ไดอานา ครอลล์ ร้องป๊อป ด้วยหัวใจแจ๊ส

ไดอานา ครอลล์ ร้องป๊อป ด้วยหัวใจแจ๊ส

ผลงานใหม่ของศิลปินรางวัลแกรมมี ที่มากับเพลงป๊อปและความลงตัวแบบใหม่

 

 

            เสียงอิเล็กทริกฮาร์พเล่นโน้ตชุดอาร์เปจิโอ ขยับเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ในช่วงอินโทร.สั้นๆ ก่อนจะเบรกแล้วเสียงร้องของนักร้องสาวคนหนึ่งในเพลง I Can’t Tell You Why ก็ลีดอินเข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมกับภาคริธึ่มดนตรีที่โปร่งเบาและโยกโยนในชีพจรของเพลงละติน

            นั่นทำให้ใครก็ตามที่ได้ยินได้ฟังเพลงนี้โดยบังเอิญ คงอดจะให้ความสนใจใคร่รู้มิได้ว่า ใครกันหนอที่ถ่ายทอดเสียงร้องในเวอร์ชั่นนี้ ช่างแตกต่างจากเวอร์ชั่นของ ดิ อีเกิลส์ แต่ก็ดูงดงามเสียนี่กระไร ?

          เสียงร้องดังกล่าว เป็นของ ไดอานา ครอลล์ (Diana Krall) นักร้องนักเปียโนแจ๊ส ที่ กลับมาอีกครั้งด้วย Wallflower ผลงานสตูดิโอลำดับที่ 12 ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกๆ ที่ออกวางขาย โดยไต่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ทอัลบั้มของหลายๆ ประเทศ

            เหนืออื่นใด ในสหรัฐอเมริกา อัลบั้มนี้ติดอันดับ 1 แจ๊สชาร์ท และติดอันดับ 10 ของบิลบอร์ด 200 มองในเชิงธุรกิจนับว่า ไดอานา ครอลล์ ก้าวออกจากอาณาบริเวณแจ๊ส แล้วขยับตัวไปหาคนฟังวงกว้างได้สมความมุ่งหวังตั้งใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานชุดอื่นๆ ที่ผ่านมา

            ตลอดช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษบนถนนสายดนตรี เธอเป็นเจ้าของรางวัลแกรมมี่ 5 ตัว พร้อมด้วยยอดขายทั่วโลกกว่า 15 ล้านชุด โดยอัลบั้มชุดนี้ เธอตั้งใจอุทิศให้แก่คุณพ่อของเธอ ด้วยการย้อนกลับไปหาเพลงเก่าๆ ในยุคสมัยที่เธอเติบโตขึ้นมา พร้อมกับกองแผ่นเสียงของพ่อ และการติดตามฟังรายการเพลงตามสถานีวิทยุต่างๆ 

            “โดยพื้นฐาน ฉันเป็นนักเปียโนแจ๊สเต็มหัวใจ ฉันชอบเล่นเพลงที่มีชีพจรสวิง และได้อิมโพรไวส์ ตัวตนฉันอยู่ตรงนั้น แต่ในเวลาเดียวกัน ฉันอาจจะเป็นคนที่ร้องเพลงได้ ทว่า ฉันไม่ใช่นักร้องในแบบฉบับของนักร้องนักแต่งเพลง เหมือนอย่างที่ นีล ยัง หรือศิลปินหลายๆ ท่านเป็น”

            “ฉันเรียนรู้วิธีการร้อง วิธีการหยิบเพลงมาร้อง เพลงที่ฉันรู้สึกสะดวกใจที่จะร้อง ฉันอยากทำให้ได้ เหมือนอย่างที่ แฟรงค์ สินาตรา หยิบเพลงของนักแต่งเพลงสแตนดาร์ดคนไหนมาร้องก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น เออร์วิง เบอร์ลิน , โคล พอร์เทอร์ , เกิร์ชวิน ฉันอาจจะทำได้เหมือนอย่างที่ แนท โคล ทำ คือเล่นเปียโนแจ๊สได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ออกมาร้องเพลงป๊อปให้ผู้คนได้ฟังกัน”

            ไดอานา ครอลล์ บอกว่าบทเพลงที่เธอเลือกมา มาจากยุคสมัยที่เธอเติบโต เธอได้ลงลึกกับเพลงต่างๆ  มากกว่ายุคสมัยนี้ ซึ่งโดยเปรียบเทียบกันแล้ว มีเพลงกระจายเกลื่อนกลาดไปทั่วทุกหัวระแหง ภายใต้โหมด “ดิจิตัล” ทั้ง Streaming และ Downloading แต่คนฟังอาจจะลงลึกกับเพลงได้น้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญ

