการ ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ ยกมือให้พี่ชนะ นั่นเป็นที่มาของภาควิชาศิลปะไทยจากคนสองคนเรียน กลายเป็น 40 - 50 คนต่อรุ่น พี่เป็นรุ่นแรก ปัญญา วิจันธนสารเป็นรุ่นที่สอง"

 สร้างชื่อจากต่างแดน
            ด้วยความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นพุทธบูชาและสร้างเกียรติประวัติให้กับประเทศชาติ เฉลิมชัย ชักชวน ปัญญา วิจินธนาสาร และรุ่นน้องที่สนิทกันไปเป็นอาสาสมัครวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังที่วัดไทยพุทธปทีป โดยการร่างแบบไปเสนอต่อ เสวตร เปี่ยมพงษ์สานต์ ประธานจัดการมูลนิธิวัดไทยพุทธปทีป และ เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ทำงานด้วยงบสองแสนบาท โดยที่ศิลปินอาสาไม่ขอรับค่าจ้าง
            "เรานำกลุ่มศิลปะไทยไปเขียนรูปที่วัดพุทธปทีปเราโดนต่อต้านมาก โชคดีที่ปี 2527 เราไปที่อังกฤษ ถ้าเราไปเขียนอยู่ที่กรุงเทพเราซวยแน่ พี่เลยต้องวางแผนไปเขียนที่ต่างประเทศเพราะเราเขียนสิ่งที่แตกต่างมาก พวกอนุรักษ์รับไม่ได้ เขาไม่ชอบมากๆ สุดท้ายก็โดนให้ลบนั่น ลบนี่ แก้ตรงนี้ จากพระบ้าง ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง
             มีการต่อต้านว่าไม่ใช่รูปเขียนไทย เขาหารู้ไม่ว่าเรากำลังเอารูปสังคมการเมืองของโลกมาใส่ในภาพเขียนของเรา ทำให้ฝรั่งใกล้ชิดผลงานศิลปะของเราได้ เข้าไปเห็นมาร์กาเร็ตแธตเชอร์ ตึกฝรั่ง เห็นชีวิตไทยกับฝรั่งอยู่ด้วยกันเขาก็มีความรู้สึกดี เราสร้างรูปเขียนเราเป็นสามมิติ แตกต่างจากโบราณสีแปลก ออกกึ่งเรียลลิสติก แหกคอกออกไป เป็นยุคต้นของการได้รับการยอมรับจึงเกิดจิตรกรรมชุดพระมหาชนกขึ้นมา
              เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดจิตรกรรมในวัดพุทธปทีปมาก คำแรกที่พระองค์ตรัสออกมาคือ ใครเขียนรูปที่วัดพุทธปทีป นั่นแหละคืองานศิลปะไทยสมัยใหม่ วาดภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกขอให้เขียนแบบนั้น ที่เป็นสไตล์ของศิลปะในรัชกาลที่ 9 คือ ไม่ลอกเลียนแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังใดๆ"
              4 ปีเต็มกับการทำงานต่างแดดที่พบวิกฤตหนักรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุกส่วนตัวที่ร่อยหรอ ความไม่เข้าใจถึงขนาดถูกคนงานในวัดลอบทำร้าย ท้อถอยแต่ไม่ถอดใจ ผลงานจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงเทคนิคการเขียนภาพอย่างใหม่ด้วยการร่างภาพลงสู่ผนังปูนใช้เครื่องพ่นสีเป็นพื้นหลัง ให้ความสำคัญกับเรื่องของสีมากกว่าเส้น มีการใช้สีอะคริลิคแบบสมัยใหม่ ไม่ใช้สีฝุ่นซึ่งเคยใช้มาแต่เดิมในงานศิลปะแบบประเพณี
               การจัดวางองค์ประกอบของภาพเน้นลักษณะความสมจริงไม่เหมือนแบบโบราณ มีภาพประธานและรองประธานไม่จัดองค์ประกอบแบบเล่าเรื่อง ส่วนรายละเอียดของภาพมีมากขึ้นไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลตา เน้นความละเอียดประณีตบรรจง ต่างไปจากภาพฝาผนังแบบเก่าที่มักไม่ใส่ใจรายละเอียดชัดเจน เป็นภาพ 3 มิติเช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของตะวันตก กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย
              "ปัจจุบันนี้ก้าวหน้าพัฒนาไกลมากแล้ว พี่รู้สึกว่าแม้พี่จะเป็นผู้บุกเบิกแต่เด็กเดี๋ยวนี้เก่งกว่าพี่เยอะแยะ เก่งโคตรๆ ความคิดสร้างสรรค์มันยิ่งใหญ่มาก มากกว่าพี่หลายร้อยเท่า เพียงแต่มันไม่กล้าเท่าพี่เท่านั้น พี่เป็นคนไม่เก่งเท่าไหร่แต่ว่ากล้าๆ แหกคอก เด็กสมัยนี้เก่ง งานศิลปะไทยพัฒนาไปสู่สากลแล้ว"

