Heritage ต้นนี้ต้อง 'รักษ์'

Heritage ต้นนี้ต้อง 'รักษ์'

ต้นไม้ที่หายไป ไม่ใช่แค่ดราม่าในโลกโซเชียล แต่คือหายนะที่รองรับด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องหาแนวทางใหม่ๆเพื่อการอนุรักษ์

            วันก่อน...ต้นมะหาดร้อยปีที่จังหวัดกระบี่ถูกโค่นเพื่อนำมาสร้างงานประติมากรรม

            วันนี้...อุโมงค์ต้นไม้บนถนนสายน่าน-ท่าวังผากำลังถูกตัดเพื่อขยายถนน

            ถ้านับจากอายุของไม้เหล่านี้ ก็น่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับคุณปู่หรือคุณทวด เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาและลมหายใจแก่ผู้คนมาตลอดชั่วชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน การตัดต้นไม้จึงไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาของการพัฒนา แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา

ไม้ใหญ่ให้คุณ

            เตือนความจำกันสักนิด สำหรับคนที่คิดว่า...ก็แค่ต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือแค่ต้นไม้ริมทาง

            ต้นไม้ยิ่งมีขนาดใหญ่อายุยืนมากเท่าไหร่ ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกเข้าไปเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงก็มากขึ้นเท่านั้น โดย ตลอดอายุขัยของไม้ยืนต้น 1 ต้น จะสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมได้อีก เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น

            ข้อมูลจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุว่าต้นไม้ 1 ต้น สามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี

            ต้นไม้ 1 ต้น จะปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนที่คนและสัตว์จำเป็นต้องใช้ในการหายใจออกมา ได้ถึง 200,000 - 250,000  ลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจน ของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปี  (ความต้องการก๊าซออกซิเจนของคน = 130,000 ลิตร / คน / ปี)

            นอกเหนือจากประโยชน์ในการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแล้ว ต้นไม้ยังเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด

            ดินที่ร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์ใต้ต้นไม้สามารถอุ้มน้ำได้ถึง 50% นั่นหมายถึงการเก็บกักน้ำชะลอการพังทะลายของหน้าดิน ซึ่งเป็นการลดความรุนแรงและความเสียหายจากอุทกภัยได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย

            และที่ไม่บอกก็คงจะรู้ก็คือ ต้นไม้สามารถป้องกันแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ น้ำที่ระเหยจากการคายน้ำที่ใบใบยังช่วยดูดความร้อนจากบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิบริเวณนั้นลดลงได้ถึง 3-5  องศาเซลเซียส

            มีคุณขนาดนี้ ไม่แปลกที่เมื่อกรมทางหลวงเริ่มตัดต้นไม้ใหญ่ในบริเวณที่เรียกว่า "อุโมงค์ไม้สักน่าน" จะเรียกแขกได้หลากหลาย ทั้งเยาวชน คนในพื้นที่  ศิลปิน นักวิชาการ นักอนุรักษ์ ให้มาร่วมกันคัดค้านด้วยการวาดรูปหัวใจสีแดงและแสดงออกทางศิลปะเพื่อให้เกิดการทบทวนโครงการดังกล่าว

            อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Tree หนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์ที่เข้าร่วมในกิจกรรม กล่าวถึงจุดยืนในการคัดค้านการตัดต้นไม้ใหญ่ครั้งนี้และหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาว่า "เราคิดว่าต้นไม้ใหญ่อยู่กับการพัฒนาได้ เราพยายามที่จะเผยแพร่ นำเสนอแนวทางในการพัฒนาที่ดิน หรือจะเป็นการทำถนน การสร้างสาธารณูปโภค แบบที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม หรือว่าทำลายให้น้อยที่สุด แล้วก็จะพยายามหาวิธีที่จะพูดคุย เจรจา หาทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่บางทีหลายๆ ครั้ง มันไม่ได้รับการตอบรับ"

            ในฐานะคนที่ทำงานเรื่องนี้มานาน เธอมองว่าส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของคนที่มีต่อต้นไม้  "คือจะมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่าต้นไม้ปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วก็เป็นของที่ต้องเอามาใช้ประโยชน์ ซึ่งมันก็จริง มันก็มีต้นไม้บางส่วนที่เราเอามาใช้ทำงานศิลปะ เอามาแปรรูป เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ มาสร้างบ้าน แต่ในการใช้ประโยชน์พวกนี้เราก็ต้องคำนึงถึงความสมดุลกับธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราจะตัดมันต้องมีเหตุผลที่เหมาะสม"

