บสย.ผนึก สวทช. ส่งเสริม SMEs

บสย.ผนึก สวทช. ส่งเสริม SMEs

บสย. จับมือ สวทช. เชื่อมโยงจุดแข็ง พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดธุรกิจ

นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โครงการความร่วมมือครั้งนี้ แสดงถึงการประสานการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐในมิติใหม่ ตอบสนองแผนงานรัฐ อย่างรวดเร็ว และมุ่งประโยชน์สูงสุดสู่กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยมี บสย. ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ ถ่ายทอดโนว์ฮาวด้านการค้ำประกัน เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ SMEs อาทิ เมื่อปีที่ผ่านมา บสย. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานด้านค้ำประกัน จากสาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการต่อไป เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถือเป็นโนฮาวด์ ใหม่ในประเทศไทย

“ผู้ประกอบการ SMEs เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ของระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนถึง 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ GDP หรือคิดเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้าน บาท ขณะที่สินเชื่อ SMEs คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของสินเชื่อรวม ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อ SMEs ยังมียอดคงค้างราว 4.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นการเติบโตของ SMEs จึงเป็นกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ บสย. มั่นใจว่า จะก่อเกิดประโยชน์ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน“ นายญาณศักดิ์ กล่าว

นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้

1.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย. ได้นำเสนอโครงการค้ำประกันเพื่อผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี วงเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงการคลัง

2.เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดกลไกและความร่วมมืออื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบค้ำประกันสินเชื่อ การสนับสนุนทางการเงิน การร่วมลงทุน ระบบการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่จำเป็น

3.เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือโครงการศึกษาวิจัยเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการ SMEs หน่วยงานและประเทศชาติโดยรวม

4.เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่มี เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำความโดดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน มาสานต่อภารกิจที่ตอบโจทย์ของประเทศ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดทางธุรกิจเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ

บทบาทของ สวทช. จะทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งคัดกรองผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงาน เนื่องจาก สวทช. มีหน่วยงานให้บริการและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงการลงทุนต่างๆ เช่น การสนับสนุนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและฝึกอบรมทางธุรกิจ รวมถึงการหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อการค้นคว้า วิจัยและพัฒนา หรือเพื่อใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ตลอดจนการให้บริการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ กลไกการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอกชน และการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อหักลดหย่อนภาษี โดยผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมได้เป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง เป็นต้น