 ศิลปะไทยรุ่นที่ 2
              ปัญญา วิจินธนสาร นักศึกษารุ่นที่ 2 ของสาขาศิลปะไทย ย้อนวันวานให้ฟังว่า เมื่อปี 2522 ไม่มีใครอยากเรียนศิลปะไทย รุ่นแรกเรียนกัน 2 คน รุ่นสองมีเพียง 3 คน
             " ในคณะจิตรกรรม ฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราได้หลักสูตรการเรียนการสอนที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปูพื้นฐานไว้เราเรียนแบบอคาเดมิกของตะวันตก แต่อาจารย์ศิลป์เห็นคุณค่าในศิลปะไทย เลยคิดว่าลูกศิษย์ควรต้องศึกษางานศิลปะไทยด้วย อาจารย์เป็นท่านแรกที่นำงานศิลปะไทยแบบประเพณีมาเขียนให้เป็นความงามทางสุนทรียศาสตร์ ไม่ใช่แค่เข้าใจหรือดูงานศิลปะไทยเป็นเพียงเรื่องราว ก่อนหน้านั้นเรามองไม่เห็นว่างานศิลปะไทยเป็นงานแบบไหน เป็นแค่ภาพเล่าเรื่องทางพุทธศิลป์ เราเข้าใจแค่นั้น
            งานแบบประเพณีค่อนข้างมีกฎกติกา มีระเบียบ เทคนิคหรือวิธีการค่อนข้างจำกัด งานจิตรกรรมไทยหรือศิลปไทยแบบประเพณี ได้สร้างสรรค์มา 700 กว่าปีแล้วเป็นศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุด เรียกได้ว่ามีความคลาสสิกยากที่เราจะคิดหรือทำต่อในยุคปัจจุบันได้
            สำหรับผมคิดว่าเราต้องสร้างสรรค์หรือว่าคิดขึ้นมาใหม่ให้มันร่วมสมัยเหมาะกับยุคปัจจุบันด้วยเพราะงานศิลปะไทยแบบประเพณีเป็นงานที่ยากกว่าที่คนในยุคปัจจุบันจะเข้าใจที่จะมองเห็นความลึกซึ้งในศิลปะ ถ้าเราไม่สามารถมองในแง่สุนทรียศาสตร์ได้เราก็จะมองเห็นแต่เรื่องราว
            สำหรับผมใหม่ๆ ใช้เทคนิควิธีการแบบประเพณี ผมจะสร้างจินตนาการเรื่องขึ้นมา เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเป็นปัจจุบันให้มากขึ้น ยุคแรกทำเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ผมใช้เนื้อหาเหล่านี้มาสร้างงานศิลปะ
           แรกที่ผลงานออกมาผู้คนแปลกใจว่าเรานำงานศิลปะไทยประเพณีมาสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ เป็นสัญลักษณ์ใหม่ ไม่เหมือนโบราณ ใช้สีก็น้อยกว่าแบบประเพณีที่มีอยู่ ผมคิดว่าทำให้คนรุ่นใหม่สนใจศิลปะไทยมากขึ้น เมื่อนำเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ปัจจุบันใส่เข้าไปทำให้คนปัจจุบันเข้าใจงานศิลปะไทยได้มากขึ้น"
           หลังจากทำงานที่วัดพุทธปทีปเสร็จสิ้น ผลงานส่วนตัวของปัญญาเริ่มมีการคลี่คลาย
           "เพราะเคยเขียนมาเยอะ เลยคลี่คลายลดทนเนื้อหาในงานให้น้อยลง ใช้ความคิด จินตนาการมากขึ้นกว่าเดิม ตอนที่เราไปเขียนรูปที่ต่างประเทศทำให้เรารู้ว่า งานศิลปะต้องแสดงตัวเองให้มากที่สุด ถ้ามีเนื้อหาสำคัญกว่า ความเป็นศิลปะหรือสุทรียะจะน้อยลง เราก็เข้ามากขึ้นว่า เนื้อหาที่เราต้องการแสดงทำให้อรรถรสความเป็นศิลปะ ความคิดของศิลปินที่ต้องการจินตนาการสร้างสรรค์ คือ สิ่งที่ต้องการสื่อให้ผู้คนน้อยลง เพราะมันจะเล่าเรื่อง บอกเหตุการณ์ซะหมด เรียกกันว่าเราทำงานเราทำงานนามธรรมมากขึ้น เพื่อให้แสดงคุณค่าของตัวศิลปะมากขึ้นกว่าที่ศิลปะจะไปรับใช้เรื่องราว หน้าที่ความหมายที่สำคัญกว่า ให้แสดงตัวตนความเป็นศิลปะมากขึ้น"
หากมองถึงพัฒนาการของศิลปะไทยประเพณีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญญา กล่าวว่า
            "งานแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ถือเป็นยุคต้นๆ ของการบุกเบิกเท่านั้นเอง ปัจจุบันผมเห็นศิลปินรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาก้าวไปไกลมากแล้ว จะเห็นว่างานแนวนี้มีความร่วมสมัยมากกว่างานศิลปะไทย ทั้งนี้เกิดจากศิลปินรู้ที่มาของศิลปะไทยอันเป็นพื้นฐาน เข้าใจคติ เข้าใจความคิดก่อน หลังจากนั้นเขาจะไปครีเอทเป็นอะไรก็เป็นความสนใจส่วนตัว เมื่อเข้าใจเขาจึงสามารถแสดงความเป็นร่วมสมัยได้มากขึ้น"