            แน่นอนว่าระหว่างคนที่คิดจะ'ตัด'กับคนที่คิดจะ'ต่อ'ชีวิตของคุณปู่คุณย่าต้นไม้เหล่านี้ ความเหมาะสมมักถูกมองมาจากคนละมุม ข่าวคราวที่ปรากฎจึงเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงคุณค่าของต้นไม้ใหญ่ ที่โดยมากมักจะจบลงตรงต้นไม้เหล่านั้นทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของเอกชนล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ขณะที่การปลูกขึ้นมาใหม่ก็ยังไม่อาจทดแทนได้ทัน

            "บิ๊กทรีอยากเสนอแนวความคิดนี้ว่า ความอยู่รอดของธรรมชาติคือความอยู่รอดของคน และการที่เราจะอยู่รอดร่วมกันได้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และการทำงานร่วมกัน มันไม่น่าจะเป็นการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดแบบหนึ่งแล้วก็จะเอาหัวชนฝา เพราะธรรมชาติมันเป็นสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่ง ถ้าเราไม่ช่วยกันทำมันจะไม่มีอะไรเหลือ มันจะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง เป็นคอนโดเป็นถนนเป็นคอนกรีตอะไรไปหมด แล้วเราจะต้องอยู่กันในห้องแอร์ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันเป็นการจำลองขึ้นมาทั้งหมด"

 

คืนกลับให้ต้นไม้

            ก่อนที่ไม้ใหญ่จะหายไปจากเมืองและกลายเป็นเพียงของหายากในป่า กลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเริ่มมองไปในในทิศทางเดียวกันว่า นอกเหนือจากการสร้างแนวร่วมเพื่อคัดค้านไม่ให้ตัดต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ การสร้างการรับรู้และออกแบบกติกาที่ยอมรับร่วมกันของสังคมน่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

            แนวคิดเรื่องต้นไม้มรดก หรือ Heritage Tree เป็นโมเดลในฝันที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในห้วงเวลานี้ บนหลักการที่ว่าต้นไม้ใหญ่เป็นมรดกของส่วนรวม เป็นมรดกที่ต้องส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

            "อย่างที่สิงคโปร์ เขาจะให้ประชาชนแจ้งเข้ามาเลยว่าต้นไม้นี้นะอยู่ที่นี่ แล้วเขาก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ เมื่อดูว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ จากนั้นก็จับเข้าลิสต์ต้นไม้ที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีกฎหมายรองรับ และมีงบประมาณที่เอาไว้ใช้ดูแลต้นไม้ทั้งหมด ในทางกลับกันถ้าพบว่าต้นไม้พวกนี้ถูกทำลายแม้แต่นิดหน่อย ไม่ถึงกับโค่น ก็มีบทลงโทษด้วย ไม่ว่าขับรถไปชน หรือไปตอกอะไรติดต้นไม้ มันเป็นกฎหมายที่มีมานานแล้ว เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์แล้วก็มีเอกชนช่วยเรื่องงบประมาณในการดูแลบริหารจัดการในระยะยาว ตรงนั้นเป็นอุดมคติของเรา คิดว่ามันคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เรียกว่าต้องบิลด์จิตสำนึกของคน ทั้งคนธรรมดาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คนที่มีอำนาจตัดสินใจไปพร้อมๆ กัน"

            ถึงจะออกตัวช้า แต่ยังดีกว่าไม่ได้เริ่ม โครงการนำร่องที่เปิดตัวไปแล้วก็คือแคมเปญ "ต้นไม้มรดกแสนรัก" ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปส่งภาพและข้อมูลต้นไม้ที่เห็นว่ามีคุณค่ามายัง Big Tree จากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาคัดเลือกอีกที โดยเกณฑ์ที่ใช้ก็ได้แก่ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางความงาม คุณค่าทางวัฒนธรรม และคุณค่าทางพฤกษศาสตร์

