มติที่ประชุมหาทางออกสัมปทานรอบ21ตั้งคกก.อีก3ชุด

มติที่ประชุมหาทางออกสัมปทานรอบ21ตั้งคกก.อีก3ชุด

มติที่ประชุมหาทางออกสัมปทานรอบ21 เห็นชอบตั้งคกก.อีก 3 ชุด ดูเรื่องทบทวนนโยบาย-แก้กฎหมายและบริหารทรัพยากร ด้าน"ประสงค์"ระบุได้ข้อยุติจะได้ไม่

อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องนัดแรก ร่วมกับตัวแทนกระทรวงพลังงานและตัวแทนภาคประชาชน โดยใช้การหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง 30 นาที

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคประชาชนที่สานต่อจากมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 3 ข้อ โดยมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 3 ชุด โดยชุดแรกจะทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซและน้ำมันสำเร็จพร้อมทั้งทบทวนนโยบายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งโครงสร้างราคาในการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียมจะต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน เพราะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้ใช้ก่อนโดยที่ประชาชนใช้แอลพีจีในราคานำเข้าทำให้ประชาชนใช้ในราคาแพงและไม่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดราคาซื้อก๊าซธรรมชาติที่แพงกว่าราคาตลาดโลกส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแอคพีจีในประเทศแพงกว่าตลาดโลกไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้นหากมีการแก้ไขให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคาโครงสร้างใหม่จะเป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจในการใช้ปิโตรเลียม

ชุดที่สองจะแก้ไขกฎหมายที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไขคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อนและชุดที่สาม จะดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนและสุขภาวะอนามัยชุมชน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องให้ประชาชนและภาครัฐนั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดโดยภาคประชาชนเสนอให้มีการพูดคุย ดังนี้คือเรื่องการจ้างสำรวจจ้างผลิตและแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนและสิทธิของชุมชน การบริหารจัดการแปลงสัมปทานเดิมและสัมปทานที่มีการคืนให้ภาครัฐแล้ว และพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยระหว่างไทยและกัมพูชา  ผลการประชุมจะนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไปและในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการ 3 คณะจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันกรอบเวลาที่นายกฯระบุว่าภายใน3เดือน

ด้านน.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ อดีตรมช.ต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า สองฝ่ายจะหาทางออกร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลร่วมกัน ซึ่งบรรยากาศการปรึกษาหารือผิดคาด คือเต็มไปด้วยความเรียบร้อย และได้ข้อยุติร่วมกันไม่มีปัญหาอะไร เมื่อนายกฯมีความเห็นอย่างไรมีการนัดประชุมหารือกันอีกครั้ง และขอบคุณรัฐบาลที่อำนวยความสะดวกเป็นอย่างดียิ่ง ถ้าไม่มีวันนี้คงหาทางออกไม่ได้ และก็จะทะเลาะกันตลอดไป