ดรีมทีมรุ่นสุดท้าย
            อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปิน 1 ใน 7 คน ที่ถือเป็นรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสไปร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่วัดพุทธปทีป
           "เขาเรียกผมว่าดรีมทีม ก่อนหน้าทำงาน 3 วัน หยุด 4 วัน รุ่นเราไป ทำงาน 6 วันหยุดวันเดียวเพราะว่าต้องการปิดงานแล้ว พี่เหลิมมาคัดตัวนักศึกษาที่ศิลปากรเลย ฝีมือดีอย่างเดียวไม่ได้ต้องเปิดกว้างด้วย
พี่เหลิม พี่ปัญญา ถือว่าเป็นนิวเอจ มีผลงานร่วมสมัยมากๆ งานไทยประเพณีสมัยก่อนไม่ใส่วอลลุ่มกัน พี่ปัญญาเอามาใส่ พี่เหลิมมาใส่ เปลี่ยนจากประเพณีเป็นร่วมสมัยเลย มีแสงเงา มีสเปซ มีลวดลายวิจิตร มีเครื่องบินเหาะ ในยุคนั้นเขาไม่ใส่กัน เขาว่าผิดครู ลายอุบาด ลายอุบัติ เขาสาปส่งเลย"
            แม้จะมีกระแสต่อต้าน ทว่ากระแสตอบรับมีมากกว่า
            "พี่เหลิม พี่ปัญญา เป็นคนที่เปลี่ยนศิลปะไทยให้กลายเป็นศิลปะไทยร่วมสมัย เขาเห็นว่า ถ้าเรายังเขียนแบบเดิมๆ มันก็เป็นงานก้อปปี้ไม่ใช่งานสร้างสรรค์ ถ้าความคิดเราเปลี่ยนไม่ได้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบ แกเอาความเป็นสามมิติเข้ามา นำเอาสีที่แต่เดิมเรียกว่าคุมโทน เอิร์ธโทน พี่เหลิม พี่ปัญญามาสีคัลเลอร์ฟูลเลย สายรุ้ง หวานแหววสวยเลย เพราะว่าเมื่อก่อนจิตรกรรมฝาผนังอยู่แต่ในวัด การทำงานจิตรกรรมส่วนตัวมันออกมาสู่บุคคลภายนอกต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่ก่อนที่จะออกมาต้องมีการทดลอง และงานที่วัดพุทธประทีปถือเป็นงานทดลองชิ้นสำคัญ
            สำหรับตัวเราการทำงานครั้งนั้นทำให้เปลี่ยนเยอะนะ เรามีจิตสำนึกในความเป็นไทยสูง เรารู้ว่าเราทำงานร่วมสมัย จัดวางได้ แต่เราไม่เห็นรากมันๆ มันคือ ฝรั่ง วิธีคิดของคนไทยเป็นปราณีตศิลป์ ใช้ความเพียร วิริยะ ศิลปะไทยมีธรรมะ ปรัชญา รากลึกซ่อนอยู่ข้างใน ไม่ใช่คิดว่าตัวเองต้องดัง ต้องสำเร็จ มันมีรากของมันอยู่ ถ้าเราเรียนรู้ถึงศิลปะไทยจะสอนให้เราเปลี่ยนตัวเองเป็นอีกคนหนึ่ง ได้พัฒนาตัวเอง อย่างน้อยเราได้รู้เท่าทันความโลภโกรธหลง"

         ทั้งหมดคือ บทเริ่มต้นในยุคบุกเบิกของศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย ที่ส่งผลให้ 2 ศิลปินผู้เป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลงได้รักการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) โดย เฉลิมชัย ได้รับในปี 2554 และ ปัญญา ในปี 2557
          มาถึงบรรทัดคงพอจะมีคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นได้แล้ว

เอกสารอ้างอิง :  หนังสือ Thai Neotraditital Art เขียนโดย Andrew J. West