            "อันนี้เป็นโครงการระยะยาวของเรา ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการขึ้นทะเบียนต้นไม้ที่ควรจะรักษาเอาไว้ และถ้าในช่วงเวลาเดียวกันเราสามารถที่จะผลักดันในเรื่องของกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ไปด้วยได้มันจะเป็นความฝันสูงสุด"

            ซึ่งถ้าฝันเป็นจริง ต้นไม้ใหญ่ทรงคุณค่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน จะไม่ยืนต้นอย่างโดดเดี่ยว เพราะเมื่อมีกฎหมายรับรองการขึ้นทะเบียนต้นไม้ ก็ต้องมีการคุ้มครอง ดูแลรักษา และบทลงโทษในกรณีที่มีการทำให้เกิดความเสียหาย

            "ด้วยความที่ลิสต์นี้มาจากประชาชน อย่างน้อยมันก็จะกระตุ้นความรู้สึกหวงแหน ช่วยกันดูแลต้นไม้และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่แต่ละคนอยู่ ส่วนในเรื่องของกฎหมาย ต้องยอมรับว่ามันต้องใช้แรงผลักดันที่เยอะมาก"

            ขณะที่ในกรุงเทพฯ กลุ่ม Big Tree กำลังผลักดันโจทย์ยากโจทย์ใหญ่ ที่เชียงใหม่ แนวคิดเรื่องต้นไม้มรดกก็ถูกนำมาใช้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับชุมชน หรือการแสดงอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่เพื่อขอขึ้นเบียนเป็นมรดกโลก

            ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า "เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมีความคิดเกี่ยวกับการเป็นวนานคร ตั้งแต่วิธีการสร้างเมืองที่มีความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับเรื่องของวัฒนธรรม และภูมิรู้ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็เลยมาสัมพันธ์กันกับเรื่องต้นไม้ด้วย คือถ้าเราดูประวัติศาสตร์เวียงกุมกามก็จะพูดถึงต้นมะเดื่อตั้งแต่ต้นแล้ว หรืออย่างต้นยางในวัดเจดีย์หลวง อันนั้นเราถือว่าเป็นไม้หมายเมือง

            คำว่าไม้หมายเมืองก็คือเป็นแลนด์มาร์ก เหมือนเวลาเราไปเชียงตุงพอลงหุบเขาปุ๊บ จะมองเห็นต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง รู้เลยว่านั่น คือเมืองเชียงตุง ฉันใดก็ฉันนั้น เชียงใหม่ก็เหมือนกัน เพราะว่าสมัยก่อนการเดินทางจะต้องเดินทางด้วยวัวต่างม้าต่าง แล้วเมื่อขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเราจะมองเห็นเลย ต้นยาง ตรงนั้นคือเชียงใหม่ นั่นคือไม้หมายเมือง และไม้หมายเมืองในเวลานี้ก็ยังอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เวลาที่เราทำพิธีบูชาเสาอินทขิล หนึ่งในสิ่งที่เราต้องบูชาก็คือต้นไม้หมายเมือง เพราะฉะนั้นเรื่องของต้นไม้มีความสำคัญกับมนุษย์มาตั้งนานแล้ว อย่างถนน หมู่บ้าน ตลาด ก็จะมีต้นไม้เป็นชื่อ เช่นกาดต้นพยอมอะไรอย่างนี้"

            ต้นไม้ต้นหนึ่งที่แผ่กิ่งก้านอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้ของเมืองจึงไม่ได้มีค่าแค่เนื้อไม้หรือร่มเงา แต่งอกงามขึ้นจากบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การเริ่มต้นขยายแนวคิดเรื่องต้นไม้มรดกไปสู่สังคม จึงใช้เรื่องราวเพื่อตอกย้ำความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้

            "อย่างบางบ้านพ่ออาจจะปลูกต้นไม้ให้ในวันเกิดลูก หรือปกาเกอะญอ เวลาที่ลูกเขาเกิดขึ้นมาเขาก็จะเอารกพันไว้กับต้นไม้ มันมีความผูกพันกัน และทำให้ต้นไม้นั้นได้รับการคุ้มครอง"

            ดร.วรลัญจก์ บอกว่า สิ่งหลายองค์กรพยายามทำร่วมกันก็คือการรื้อฟื้นเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ต้นไม้ถูกลดคุณค่าลงให้เหลือแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะหาคนที่รู้จักต้นไม้ได้น้อยเต็มที ทำให้ความผูกพันกับต้นไม้ที่เคยมีค่อยๆ หายไป คนคิดจะตัดจึงมีมากกว่าคนปลูก