            เพื่อป้องกันความสับสน ไดอานา ครอลล์ ประกาศก่อนล่วงหน้าแล้วว่า แนวทางของผลงานชุดนี้ คือ การถ่ายทอดเพลงป๊อปแท้ๆ มิใช่เพลงแจ๊สอย่างที่แฟนเพลงเก่าพึงคาดหวัง  ดังนั้น จึงไม่มีภาคดนตรีแจ๊สที่มีอิมโพรไวเซชั่นอย่างลื่นไหล ไม่มีการโชว์ความเป็นเอตทัคคะของนักดนตรีคนไหน

            ทั้งหมดนั้น เธอทำหน้าที่เป็นเพียงนักร้องที่ตีความบทเพลง และถ่ายทอดเสียงร้องแก่บทเพลงป๊อปเหล่านี้ให้งดงามที่สุด

            ผู้ร่วมพัฒนาคอนเซ็พท์ของอัลบั้มนี้ให้แข็งแรง ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ เดวิด ฟอสเตอร์ (David Foster) เป็นบิ๊กบอสคนใหม่ของ Verve Music Group ซึ่งเข้ามารับหน้าที่นี้เมื่อ 4 ปีก่อน เขาเป็นโปรดิวเซอร์มือทองที่คนฟังเพลงทั่วโลกรู้จักมักคุ้นกันดี ในฐานะคนปั้นซูเปอร์สตาร์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายหลายคน ตั้งแต่ เซลีน ดิออน , แอนเดรีย โบเชลลิ จนถึง ไมเคิล บูเบลย์ ฯ

          และหากเพิ่มความสังเกตอีกสักหน่อย นี่อาจจะเป็น “แคนาเดียน คอนเน็คชั่น” เมื่อ ทั้งไดอานา และ เดวิด ต่างเป็นแคนาเดียนด้วยกันทั้งคู่

            เพลงในอัลบั้ม Wallflower ส่วนใหญ่เป็นเพลงในกลุ่มป๊อป ร็อค จากยุคเซเวนตีส์ เริ่มด้วย California Dreamin’  เพลงเก่าของเดอะ มามาส์ แอนด์ เดอะ ปาปาส์ ซึ่ง ไดอานา ครอลล์ ปรับโทนอารมณ์เดิมของเพลงให้สุขุมเยือกเย็นลง ด้วยสโลว์เทมโป ภาคของกลุ่มเครื่องเสียงที่ให้ห้วงบรรยากาศเวิ้งว้าง ก่อนที่จะเติมกรู้ฟเข้าไปในตอนหลัง ด้วยภาคดนตรีที่ประณีตบรรจง และเสียงร้องประสานโดยศิลปินระดับตำนาน แกรห์ม แนช

            “ฉันเริ่มต้นเพลงนี้ ด้วยการฟังเวอร์ชั่นของ โฮเซ เฟลิเซียโน ไม่ใช่ฟังจาก เดอะ มามาส์ แอนด์ เดอะ ปาปาส์ และมันอยู่ในใจฉันนับจากนั้น ฉันคิดว่าจริงๆ แล้ว เสียงร้องของ แกรห์ม แนช ที่ร่วมร้องกับฉันนั่นแหละ ที่ช่วยต่อเติมให้ภาพสมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเสียงร้องแบ็คกราวด์ของเขาเท่านั้น  แต่การมี แกรห์ม แนช ร่วมร้องด้วย ทำให้ฉันร้องเพลงนี้ได้อย่างที่หวัง”

            เช่นเดียวกันกับ Superstar เพลงเก่าของ คาร์เพนเตอร์ส ที่ทุกคนคุ้นชินกับสุ้มเสียงเฉพาะของ คาเรน คาร์เพนเตอร์ แต่ด้วยพลังในการถ่ายทอดน้ำเสียงที่มีอัตลักษณ์ และมุมมองที่มีต่อเพลงเปลี่ยนไป ไดอานา ครอลล์ ชุบชีวิตให้เพลงนี้มีลมหายใจแตกต่างไปอีกแบบ ทิศทางของเพลงคลี่คลายอย่างน่าฟังทีเดียว สอดรับกับภาคดนตรีที่เนียนละไมเกินคาด สมกับเครดิตของ เดวิด ฟอสเตอร์ โดยแท้

            ดูเหมือนจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่ทุกคนพึงพอใจ เมื่ออัลบั้มแต่ละชุดในยุคหลังมีแขกรับเชิญมาเพิ่มสีสัน ดังนั้น ใน Wallflower ไดอานา จึงได้ เบลค มิลล์ส มาร่วมโชว์ไลน์กีตาร์สวยๆ ในเพลงไตเติลแทร็ค Wallflower เพลงเก่าของบ๊อบ ดีแล่น ในห้วงอารมณ์ที่หมดจดงาม ทั้งเสียงไวโอลิน เสียงอะคูสติกกีตาร์ เสียงร้องของไดอานา และวอยซิ่งจากเปียโน