            "ตอนที่เราทำโครงการฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ เราก็เริ่มสำรวจในส่วนของตัวเมืองว่ามีต้นไม้อะไรบ้าง แล้วก็พบต้นไม้ที่มีอายุเยอะทีเดียวอยู่หลายต้น บางต้นแทบจะเหลืออยู่เพียงแค่ต้นเดียวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราถึงคิดถึงแนวคิดอันนึงนั่นคือ Heritage Tree มันคือต้นไม้มรดกที่เราควรจะต้องส่งผ่านองค์ความรู้รวมถึงการตระหนักรู้และรักต้นไม้ไปให้กับคนปัจจุบันและในอนาคต เพราะต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของการขัดเกลาจิตใจและเพิ่มคุณค่าของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นชีวิตเราก็จะอยู่กับตึกสี่เหลี่ยม อยู่กับอะไรที่เป็นสิ่งก่อสร้างแต่เพียงอย่างเดียว"

            บนพื้นฐานแนวคิดดังกล่าว ปัจจุบันเครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม กำลังดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ให้ได้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่โครงการหมอต้นไม้ รับหน้าที่ในการรักษาเยียวยาต้นไม้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ ให้มีอายุยืนยาวต่อไป ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลอย่างดี เจ้าของหรือผู้ที่ดูแลก็จะได้รับการสนับสนุนเพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นตัวอย่างให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ

            ทั้งหมดนี้ ดร.วรลัญจก์ เน้นว่าต้องการสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนและเยาวชนก่อน "ที่ผ่านมาเราจะนำนักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้ ให้เขาจะได้ซึมซับ หรือในบางต้นเราก็ให้ชุมชนชาวบ้านเป็นผู้ดูแล ซึ่งชาวบ้านเองก็สามารถที่จะเป็นหมอต้นไม้ได้ ไม่ต้องเรียนจบวนศาสตร์หรืออะไร เราเทรนทั้งชาวบ้านทั้งเด็ก เดี๋ยวนี้เขาเดินไปที่ไหนเขารู้เลยค่ะว่าต้นไม้นี้ไม่สบายนะ ต้นนี้จะต้องดูแลอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือสิ่งที่เราทำมาแล้วและกำลังขยับขยายไปในท้องที่ต่างๆ"

            แม้จะอยู่กันคนละทิศละที่ แต่ Heritage Tree ทั้งของเครือข่ายอนุรักษ์ในจังหวัดเชียงใหม่และภายใต้การขับเคลื่อนของกลุ่ม Big Tree ถือเป็นความหวังที่จะเห็นการคุ้มครองต้นไม้ใหญ่เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง อ.อรยา ได้ฝากความเห็นส่งท้าย...อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าธรรมชาติคือสมบัติสาธารณะ

            "ต้นไม้มรดก จุดประสงค์คือเพื่อรักษาเป็นมรดกตกทอดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และไม่ใช่มรดกของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นมรดกของคนทั้งประเทศ ฉะนั้นถ้าทุกคนกลับมามองตัวเราว่าจะทำอะไรได้ที่จะช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นที่บ้าน หนึ่งต้นที่โรงเรียน ไปจนถึงช่วยฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชุมชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องตัดสินใจระหว่างตัดหรือไม่ตัดต้นไม้ น่าจะลองทบทวนว่าต้นไม้ถ้ามันอยู่มันน่าจะมีประโยชน์กว่าไหม เจ้าของที่ดินที่เป็นเอกชนลองคิดนิดนึงว่าในพื้นที่ของท่านถ้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ สร้างโครงการเสร็จแล้วพื้นที่สีเขียวเหล่านี้จะให้ประโยชน์กับคนที่อยู่อาศัย คนที่เข้าไปทำงาน หรือแม้แต่คนที่ผ่านไปผ่านมา ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"

          และเมื่อไหร่ก็ตามที่คนในสังคมมองต้นไม้ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะบนพื้นฐานความรัก ความผูกพัน ความเคารพ หรือความรู้ การไม่คิดทำลายจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการอนุรักษ์ที่ไม่ต้องลงแรงมากมายอย่างที่ผ่านมา