            “ฉันได้ยินเพลงนี้จากซีรีส์บู้ทเล็กจ์ ตอนนั้นฉันกำลังขับรถไปรอบๆ บริติชโคลัมเบียในยามบ่ายของฤดูร้อนที่งดงาม ฉันฟังเพลงนี้กับลูกๆ ที่นั่งอยู่ตอนหลังของรถ แล้วฉันก็คิดขึ้นมาได้ว่า นี่คือเพลงที่เราจะร้องร่วมกันในรถ  ฉันรักมัน มันเต็มด้วยความจริงและความงาม มันเรียบง่าย และเข้าถึงผู้คนหมู่มาก”

            ในอัลบั้มยังมี ไมเคิล บูเบลย์ มาประชันเสียงใน Along Again เพลงเก่าของ กิลเบิร์ต โอ ซุลลิแวน ที่แค่ตั้งใจทำให้ทุกอย่างเรียบง่าย ก็สมบูรณ์แบบแล้ว

            เช่นเดียวกันกับการ “ดูโอ” ในเพลง Feels Like Home  ซึ่งอาจจะเป็นเพลงใหม่สักหน่อย เมื่อเปรียบเทียบกับเพลงอื่นๆ ที่มาจากทศวรรษ 1970s เพราะ แรนดี นิวแมน แต่งเพลงนี้ขึ้นในปี 1995 และได้ บอนนี เรทท์ มาถ่ายทอดเสียงร้องไว้

            สำหรับเวอร์ชั่นในอัลบั้ม Wallflower แค่เสียงเปียโน ตามด้วยเสียงร้องของ ไดอานา ครอลล์ ที่ประชันกับ ไบรอัน อดัมส์ อย่างสนิทแนบแน่น ก็ทำให้โทนบรรยากาศอบอุ่นของเพลง Feels Like Home เปลี่ยนไปอย่างน่าอัศจรรย์

            (ในซีดีเดอร์ลักซ์ ยังมีเพลงดูโออีกเพลงหนึ่ง นั่นคือ Yeh Yeh เพลงเก่าในแบบฉบับลาตินโซล เมื่อปี 1963 ของ จอร์จี เฟม โดยเจ้าของเพลงมาร่วมประชันเสียงร้องด้วย แต่นั่นเหมาะจะเป็นเพลงแถมมากกว่า)

            ความสำเร็จของอัลบั้มนี้ อาจจะวัดไม่ได้ในหมู่นักวิจารณ์ที่มองหา “นวัตกรรม” หรือสิ่งใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ แต่ในสายตาของคนฟัง เราอาจวัดปฏิกิริยาที่ไม่ธรรมดาได้ กับบทเพลงที่ได้ยินเป็นร้อยเป็นพันหน อย่าง Sorry Seems to be the Hardest Word บทเพลงเก่าของ เอลตัน จอห์น ที่หลายคน “เฉยชา” ทว่า วิธีการถ่ายทอดเสียงร้องของ ไดอานา ครอลล์ กับการเรียบเรียงเพลงนี้ขึ้นใหม่จากปลายปากกาของ เดวิด ฟอสเตอร์ ไม่ต่างจากละครเก่าที่คืนเวที ด้วยนักแสดงหน้าใหม่ที่ท้าทายผู้ชม ชนิดไม่อาจนั่งฟังฟังชมอย่างนิ่งเฉยได้

            หลังจากผ่านงานดนตรีมาอย่างหลากหลาย นี่คือกระบวนการทำงานที่ดูเหมือนง่ายที่สุด แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเธอ

            “ฉันพยายามไม่เปลี่ยน ดิ อีเกิลส์ เป็น เออร์วิง เบอร์ลิน” ครั้งหนึ่ง ไดอานา ครอลล์ ให้สัมภาษณ์ไว้กับ บอสตัน โกลบ “ฉันค้นหาความท้าทายมากๆ ทั้งในด้านดนตรี และด้านการร้อง ที่สร้างความสนใจแก่ฉัน มันไม่เกี่ยวกับการอิมโพรไวเซชั่น มันเกี่ยวกับการร้องเพลงที่ปล่อยให้ฟิลลิงของบทเพลงปรากฏออกมาโดยตรง โดยไม่บิดให้เป็นแจ๊ส และไม่พลิกไปจากเรื่องราวดั้งเดิม”

            ดูเหมือน ไดอานา ครอลล์ จะทำได้สำเร็จสมดังหวังแล้ว.